‘นักสันติวิธี’ ชี้ รัฐล้มเหลวปกป้อง ผู้บริสุทธิ์-ศาสนา ปล่อยตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ‘ชายแดนใต้’

‘ภูมิธรรม’ สั่งความมั่นคงปรับแผนเชิงรุก เร่งสร้างความเชื่อมั่นประชาชน ขณะที่ ‘วันนอร์’ ประณามคนก่อเหตุไม่สงบ จี้​ รัฐบาลหาทางดับไฟใต้​ ซัด​ ถ้าแก้ไขถูกทาง คงไม่เกิดเหตุแบบนี้ ด้าน ‘นักสันติวิธี’ ขอทุกฝ่ายอย่าใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือความขัดแย้ง แนะผู้คนตั้งสติให้มั่น ถาม เมื่อไรทุกศาสนาในชายแดนใต้ จะปฏิบัติศาสนกิจได้ตามปกติสุข

ในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน 2568 ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ ส่งผลให้เกิดความสูญเสีย และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ที่น่าสังเกตคือการก่อเหตุในช่วงที่ผ่านมานี้ ผู้ก่อความไม่สงบพุ่งเป้าไปที่ประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่เหตุการณ์ลอบยิงผู้นำศาสนา ในพื้นที่ จ.นราธิวาส, เหตุกราดยิงประชาชนในพื้นที่ อ.แว้ง จ.นราธิวาส, เหตุระเบิดบริเวณแฟลตตำรวจ สภ.โคกเคียน จ.นราธิวาส ส่งผลให้มีเด็ก เยาวชน ถูกลูกหลงได้รับบาดเจ็บ และเหตุการณ์ล่าสุด คือ เหตุลอบยิงจนส่งผลให้มีสามเณรมรณภาพ ในพื้นที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา

‘นักสันติวิธี’ วอน ประชาชนใช้สติ อย่าตกเป็นเครื่องมือ
ดึง ‘ศาสนา’ มาอยู่ในความขัดแย้ง

ผศ.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นกับ The Active ต่อสถานการณ์ที่ชายแดนใต้ในเวลานี้ โดยขอให้ ทุกฝ่ายตั้งสติ โดยเฉพาะประชาชนที่มีความศรัทธาในศาสนา จำเป็นต้องตั้งสติให้มั่นคง เพื่อไม่ให้ไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่พยายามจะดึงเอาประเด็นศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับความรุนแรง เพราะเหตุการณ์ที่เด็กเยาวชนมุสลิมโดนลูกหลง และความรุนแรงที่ส่งผลให้สามเณร มรณภาพ คือสิ่งที่สะท้อนอารมณ์ความเสียใจของผู้คน ซึ่งเป็นความรู้สึกเดียวกันไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด


“เราต้องตั้งสติให้ดีมาก ๆ ถ้าแยกแยะไม่ได้ เราจะเป็นเครื่องมือของกลุ่มคน ที่พยายามใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ ไม่ว่าจะฝ่ายรัฐ หรือ ขบวนการ”  

ผศ.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์

นักสันติวิธี ยังชวนสังคมโดยเฉพาะผู้คนในพื้นที่ตั้งคำถาม ว่า ทำอย่างไรทุกศาสนาในพื้นที่ชายแดนใต้ จะสามารถเกิดความมั่นใจและปฏิบัติศาสนากิจของตัวเองได้ตามหลักการที่แท้จริง โดยที่หน่วยงานความมั่นคงไม่ควรเข้าไปแทรกแซง ควรอยู่ในวงรอบการดูแลความปลอดภัยแบบห่าง ๆ ทำอย่างไร ไม่ให้ศาสนาถูกต้้งขอครหา เช่น ทำอย่างไรไม่ให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคง เข้าไปตรวจค้นพี่น้องมุสลิมในมัสยิด ไม่ต้องถูกตั้งข้อกล่าวหา ทำอย่างไรให้วัดไม่ถูกใช้เป็นสถานที่ตั้งของกำลังทหาร เป็นเป้าโจมตี อยากให้ทุกฝ่ายโฟกัสไปที่ศาสนาเพียว ๆ อย่าไปเกี่ยวกับการเมือง ความมั่นคง นี่คือสิ่งที่ชวนสังคมตั้งคำถาม และต้องแยกแยะเรื่องพวกนี้ให้ได้

“สิ่งสำคัญคือต้องตั้งสติ ศาสนาทุกศาสนาไม่ได้สอนให้ประชาชนเกลียดชังคนที่กระทำผิด แต่ให้กลับไปพินิจ พิจารณา อย่างกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โป๊ปฟรานซิส ก็เคยตรัสว่า เราต้องช่วยกันพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยยที่แท้จริง สิ่งนี้สำหรับพื้นที่ชายแดนใต้ ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องสื่อสาร สำคัญคือทำอย่างไรให้เราเข้าอกเข้าใจ ไม่ตกเป็นเครื่องมือ ไม่แก้แค้นเอาคืน ต้องตั้งสติ ทุกศาสนาให้ใช้สติ”

ผศ.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์

ผศ.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

เรียกร้องรัฐบาลอย่าเพิกเฉยการปกป้องประชาชน

ผศ.พัทธ์ธีรา เน้นย้ำให้ ทุกคนในสังคมต้องตั้งสติ ไม่ให้ต้องตกอยู่ในวงจรการปลุกระดมใช้ศาสนามาเป็นเครื่องมือ เพราะทุกศาสนา คือ สิ่งดีงาม เป็นความเมตตาต่อผู้คน ไม่ใช่เครื่องมือที่ต้องเข่นฆ่ากัน ผู้คนในสังคมเสียใจกับความสูญเสีย และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแต่ละศาสนาได้ แต่ทำอย่างไรไม่ให้ความเสียใจ เปลี่ยนการกระทำให้ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ทุกคนยึดมั่นตามหลักคำสอน โดยเฉพาะในแง่ของภาครัฐ ผู้มีอำนาจ ที่ต้องลุกขึ้นมายืนหยัดปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธ ใช้ความรุนแรง ประชาชนผู้บริสุทธิ์ และศาสนา ไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับใคร รัฐต้องลุกขึ้นมาทำหน้าที่ปกป้องให้คนมีสิทธิเสรีภาพ ได้ปฏิบัติตามจิตศรัทธาในแต่ละศาสนาอย่างปลอดภัย เป็นหน้าที่รัฐที่ต้องแสดงความรับผิดชอบ

“การปกป้องคุ้มครองของรัฐ ต้องไม่ใช่ในนิยามของความมั่นคง รัฐต้องแยกให้ออก ปกป้อง คือ คุณมีหน้าที่เรื่องความมั่นคง มีกำลังเจ้าหน้าที่ มีด่านตรวจ เต็มบ้านเต็มเมือง ก็ต้องมีมาตรการดูแลไม่ให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ มุ่งเข้าไปก่อเหตุในพื้นที่ของคนบริสุทธิ์ได้ เช่น โรงเรียน ชุมชน ศาสนาสถาน วัด เพราะในสงครามสถานที่เหล่านี้เป็นสิ่งต้องห้ามที่จะไม่มีใครเข้าไปทำร้าย หากรัฐมั่นใจว่าทำงานยึดโยงกับประชาชนจึงเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ตอนนี้ผ่านมามากกว่า 20 ปีแล้วของเหตุการณ์ความไม่สงบที่ชายแดนใต้ กี่ยุทธศาสตร์ กี่ยุทธวิธีที่ฝ่ายความมั่นคงหยิบมาใช้ แต่เหตุการณ์ก็ยังเป็นแบบเดิม ถ้าเอาตัวชี้วัดมาวัดกันจริง ๆ จะต้องถือว่าล้มเหลวหรือไม่”  

ผศ.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์

ผศ.พัทธ์ธีรา ยังฝากถึงรัฐบาลควรต้องรีบแสดงเจตจำนงทางการเมืองที่ชัดเจนต่อการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ เพราะสิ่งที่ต้องขบคิดและตั้งคำถาม คือ ความรุนแรงที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน เกิดขึ้นสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร จากนั้นก็เห็นจุดเริ่มต้นที่ดูเหมือนจะดีมาก ๆ คือ ข้อตกลงกระบวนการเจรจาสันติภาพ สมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนมาถึงกรณีล่าสุด คือ คดีตากใบ ที่รัฐบาลเพื่อไทยอีกเช่นกัน แต่กลับปล่อยให้มดอายุความ โดยไม่ทำอะไรเลย ทั้ง ๆ ที่ตัวละครเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งควรทำให้กระบวนการยุติธรรมคลี่คลายได้ แต่กลับไม่ทำ ปล่อยให้คนของพรรคที่มีส่วนเกี่ยวข้องลอยนวล รวมถึงกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่หยุดชะงักไป แสดงให้เห็นชัดเจนว่าตอนนี้รัฐบาลไร้เจตจำนงทางการเมือง และกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้บริสุทธิ์ ตอกย้ำว่า ยังไร้ซึ่งท่าทีความรับผิดชอบจากรัฐบาล


“ตอนนี้เราอยู่ในสภาวะที่มีรัฐบาลอยู่หรือไม่ รัฐบาลที่พร้อมจะรับผิดชอบต่อชีวิตประชาชนมีไหม ขณะที่ฝ่ายศาสนจักรที่ก่อนหน้านี้เคยเรียกร้องต่อต้านกาสิโน จำเป็นต้องออกมาเรียกร้องถามหาความรับผิดชอบต่อการเพิกเฉยของรัฐบาลครั้งนี้ด้วย”

ผศ.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์

‘ภูมิธรรม’ สั่งฝ่ายความมั่นคงทำงานเชิงรุก เร่งสร้างความเชื่อมั่นประชาชน

สำหรับปฏิกิริยาจากรัฐบาลล่าสุด วันนี้ (23 เม.ย. 68) ผู้สื่อข่าว Thai PBS รายงานว่า ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุถึงความห่วงใย โดยจากสถานการณ์ดังกล่าวได้หารือกับ พล.อ. พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก ผ่านทางโทรศัพท์ตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา เนื่องจากขณะนี้ติดภารกิจอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยอยากให้มีการปรับเปลี่ยนการทำงานเป็นรูปแบบเชิงรุก และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ไม่ใช่การตั้งรับเพียงอย่างเดียว รวมไปถึงได้พูดคุยกับ พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งอยากให้ ผบ.ทบ. และ ผบ.ตร. ได้ประสานงานกัน

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

นอกจากนี้ รองนายกฯ ภูมิธรรม​ ยังระบุว่า​ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมายังได้หารือกับ พล.ท. ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรส่วนหน้า (กอ.รมน.) ซึ่งครอบคลุมโครงสร้างทั้งฝ่ายตำรวจภูธรภาค 9, ทหาร และกระทรวงมหาดไทย รวมไปถึงเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยสั่งการว่า ต้องมีความเปลี่ยนแปลง ต้องยุติสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ได้ ซึ่งได้ให้ไปวางแผนว่า จะมีมาตรการเชิงรุกอย่างไร

“จะต้องสร้างความมั่นใจ ให้กับประชาชนที่เผชิญเหตุการณ์ไม่สงบ ไม่ใช่ว่าไปยิงประชาชน หรือสามเณร เพราะเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้น ได้สั่งการให้ต้องระงับสถานการณ์ และทำหน้าที่ ใช้ยุทธการ ไม่ใช่นั่งอยู่กับที่ และให้ผู้ก่อเหตุเข้ามาเอง ต้องระงับยับยั้งสถานการณ์ให้จบโดยเร็ว อย่างไรก็ตามนโยบาย หากมีอะไรเกิดขึ้นสามารถรายงานตรงมาที่ตนเองได้ทันที”

ภูมิธรรม เวชยชัย

ทั้งนี้ รองนายกฯ ภูมิธรรม ปฏิเสธลงพื้นที่ไปให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเกรงว่า หากลงพื้นที่ไป แทนที่เจ้าหน้าที่จะดูแลประชาชน กลับต้องมาดูแลตนเองแทน จึงอยากจัดการเรื่องนี้ให้จบก่อน แต่อย่างไรก็ตามจะลงพื้นที่ไปอย่างแน่นอน

‘วันนอร์’ รับ รัฐบาลยังแก้ปัญหาไฟใต้ไม่ถูกจุด  

ขณะที่ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ประณามคนร้ายก่อเหตุความไม่สงบใช้อาวุธปืนลอบยิงรถกระบะ ขณะพระสงฆ์ และสามเณร วัดกุหร่า อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ออกบิณฑบาต ส่งผลให้มีสามเณร มรณภาพ 1 รูป และบาดเจ็บ 1 รูป​ เพราะผู้ที่กระทำการที่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่นับถือศาสนาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพุทธ อิสลามหรือ คริสต์ ก็ล้วนแต่เป็นการกระทบจิตใจต่อผู้ที่นับถือศาสนาทั้งนั้น และเป็นเรื่องที่รัฐบาลรวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องจัดการอย่างรวดเร็ว ต้องจับกุมผู้ที่กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้ เพราะเรื่องศาสนาเป็นเรื่องที่กระทบต่อจิตใจของประชาชน ทั้งที่เขาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร จึงอยากให้เจ้าหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้โดยเร็ว ประชาชนจะได้คลายความกังวลและความเข้าใจผิดต่าง ๆ จะได้ลดลง 

วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยอมรับว่า ขณะนี้การแก้ไขปัญหาอาจจะยังไม่ถูกจุด ต้องพยายามหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ต้องทำอย่างครบวงจรให้ได้ ทั้งการศึกษา เศรษฐกิจ ความเป็นธรรม สังคม ต้องทำไปพร้อมกัน แม้ว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้ แต่ผลกระทบเกิดกับประเทศไทยทั้งประเทศ 77 จังหวัด ทั้งการท่องเที่ยว การลงทุนก็ล้วนได้รับผลกระทบทั้งหมด จึงอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญ แก้ไขให้ลุล่วงสำเร็จ ให้ดีกว่านี้ 

“ถ้ารัฐบาลแก้ปัญหาถูกทาง สถานการณ์คงไม่เกิดขึ้นแบบนี้ ฉะนั้นคงยังไม่ถูกทางทั้งหมด ต้องหาทางแก้ไข”

วันมูหะมัดนอร์ มะทา

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active