เข้า “เดือนรอมฎอน” แล้ว จุฬาราชมนตรี ประกาศให้เคร่งครัดป้องกันควบคุมโรค ระหว่างปฏิบัติศาสนกิจ

“นายก สมาคมจันทร์เสี้ยวฯ” และ “สาธารณสุขยะลา” หวั่น เกิดการระบาดกลุ่มก้อนใหม่จาก “ศึกมหกรรมมวย รวมพลจะนะ” ขอผู้เข้าร่วมรายงานตัวด่วน ขณะสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ชายแดนใต้พุ่งติดอันดับ 5 ของประเทศ

หลัง อาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ประกาศให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศดูดวงจันทร์ ในวันที่ 12 เม.ย. 2564 เพื่อกำหนดวันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1442 หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้านั้น ปรากฏว่า มีผู้เห็นดวงจันทร์แล้ว จึงกำหนดให้วันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1442 ตรงกับวันอังคารที่ 13 เม.ย. 2564

ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ มีการระบาดโควิด -19 ระลอกใหม่อีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เป็นต้นมา ซึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาส เป็นจังหวัดที่มีการระบาดมากติดอันดับที่ 5 ของประเทศไทย โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1-12 เม.ย. 2564 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากถึง 295 คน

ดังนั้น เมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนรอมฎอน ในวันอังคารที่ 13 เม.ย. จึงมีประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่าด้วยการปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1442 (พ.ศ. 2564) โดยระบุว่า ห้วงระหว่างวันที่ 13 หรือ 14 เม.ย. – 12 หรือ 13 พ.ค. นี้ พี่น้องมุสลิมต้องปฏิบัติศาสนกิจการถือศีลอด การละหมาดตะรอเวียะห์ การเอี๊ยะติ๊กาฟที่มัสยิด รวมทั้งการเลี้ยงละศีลอด

ขอความร่วมมือพี่น้องมุสลิม ตระหนักและปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข

เพื่อให้การปฏิบัติศาสนกิจดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ครบถ้วนสมบูรณ์ตามบทบัญญัติศาสนาในสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด จึงขอความร่วมมือพี่น้องมุสลิมทุกท่านได้ตระหนักในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐ และประกาศจุฬาราชมานตรี ด้วยความเคร่งครัด ดังนี้

  1. การเลี้ยงละศีลอด ขอความร่วมมือผู้ดำเนินการจัดเลี้ยง โดยให้สถานที่ที่จัดเลี้ยงมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ สวนหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และแยกภาชนะที่จัดเลี้ยงให้เป็นส่วนบุคคล
  2. การละหมาดตะรอเวียะห์ ขอความร่วมมือคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด หรือผู้รับผิดชอบในการจัดละหมาด ควบคุมดูแลสัปปุรุษ หรือผู้ร่วมละหมาดให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันแพร่เชื้อโควิด-19 โดยการตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาการปฏบัติศาสนกิจ เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1.5 เมตร และให้กระชับเวลาในการปฏิบัติศาสนากิจไม่เกิน 45 นาที
  3. การเอี๊ยะติก๊าฟที่มัสยิด ขอความร่วมมือคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดควบคุมดูแลผู้ปฏิบัติเอี๊ยะติก๊าฟ ให้ปฏิบัติมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อ โดยการตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาการปฏบัติศาสนกิจ เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1.5 เมตร
  4. ในกรณีที่พบผู้ติดเชื้อหรือเกิดการระบาดของโรคในบริเวณพื้นที่ใด ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดใช้ดุลยพินิจร่วมกับคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด โดยขอคำปรึกษาจากผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัด ประกาศงดจัดเลี้ยงละศีลอด งดการละหมาดตะรอเวียะห์ที่มัสยิด โดยให้ละหมาดที่บ้าน และงดการเอี๊ยะติก๊าฟที่มัสยิด เป็นกรณีไป

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอย่างใกล้ชิด และเน้นย้ำให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด และปฏิบัติตามประกาศจุฬาราชมนตรี ด้วยความเคร่งครัด ประกาศ ณ วันที่ 8 เม.ย. 2564 (ดาวน์โหลดประกาศ ได้ที่ https://bit.ly/3sV4E4F )

นพ.กิ๊ฟลัน ดอเลาะ นายกสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข ระบุว่า ช่วงเดือนรอมฎอน ขอให้พี่น้องมุสลิมได้ตระหนักถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ด้วยเป็นช่วงเวลาที่มีการรวมตัวกันมากกว่าทุกวัน ทั้ง (1) การรรวมตัวปฏิบัติศาสนากิจ ขอให้เป็นไปตามประกาศจุฬาราชมนตรีอย่างเคร่งครัด (2) การรวมตัวกันทางสังคม ก่อนที่จะมีการละศีลอดกัน กังวลเรื่องการหาซื้ออาหารที่ตลาดนัดเฉพาะกิจในเดือนนี้ จึงขอให้เคร่งครัดในการป้องกันตนเอง และช่วยกันจัดระเบียบตลาดนัดให้มีระยะห่างทางสังคม หมั่นล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ให้มากขึ้น เมื่อต้องออกไปในที่สาธารณะ

“เนื่องจากครั้งนี้ เป็นการระบาดรอบที่ 3 บทเรียนจากการระบาดครั้งที่ 1 และ 2 ทำให้หน่วยงานภาครัฐมีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันควบคุมโรคไม่เข้มงวด เช่น ปิดพื้นที่สาธารณะทั้งจังหวัด หรือเมื่อพบผู้ติดเชื้อก็มีการปิดหมู่บ้าน ในการระบาดครั้งมีการสอบสวนควบคุมโรคเชิงรุกที่เป็นระบบมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ค่อนข้างกังวลว่าจะมีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหม่ จากกรณีผู้ที่เข้าไปในสนามและร่วมชมการจัดชกมวย ‘ศึกมหกรรมมวย รวมพลคนจะจะ’ ณ สนามมวยชั่วคราวสนามแข่งขันนกเขาชวาหวังดี ที่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 8-9 เมษายนที่ผ่านมา แต่มั่นใจว่าคนที่เขาไปชมมวยน่าจะไม่ใช่กลุ่มที่ปฏิบัติศาสนกิจ ซึ่งขณะนี้มีการเฝ้าระวังและพยายามสอบสวนโรคเชิงรุกเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว”

สำหรับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 -12 เม.ย. 2564

จังหวัดนราธิวาส             มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 295 คน
จังหวัดสงขลา                 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่  28 คน
จังหวัดปัตตานี                มีผู้ติดเชื้อรายใหม่   3 คน
จังหวัดยะลา                   ยังไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ = 0 คน

ทั้งนี้ วันที่ 12 เม.ย. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา ประกาศขอความร่วมมือผู้ที่เข้าไปในสนามและร่วมชมการจัดชกมวย “ศึกมหกรรมมวย รวมพลคนจะนะ” ณ สนามมวยชั่วคราวสนามแข่งขันนกเขาชวาหวังดี ตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 8-9 เม.ย. ที่ผ่านมา โปรดรายงานตัวทางสายด่วน covid-19 จ.ยะลา โทร. 093 359 1300, 098 563 3488, 098 563 3498, 098 563 3499

เผย ก่อนหน้านี้ภาคประชาสังคมขอให้งดจัดมวย ที่ มท.2 เป็นประธาน แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นประธานในการจัดแข่งขันชกมวยเพื่อการกุศล “ศึกมหกรรมมวย รวมพลคนจะนะ” ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล และสนับสนุนนโยบายให้สงขลาเป็นเมืองกีฬา เป็นการสร้างกลยุทธ์ในการอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมในการเผยแผ่ศิลปะแม่ไม้มวยไทย อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา และจังหวัดใกล้เคียง พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในการมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ของคนนอกพื้นที่

รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองจะนะ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นแหล่งกีฬาที่สำคัญตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งรายได้จากการแข่งขันชกมวยเพื่อการกุศล จะมอบให้กับนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียน และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ตลอดจนชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.จะนะ ซึ่งมีการวิจารณ์เป็นการ ‘หาเสียง’ เพื่อสร้าง “โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา”

และก่อนหน้านี้ ภาคประชาสังคมในพื้นที่ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลา เพื่อขอให้ทบทวนและยกเลิกการจัดงานดังกล่าว ซึ่งเป็นมติจากที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 7 เม.ย. เห็นชอบให้จัดแข่งขันตามแนวทางของการกีฬาแห่งประเทศไทยช่วงปลายระบาดระลอกแรก คือ จัดโดยไม่มีผู้ชม และจำกัดผู้เข้าร่วม และให้มีการคัดกรองบุคคลที่เข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขัน ป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าบริเวณพื้นที่จัดการแข่งขัน ทว่า ในการจัดงานวันแรกมีประชาชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่จำนวนมาก เกือบ 400 คน ได้ผ่านการคัดกรองเข้าร่วมกิจกรรม นั่งกันอย่างแออัด ไม่รักษาระยะห่าง ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ดังกล่าวมิได้เป็นทีมงานผู้จัด ไม่เป็นไปตามมาตรการป้องกันโควิด และยังจัดต่อในวันที่ 9 เม.ย. แม้จะมีมาตรการป้องกันเข้มงวดขึ้นก็ตาม

Author

Alternative Text
AUTHOR

ฐิตินบ โกมลนิมิ

อดีตนักข่าวกระทรวงสาธารณสุข ผู้คลุกคลีในสนามข่าวสีแดงชายแดนใต้ เป็นทั้งนักมนุษยวิทยา นักสตรีศึกษา และนักสันติศึกษา ที่ใช้การเขียนเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง