กรรมการแพทยสภา กางไทม์ไลน์สอบจริยธรรม ‘แพทย์ รพ.ราชทัณฑ์ – รพ.ตำรวจ’ รักษา ‘ทักษิณ’ ชี้ เอกสารสำคัญหลายร้อยหน้าเพิ่งได้รับเมื่อเดือนมีนาคม 68 อยู่ระหว่างการพิจารณาอย่างละเอียด ย้ำ ขั้นตอนสอบสวนไม่ได้เกินกรอบเวลา 180 วัน ก่อนส่งต่อคณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณา ยันไม่ได้ยื้อ หรือเร่ง แต่ทำตามกรอบเวลาในกฎหมาย
จากกรณีที่มีรายงานข่าวว่า แพทยสภาจะมีการพิจารณาตัดสินคดีจริยธรรมของแพทย์ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ และ โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแล รักษา ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่มีเหตุให้ไม่สามารถมีมติได้ เนื่องจากยังมีเอกสารสำคัญเพิ่มเติมจากโรงพยาบาลนั้น
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 68 ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี ประธานคณะอนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจ แพทยสภา ชี้แจงว่า เอกสารที่กล่าวถึงนั้นเป็นเอกสารสำคัญจำนวนหลายร้อยหน้า ซึ่งทางอนุกรรมการสอบสวนเป็นผู้ร้องขอเพิ่มเติมเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพิจารณาคดี
“เมื่อได้รับเอกสารครบถ้วนแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาอย่างละเอียด และเห็นว่าเอกสารมีความสมบูรณ์เพียงพอ จึงอยู่ระหว่างการให้ความเห็นและจัดทำสรุปสำนวนการสอบสวน เพื่อส่งต่อเข้าสู่ขั้นตอนถัดไป”
ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี

ทั้งนี้ กระบวนการสอบสวนยังคงเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย และเป็นเพียง 1 ใน 7 ขั้นตอนของการดำเนินการทางจริยธรรมของแพทยสภา ซึ่งขณะนี้เรื่องดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนที่ 4
ประธานคณะอนุกรรมการฯ ย้ำว่า คณะทำงานตระหนักดีถึงความสนใจและความห่วงใยของสังคมที่มีต่อกรณีนี้ พร้อมยืนยันถึงความเป็นอิสระในการทำงานอย่างเต็มที่ โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษามาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพแพทย์ และคุ้มครองสิทธิของประชาชนผู้รับบริการทางการแพทย์อย่างเหมาะสม
“ในกระบวนการพิจารณาของแพทยสภา ทุกคดีจะถูกพิจารณาอย่างรอบคอบโดยกรรมการแพทยสภา ซึ่งประกอบด้วยแพทย์กว่า 70 คน ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบต่อวิชาชีพและประชาชน”
ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี
รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี วงศ์ศรีสุวรรณ กรรมการแพทยสภา ระบุไม่ขอลงในรายละเอียดของคดี เนื่องจากอยู่ระหว่างการดำเนินการ แต่ที่อยากชี้แจงคือ อาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดีจริยธรรมของแพทยสภา ซึ่งมีขั้นตอนที่ชัดเจน เพราะโดยทั่วไป หากมีการร้องเรียนเข้ามายังแพทยสภา คณะกรรมการจะพิจารณาว่าจะรับเรื่องหรือไม่ หากเห็นควรรับไว้ จะส่งเรื่องให้ “อนุกรรมการจริยธรรม” พิจารณาในเบื้องต้น ซึ่งกระบวนการนี้จะต้องแล้วเสร็จภายใน 4 เดือน หากจำเป็นสามารถขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 2 เดือน รวมไม่เกิน 6 เดือน
หลังจากนั้น หากเห็นว่าคดีมีมูล จะเข้าสู่กระบวนการ “กลั่นกรอง” โดยคณะกรรมการที่มีทั้งแพทย์และผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย เพื่อเสนอต่อกรรมการแพทยสภาชุดใหญ่ ซึ่งจะพิจารณาว่าเรื่องดังกล่าวควรเข้าสู่กระบวนการสอบสวนหรือไม่ หากเห็นว่ามีมูล ก็จะส่งต่อไปยัง “อนุกรรมการสอบสวน” เพื่อดำเนินการต่อ
ขั้นตอนการสอบสวนมีกรอบเวลาชัดเจน คือ 180 วัน หรือประมาณ 6 เดือน และสามารถขยายเวลาได้สูงสุดอีก 120 วัน (4 เดือน) หากมีเหตุจำเป็น เช่น รอเอกสาร หรือไม่สามารถติดต่อผู้ที่เกี่ยวข้องได้
หลังการสอบสวนเสร็จ จะเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองอีกครั้ง ก่อนส่งเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการแพทยสภาชุดใหญ่ ซึ่งมีประมาณ 70 คน เป็นผู้พิจารณาว่าจะยกข้อกล่าวหา หรือวินิจฉัยว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิด พร้อมพิจารณาบทลงโทษ หากมีความผิดจริง
“คดีที่เป็นข่าวขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอน ‘อนุกรรมการสอบสวน’ ยังไม่ได้เข้าสู่ขั้นตอนของคณะกรรมการแพทยสภาชุดใหญ่ตามที่เป็นข่าว และยังไม่ถึงระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับ คือ 180 วัน จึงยังไม่มีการบรรจุวาระหรือเลื่อนวาระใด ๆ”
รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี วงศ์ศรีสุวรรณ
ทั้งนี้ การดำเนินการทุกขั้นตอนเป็นไปตาม ข้อบังคับว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีจริยธรรมของแพทยสภา พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง หากดำเนินการผิดพลาด อาจถูกตรวจสอบจากศาลปกครองได้
“เรายืนยันว่าการดำเนินการเป็นไปตามกระบวนการปกติ ไม่ได้มีการยื้อ หรือเร่งใด ๆ ทุกขั้นตอนเราดำเนินการในกรอบเวลาที่ชัดเจนตามกฎหมาย”
รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี วงศ์ศรีสุวรรณ
รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี บอกด้วยว่า ผู้ที่อยู่นอกระบบอาจไม่เข้าใจกระบวนการ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสื่อหรือสังคม จึงขอใช้โอกาสนี้เพื่อชี้แจงให้เข้าใจว่า การดำเนินการของแพทยสภาในทุกคดีเป็นไปตามหลักเกณฑ์เดียวกัน

ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา กรรมการแพทยสภา ชี้แจงเสริมประเด็นระยะเวลาและขั้นตอนพิจารณาคดีจริยธรรมในกรณีที่เป็นข่าว ว่า ขณะนี้คดีอยู่ในขั้นตอนของอนุกรรมการสอบสวน ซึ่งกระบวนการในชั้นนี้โดยปกติจะใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือนตามข้อบังคับของแพทยสภา และขณะนี้ได้ดำเนินการมาแล้วประมาณ 5 เดือน
“ถ้าไม่มีการขยายเวลาเพิ่มเติม คาดว่าในอีก 1 – 2 เดือนข้างหน้า กระบวนการในขั้นอนุกรรมการสอบสวนน่าจะแล้วเสร็จ และจะสามารถส่งต่อเข้าสู่ขั้นตอนถัดไปได้”
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา
เมื่อการสอบสวนสิ้นสุดลง จะเข้าสู่กระบวนการของ “อนุกรรมการกลั่นกรอง” ซึ่งขั้นตอนนี้อาจใช้เวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ หากสามารถดำเนินการทันในรอบประชุมของเดือนนั้น แต่หากไม่ทันก็จะต้องรอไปเข้ารอบประชุมของเดือนถัดไป เนื่องจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและคณะกรรมการแพทยสภาจะประชุมเพียงเดือนละครั้ง
“ช่วงเวลา 1–2 เดือนหลังจากการสอบสวน ไม่ได้หมายถึงระยะเวลาของคณะกรรมการแพทยสภา แต่เป็นระยะเวลาของขั้นตอนกลั่นกรอง ซึ่งต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน”
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา
สำหรับขั้นตอนสุดท้ายคือการพิจารณาของ “คณะกรรมการแพทยสภาชุดใหญ่” ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 70 คน จะพิจารณาโดยอาศัยข้อมูลและข้อเท็จจริงที่อนุกรรมการรวบรวมไว้ หากข้อมูลครบถ้วน กระบวนการตัดสินอาจดำเนินการได้รวดเร็ว แต่หากมีรายละเอียดมาก ก็อาจใช้เวลานานขึ้นเล็กน้อย
“อย่างช้า การพิจารณาในขั้นนี้ก็ไม่ควรเกิน 1 – 2 เดือนเช่นกัน หากข้อมูลทั้งหมดพร้อมสมบูรณ์”
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา
เมื่อมีมติจากกรรมการแพทยสภาแล้ว จะนำเสนอต่อ “สภานายกพิเศษ” เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในบทลงโทษ หากมีความผิดตามที่พิจารณาไว้