บี้รัฐ คุย ‘ผู้นำตัวจริง BRN’ ส่งสัญญาณ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ – จัดขบวนใหม่เจรจาสันติภาพ

อดีตเลขาฯ สมช. – ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง เห็นพ้อง ไฟใต้ระอุ เพราะรัฐบาลไร้ทิศทาง โต๊ะเจรจาหยุดนิ่ง ฝาก ‘ทักษิณ’ พิสูจน์สายสัมพันธ์ นายกฯ มาเลเซีย ดึงผู้นำจิตวิญญาณ BRN จับเข่าคุย โชว์ความจริงใจ ทำ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้เป็นจริง แนะเปิดโต๊ะเจรจารอบใหม่ ขอฝ่ายการเมืองนำคุย  

รศ.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ให้ความเห็นผ่านรายการตอบโจทย์ ตอน ไฟใต้คุกรุ่น ยิงถล่ม “พระสงฆ์ – สามเณร” จับตา “นโยบายสันติสุข” วิเคราะห์กรณี อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่มีความใกล้ชิดและเป็นที่ปรึกษาให้กับ อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย จะมีผลทำให้กลไกการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ดีขึ้นหรือไม่ โดยมองว่า กรณีของชายแดนใต้ ถือว่าน่าผิดหวัง เพราะที่ผ่านมาก็ประกาศชัดเจนว่าจะเดินหน้าตั้งคณะทำงาน มีนโยบายใหม่ ๆ จะติดตามลงพื้นที่กันมากขึ้น มีความชัดเจนแทบทุกเรื่อง แต่สุดท้ายถอยหลังกลับไปไกล เพราะกระบวนการพูดคุยไม่เดินหน้าต่อ โดยเชื่อว่า นายกฯ อันวาร์ สนิทกับผู้นำ กับบุคคลที่ถือได้ว่าเป็นผู้นำจิตวิญญาณของฝั่งกลุ่ม BRN แต่กลับไม่สามารถนำบุคคลในระดับผู้นำจิตวิญญาณของเขา มาสู่โต๊ะเจรจาได้ จริง ๆ ทุกคนรู้ว่าใครเป็นแกนนำ คาดว่าผู้นำมาเลเซียจะนำมาได้ แต่กระบวนการนี้ไม่เคยเกิดขึ้น

“เราไม่พูดว่าใครตัวจริงตัวปลอม พูดถึงผู้นำจิตวิญญาณที่ BRN เคารพ เป็นผู้นำจิตวิญญาณสูงสุดที่ได้รับการเคารพมากที่สุด เราต้องการคนเหล่านี้มาพูดคุยกัน ยังไม่ต้องเจรจาอะไรมาก จะได้ส่งสัญญาณบวก ว่าจะมีแนวทางต่อจากนี้อย่างไร”

รศ.ปณิธาน วัฒนายากร

รายการตอบโจทย์ (23 เม.ย. 68) ตอน ไฟใต้คุกรุ่น ยิงถล่ม “พระสงฆ์ – สามเณร” จับตา “นโยบายสันติสุข”

ตั้งเป้าการพูดคุย เริ่มต้นด้วยการสร้าง ‘พื้นที่ปลอดภัย’

พล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) บอกว่า สถานการณ์ใต้แรงขึ้นมาก จึงต้องทำให้เกิดความชัดเจน การที่ผู้นำไทย ไปสานสัมพันธ์กับมาเลเซีย ซึ่งหัวใจสำคัญคือการแก้ไขปัญหาพื้นที่ด้วยสันติวิธี ที่มีกลไก คือ คณะพูดคุยสันติสุข แน่นอนว่ามาเลเซีย มีบทบาทมาก เพราะมีบุคลากรสำคัญที่จะทำ ให้กลไกนี้เกิดขึ้น แต่กลไกเหล่านี้ตอนนี้อยู่ไหน รัฐบาลตั้ง ฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการ สมช. มาเป้ฯหัวหน้าคณะพูดคุย แล้วก็เงียบหายไปเลย

“เป้าหมายของคณะพูดคุย ต้องการนำไปสู่การพูดคุยให้เกิดพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งต้องได้ข้อมูลจากประชาชนก่อนว่าจะใช้พื้นที่ไหนที่เหมาะสม ให้มีพื้นที่ก่อน จากนั้นให้คณะพูดคุยไปสื่อสารกัน ว่า ประชาชนอยากได้พื้นที่ตรงนี้ แล้วคณะพูดคุยจะมีพลังมากพอไปสั่งให้ผู้ก่อเหตุหยุดได้ไหม ประชาชนอยากได้พื้นที่ปลอดภัย แต่พอเกิดเหตุขึ้นมา กลไกหลักถูกแช่แข็ง รองนายกฯ ภูมิธรรม สั่งให้หน่วยความมั่นคงทำงานเชิงรุก แล้วจะรุกอะไร ประชาชนขอพื้นที่ปลอดภัย ที่ผ่านมากลายเป็นว่ากลไกตรงนี้ง่อยไป ข้างบนเดินอยู่ พอเป้าไม่ชัด ฝ่ายปฏิบัติในพื้นที่ก็ทำงานแบบอิหลักอิเหลื่อ เพราะหากทำได้จริง พอมีพื้นที่ปลอดภัย จะขยายผลไปได้ทุกเรื่อง ประเด็นนี้จะนำไปสู่การแสวงหาจุดที่ลงตัวที่สุด สิ่งนี้จะเกิดขึ้นต้องทำกันทั้งหมด ทั้งโครงสร้าง ต้องสื่อสารกับนายกฯ มาเลเซีย คือต้องร่วมอยู่ในกลไกนี้ เราต้องใช้ประโยชน์ให้เต็มที่”

พล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร

รศ.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง

รศ.ปณิธาน ระบุด้วยว่า ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปเยอะ ผู้คนคาดหวังมาก แต่ถ้าเอาแนวทางเก่า ๆ กลับมาไม่ดีแน่ ถ้าดูจากความต้องการ คือ ต้องการคุยการเมืองจริง ๆ จัง ๆ อันนี้อาจคุยแบบสุดโต่ง จะคิดถึงเขตปกครองพิเศษ อาจไกลไป คุยการเมืองจะจัดระบบยังไง ให้มีผู้รู้ ผู้เข้าใจ มานั่งจับเข่ากัน ว่าจะจัดระบบการเมืองใหม่ยังไง แต่เชื่อว่า ฝ่ายการเมืองจะไม่เล่นประเด็นนี้

แนะ ‘ฝ่ายการเมือง’ นำขบวนการพูดคุย

เมื่อถามว่าฝ่ายการเมืองต้องทำอะไร รศ.ปณิธาน บอกว่า ก็ต้องกำหนดคนฝ่ายการเมืองให้ลงพื้นที่ เพราะกลุ่มขบวนการรู้อยู่แล้วว่า ถ้าคุยกับข้าราชการฝ่ายประจำ เขาจะพูดอะไร พูดได้แค่ไหน สิ่งที่กลุ่มขบวนการอยากคุยคือ เรื่องเศรษฐกิจ ระบบทุนนิยม จะมีผลอย่างไร เพราะวิถีชีวิตของผู้คนที่ชายแดนใต้ได้รับผลกระทบมากกว่า มีความเปราะบางสูงกว่า เขาอยากคุยเรื่องการศึกษา เพราะบอกว่า เด็กในพื้นที่ยิ่งเรียนยิ่งโง่ เรียนยังไงทำไมเด็กแข่งขันไม่ได้ แล้วก็บอกว่าเด็กที่นี่ถูกบ่มเพาะ กลายเป็นขบวนการสุดโต่ง ก็ยอมรับว่าอาจจะมีอยู่บ้าง ก็เป็นสิ่งที่เขาอยากคุย และอาจอยากคุยเรื่องทรัพยากร พลังงาน เรื่องเหล่านี้พอไม่คุยก็เลยมองว่าคนที่เกี่ยวข้องไม่เข้าใจ ตามสถานการ์ไม่ทัน ไม่ตอบโจทย์อะไรเลย ในทางกลับกันทั้ง 2 ฝ่าย ยังมีปฏิบัติการไล่ล่ากันไปมา ก็เกิดขึ้นในช่วงนี้

สอดคล้องกับ พล.ท. ภราดร ที่มองว่า ถ้าจะรู้ปัญหาก็ต้องพูดคุยกัน แต่รัฐบาลกลับเป็นปัญหา ตนเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยในครั้งแรก ที่เป็นฝ่ายประจำ ในเวลานั้นต้องการให้เกิดกลไกพูดคุย ต่อมาในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ หัวหน้าคณะพูดคุยก็เปลี่ยนเป็นฝ่ายการเมือง เป็นอดีตแม่ทัพ พอมารัฐบาลนี้ ก็มาตั้งข้าราชการประจำกลับเข้าไปอีก โดยเชื่อว่า หากเป็นตัวแทนจากฝ่ายการเมืองโดยตรง จะมีใช้อำนาจได้เพื่อไปสร้างเครือข่ายขยายผล แต่รัฐบาลนี้วนกลับมานับหนึ่งใหม่ จริง ๆ หัวหน้าคณะพูดคุยต้องเป็นเลขาฯ สมช.หรือไม่นั้น ก็ไม่ควรแล้ว

พล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

“จากการพูดคุยจะให้พิสูจน์ได้ ก็ต้องมีพื้นที่ปลอดภัย ไม่สนใจว่าจะคุยกับตัวจริง ตัวปลอม ถ้าทำให้พื้นที่ปลอดภัยนิ่งได้ คุณก็คือตัวจริง สมัยผมคุยกับ อัสซัน ตอยิบ ซึ่งก็บอกผมว่า บางทีเขาก็ไม่ฟังผม แต่ก็ยังดีที่อย่างน้อยได้เริ่มต้นคุย ดังนั้นพื้นที่ปลอดภัยจะเป็นคำตอบว่าคนที่คุยของจริงหรือของปลอม”

พล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร

วอนรัฐยุติ กม.พิเศษ จำกัดสิทธิ เสรีภาพ เอื้อพูดคุยแก้ปัญหา

พล.ท. ภราดร ยังฝากถึง รองนายกฯ ภูมิธรรม ย้ำว่าฝ่ายนโยบาย ต้องทำให้เกิดความชัดเจน ทำให้ฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่ทำงานได้ คุณคือคนชี้เป้าหมายที่ได้มาจากเสียงเรียกร้องของประชาชน โดยต้องทำให้สภาวะแวดล้อมเอื้อต่อการพูดคุยแก้ปัญหา ต้องไม่ใช้กฎหมายพิเศษมาจำกัดสิทธิเสรีภาพ ฝ่ายการเมืองต้องเอื้อ ให้ฝ่ายปฏิบัติการ ยุทธวิธี ต้องมีเครื่องไม้ เครื่องมือที่สามารถจัดหาให้ได้ทันทีที่ร้องขอ ต้องทำให้เกิดขึ้นตั้งแต่การพูดคุย ว่าทำได้หรือไม่ ฝ่ายการเมืองต้องชี้เข็มทิศ แล้วเอื้อให้เกิดเป้าหมายที่ชัดเจน

ขอตัวจริงมาคุยกัน จัดระบบใหม่ ชู ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้เป็นจริง

ขณะที่ รศ.ปณิธาน ย้ำว่า ฝ่ายนโยบายต้องไม่สั่งการอะไรที่ล่อแหลมต่อการทำให้เจ้าหน้าที่ต้องทำอะไรผิดพลาด อีก ต้องปลอดภัย เรียบร้อย อย่างการที่รองนายกฯ ภูมิธรรม กำหนดให้ต้องเห็นการเปลี่ยนแปลงต่อแนวทางแก้ไขปัญหา และสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน เร่งด่วนภายในระยะเวลา 7 วัน ก็กังวลว่าการกำหนดระยะเวลา อาจทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการไปจัดการอะไรบางอย่าง ซึ่งในอดีตเคยเกิดมาแล้ว ดังนั้นการจัดระบบใหม่ให้ชัดเจน เอาตัวจริงของแต่ละฝ่ายมาคุยกัน น่าจะนำไปสู่การมีพื้นที่ปลอดภัยให้กับประชาชนได้มากที่สุด

“ระดับบนต้องเอาผู้นำจิตวิญญาณมาคุย บวกกับมาเลเซีย ก็ต้องส่งสัญญาณว่าประตูหลังบ้านปิดแล้ว สิ่งที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ทำก็ดี แต่ต้องให้ชัดเจน จับมือกันให้ชัด ข้างบนก็จะต้องจัดระบบใหม่ เอาฝ่ายการเมืองที่รับผิดชอบจริง ๆ เอาคณะทำงานที่รับผิดชอบมาปิดไว้ข้างบน ส่วนตรงกลาง ก็จะใช้กลไกการจัดพื้นที่ปลอดภัย เพื่อบีบให้เห็นตัวจริง ตัวปลอม โดยอาจจะเอาชุมชนมาร่วมด้วย ถ้าจัดแบบนี้ได้ เกิดพื้นที่ปลอดภัย ตัวจริง ตัวปลอมก็จะสะท้อนออกมา ที่สุดแล้วจะนำไปสู่ข้อตกลงพื้นที่ปลอดภัยโดยธรรมชาติ แต่ถ้าไม่ทำแบบนี้ ไม่ปิดประตูหน้า ประตูหลัง แล้วไม่แซนวิชตรงกลาง เขาก็จะอาศัยช่องว่างไปตรงนั้น ตรงนี้ ชุมชนก็จะไม่มีพื้นที่ปลอดภัยมารองรับ ถ้าในเชิงนโยบายจัดระบบได้แบบนี้ เชื่อว่า ปลายทางใน ปี สองปี จะเห็นผล”

รศ.ปณิธาน วัฒนายากร

ขณะที่วันนี้ (24 เม.ย. 68) เครือข่ายเพื่อนรักต่างศาสนาเพื่อสันติภาพ ที่ประกอบด้วย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และอีกกว่า 40 องค์กร ได้ออกแถลงการณ์ แสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียหาย พร้อมทั้งขอประณามการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อหลักมนุษยธรรมต่อเด็กและเยาวชนอย่างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต สูญเสียทรัพย์สิน และบาดเจ็บ ทั้งนี้ยังมีข้อเรียกร้องให้   

  1. สื่อมวลชนทุกชนิด พึงระมัดระวังในการนำเสนอข่าวมิให้เป็นการยั่วยุหรือดึงเอามิติทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งรุนแรง และขอให้ผู้รับข่าวสารมีสติรู้เท่าทันการรับและส่งต่อข้อมูลข่าวสารอย่างระมัดระวังเพื่อมิให้เป็นการสร้างความแตกแยกในสังคมพหุวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น

  2. รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคง พึงทำหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบและทันต่อการปกป้องพลเรือนทุกคนอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งต้องเร่งรัดดำเนินการจับคนร้ายมาเข้าสู่กระบวนการความยุติธรรมอย่างรวดเร็ว โปร่งใส่ เป็นธรรม และนำเสนอข้อเท็จจริงให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม

  3. ผู้ที่มุ่งหมายก่อเหตุความรุนแรง ต่อพลเรือนที่ไม่มีอาวุธต้องหยุดการกระทำอันน่ารังเกียจไม่อาจยอมรับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน และบุคคลในศาสนาซึ่งไม่มีอาวุธและไม่ใช่คู่ขัดแย้งของท่าน จึงขอให้หยุดการกระทำอันน่ารังเกียจดังกล่าวโดยทันที

  4. ขอให้สังคมไทย ให้ความสำคัญกับการกำกับ ติดตาม การสร้างสันติภาพในชายแดนใต้ของไทยอย่างใกล้ชิดและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบรรยากาศของการอยู่ร่วมกันอย่างเคารพ ให้เกียรติ และเห็นคุณค่าของเพื่อนมนุษย์ในสังคม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active