ซักฟอกนายกฯวันแรก “วิโรจน์” แฉ “แพทองธาร” ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ญาติโอนหุ้น ระบุเงื่อนไขจ่ายค่าซื้อหุ้นเมื่อทวงถาม แต่ไม่กำหนดวันจ่ายเงิน เพื่อเลี่ยงภาษี 218 ล้านบาท จ่อยื่น ป.ป.ช.สอบสวน
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2568 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้ราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ว่า มีการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการรับให้ มาตั้งแต่ปี 2559 เดิมการจะถ่ายเทหุ้นไปให้คนอื่น (ซุกหุ้น) สามารถอ้างได้ว่าให้โดยเสน่หา ทำให้ไม่ต้องเสียภาษี แต่พอมีการแก้ไขกฎหมายประมวลรัษฎากรในส่วนของ ภาษีการรับให้ เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2558 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2559 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(27) เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะ หรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส จะได้รับการยกเว้นภาษีเฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาท ตลอดปีภาษีนั้น หรือหมายความว่า การที่ลูกโอนทรัพย์สินให้แม่ หรือแม่ให้ลูก ถ้าเกินมูลค่า 20 ล้านบาท ส่วนที่เกินต้องเสียภาษีในอัตรา 5% และในมาตรา 42(28) เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี จากบุคคลซึ่งไม่ใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส จะได้รับการยกเว้นภาษีเฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 10 ล้านบาท หมายความว่าพี่ให้น้อง น้องให้พี่ ลุงให้หลานหลานให้ลุง ถ้าเกิน 10 ล้านบาท ส่วนที่เกินต้องเสียภาษี ในอัตรา 5% เช่นเดียวกัน ซึ่งคนทั่วไปเวลาจะโอนทรัพย์สิน ถ้าไม่อยากจ่ายภาษีการรับให้ ก็จะทยอยให้ปีละไม่เกิน 10 ล้านบาท หรือ 20 ล้านบาท แต่ถ้าอยากจะให้ทั้งก้อนตัดจบไปเลย ส่วนที่เกินก็ต้องจ่ายภาษีการรับให้อัตรา 5%
วิโรจน์ ระบุอีกว่า แพทองธาร มีพฤติกรรมใช้ช่องว่างทางกฎหมายหลีกเลี่ยงภาษีการรับให้ มาตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้น จากบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่า แพทองธาร เป็นลูกหนี้อยู่ 9 รายการ มูลค่าหนี้สินสูงถึง 4,434.5 ล้านบาท แต่กลับมีเอกสารแนบมาเพียงแค่ 9 แผ่น รายการละ 1 แผ่น ดังนั้นหนี้สินดังกล่าวจึงไม่ใช่หนี้ที่อยู่ในรูปแบบของสัญญาเงินกู้ แต่เป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือตั๋ว PN ซึ่งเป็นหนี้สินที่แพทองธาร ซื้อหุ้นจากพี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ แบบซื้อเชื่อแล้วออกตั๋ว PN แทนการจ่ายเงิน
ขณะที่ตั๋ว PN ดังกล่าว เป็นตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีเงื่อนไข คือ จะชำระเงินค่าซื้อหุ้นเมื่อทวงถาม หมายความว่าหนี้สินทั้ง 9 รายการจากการซื้อหุ้นจากพี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ เป็นหนี้สินที่ไม่มีกำหนดว่าแพทองธารต้องจ่ายค่าซื้อหุ้นเมื่อไหร่ ถ้าชาตินี้ไม่มีใครทวงก็ไม่ต้องจ่าย โดยลืมไปได้เลยว่าเคยเป็นหนี้ เพราะดอกเบี้ยก็ไม่มีใครคิด แพทองธารจึงไม่ต้องกังวลเลยว่าจะต้องมีภาระจ่ายดอกเบี้ยอะไร

อย่างไรก็ตาม หากตั๋ว PN ทั้ง 9 ใบดังกล่าว มีรายละเอียดตามที่ตนระบุ ก็แสดงว่าการซื้อหุ้นของแพทองธาร จากพี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ ในครั้งนี้ ต้องสงสัยว่ามีการใช้ตั๋ว PN เป็นเครื่องมือในการทำนิติกรรมอำพราง ทำธุรกรรมการซื้อปลอม ตบตาการได้หุ้นจากการให้เป็นการซื้อหุ้น เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการรับให้ ที่ต้องจ่ายให้กับแผ่นดิน เป็นพฤติกรรมที่เอารัดเอาเปรียบประชาชน เอาเปรียบสังคม ผลประโยชน์ของชาติ บ่อนทำลายการพัฒนาประเทศ
สำหรับตั๋ว PN ทั้ง 9 ฉบับดังกล่าว เป็นการออกตั๋วหลังจากวันที่ 1 ก.พ. 2559 ซึ่งเป็นวันที่ ภาษีการรับให้ มีผลบังคับใช้ โดย แพทองธาร ได้หุ้นมูลค่า 2,388.7 ล้านบาท มาจากพี่สาว เป็นการซื้อเชื่อโดยที่แพทองธารไม่ได้จ่ายเงินให้กับพี่สาวแม้แต่บาทเดียว และออกตั๋วเป็นกระดาษ 4 ใบให้พี่สาว โดยพี่สาวเป็นเจ้าหนี้ที่แสนดี ไม่กำหนดว่าจะจ่ายหนี้ค่าซื้อหุ้นให้พี่สาวเมื่อไหร่ ดอกเบี้ยพี่สาวก็ไม่คิด ซึ่งเป็นการซื้อหุ้นจากพี่สาว หรือเจตนาแล้วคือการได้หุ้นมาจากการให้ของพี่สาว
กรณีพี่ชายก็เช่นเดียวกัน แพทองธาร ได้หุ้นมูลค่า 335.4 ล้านบาท มาจากพี่ชาย โดยการซื้อเชื่อ โดยที่แพทองธารไม่ได้จ่ายเงินให้กับพี่ชาย เพียงแต่ออกตั๋ว PN เป็นกระดาษ 1 ใบ ให้พี่ชายเก็บเอาไว้ ไม่มีกำหนดว่าจะจ่ายหนี้ค่าซื้อหุ้นให้พี่ชายเมื่อไหร่ ดอกเบี้ยพี่ชายก็ไม่คิด ตกลงแล้วคือการซื้อหุ้นจากพี่ชาย หรือการได้หุ้นมาจากการให้ของพี่ชาย
กรณี ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ ก็เช่นเดียวกัน แพทองธาร ได้หุ้นมาจากลุงมูลค่า 1,315.5 ล้านบาท ได้หุ้นมาจากป้าสะใภ้มูลค่า 258.4 ล้านบาท และได้หุ้นมาจากแม่มูลค่า 136.5 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อเชื่อ แพทองธารไม่ได้จ่ายเงินสักบาทให้กับลุง ป้าสะใภ้ และแม่ แต่ออกตั๋ว PN ให้ลุง 2 ใบ และให้ป้าสะใภ้กับแม่คนละ 1 ใบ ซึ่งวิโรจน์ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการซื้อหุ้น หรือได้หุ้นมาจากการให้ ของ ลุง ป้าสะใภ้ และแม่

วิโรจน์ อธิบายว่า จุดแตกต่างระหว่าง การได้หุ้นจากการให้ กับการซื้อหุ้น คือ หาก แพทองธาร ได้หุ้นมาจากการให้ของ พี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ ก็ต้องเสีย ภาษีการรับให้ แต่ถ้าซื้อหุ้นจากพี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ ก็ไม่ต้องจ่ายภาษีเลย และเนื่องจากหลักเกณฑ์การรับรู้รายได้ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะใช้เกณฑ์เงินสด ซึ่งรายได้จะถูกนับเป็นเงินได้พึงประเมินก็ต่อเมื่อมีการรับเงินสดจริง
ดังนั้นการที่แพทองธารจ่ายค่าหุ้นที่ซื้อด้วยตั๋ว PN ที่ไม่ได้มีการจ่ายเงินจริง จะจ่ายกันเมื่อไหร่ก็ไม่ทราบ ทำให้พี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ ไม่ต้องเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาเลยแม้แต่บาทเดียว และต่อให้มีการจ่ายค่าซื้อหุ้นกันในภายหลัง พี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ ก็ไม่ต้องเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาอยู่ดี เพราะตามมาตรา 40(4)(ช) ของประมวลรัษฎากรกำหนดว่า รายได้จากการขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ เฉพาะส่วนเกินจากมูลค่าหุ้น (Capital Gain) หรือกำไรจากการขายหุ้นเท่านั้น จึงจะถูกนับเป็นเงินได้พึงประเมิน ดังนั้นหากครอบครัวขายหุ้นให้แพทองธารในราคาพาร์ หรือราคาทุน พี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ ก็ไม่ต้องจ่ายภาษีรายได้บุคคลธรรมดาเลย และเมื่อคำนวณรวมแล้ว แพทองธาร ชินวัตร ใช้ตั๋ว PN สร้างหนี้ปลอม เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการรับให้เป็นเงินสูงถึง 218.7 ล้านบาท
“พฤติกรรมการใช้ช่องว่างทางกฎหมายในการหลักเลี่ยง หรือเรียกง่าย ๆ แบบภาษาชาวบ้านว่าหนีภาษี เป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ เป็นการเอารัดเอาเปรียบประชาชน และขัดขวางการพัฒนาไปประเทศ ผมนึกไม่ถึงว่าพฤติกรรมที่น่าอดสูแบบนี้จะเกิดกับคนที่ชื่อว่า แพทองธาร ชินวัตร และคน ๆ นี้ ไม่ใช่แค่คนร่ำคนรวยปกติ แต่เป็นถึงนายกรัฐมนตรี”

หน้าที่ของปวงชนชาวไทย ในมาตรา 50(9) ของรัฐธรรมนูญ ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า บุคคลมีหน้าที่เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ ลำพังแค่จะทำหน้าที่ในฐานะปวงชนชาวไทย แพทองธาร ชินวัตร ยังทำให้ดี ทำแบบตรงไปตรงมาไม่ได้ แล้วจะมีหน้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นเยี่ยงอย่างที่ดีของประชาชนคนไทยได้อย่างไร โดยนิติกรรมอำพราง ที่ใช้ตั๋ว PN เพื่อหนีภาษีการรับให้ มูลค่า 218.7 ล้านบาท ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่า แพทองธาร ชินวัตร มีแต่ความทุจริตเป็นที่ประจักษ์ เอาแต่เสาะหาช่องว่างทางกฎหมาย เพื่อตักตวงผลประโยชน์ให้กับตนเอง
หลังจากนี้จะต้องมีการร้องไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งมีอำนาจตามมาตรา 234 ของรัฐธรรมนูญ ในการไต่สวนและมีความเห็นต่อกรณีที่แพทองธาร ชินวัตร ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และพิจารณาส่งสำนวน และความเห็นของ ป.ป.ช. ไปที่ศาลฎีกาต่อไป

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมตรี ลุกขึ้นชี้แจงว่า การกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีหนีภาษี ไม่ได้เป็นความจริง โดยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ได้ยื่นต่อ ป.ป.ช. ครบถ้วนตามขั้นตอนทุกอย่าง ขณะนี้มีการยื่นคำร้องเรื่องการตรวจสอบความถูกต้อง หรือเรื่องทุกอย่างที่มีการฟ้องร้อง กำลังอยู่ในขั้นดำเนินการของ ป.ป.ช. ตรวจสอบ ตนยินดีให้ความร่วมกับ ป.ป.ช.ที่จะแสดงข้อมูลหลักฐานทุกอย่าง โดยทรัพย์สิน หนี้สินกิจการ ของตนและครอบครัว ถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น มาตั้งแต่การปฏิวัติรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย. 2549 ทุกบัญชีและทุกธุรกรรมถูกตรวจสอบมานานมากแล้ว ขอยืนยันว่าทรัพย์สินทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
“ถึงแม้ดิฉันจะอายุน้อยกว่าท่าน แต่ดิฉันก็มั่นใจว่าดิฉันเสียภาษีให้รัฐมากกว่าท่าน”
ทั้งนี้เรื่องการทำธุรกิจเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากมีการปรับโครงสร้างหุ้นบริษัท ผ่านตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) ซึ่งเป็นหนังสือที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะชดใช้เงินจำนวนหนึ่งให้กับอีกบุคคลหนึ่งตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยการซื้อขายลักษณะนี้ บางรายการก็ไม่ต้องเสียภาษี เพราะยังไม่มีการชำระเงินเกิดขึ้น
การซื้อขายแบบนี้จึงเป็นภาระหนี้สินระหว่างตนที่เป็นผู้ซื้อ และครอบครัวที่ขาย ไม่มีพฤติกรรมอำพรางใด ๆ เพราะหากเกิดการซื้อขายยอดหนี้จะแสดงในบัญชีชัดเจนอยู่แล้ว และได้ยื่น ป.ป.ช. ไปหมดแล้ว ดังนั้นตั๋ว PN ไม่ใช่เรื่องใหม่ และทำกันมานานแล้ว ส่วนการกล่าวหาว่าทุจริตคิดว่าเป็นเรื่องจินตนาการมากเกินไป
อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างหุ้น จำเป็นตองใช้การซื้อขาย แต่ ณ เวลานั้ ตนไม่มีความพร้อมชำระเงินค่าหุ้นด้วยเงินสด จึงทำตั๋วสัญญาใช้เงินแทน และได้พูดคุยกับครอบครัวแล้วว่ามีแผนจชำระ โดยรอบแรกจะเกิดขึ้นภายในปีหน้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ตนกับครอบครัวตกลงกัน ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร และเมื่อมีการซื้อขายเกิดขึ้น ก็จะมีการจ่ายภาษี ไม่สามารถหลบเลี่ยงได้อยู่แล้ว