ประณามเหตุรุนแรงใต้ ‘เด็ก-คนชรา-พิการ’ ตกเป็นเหยื่อ

กสม. ออกแถลงการณ์ เรียกร้องผู้ไม่หวังดี ยุติปฏิบัติการอันโหดร้าย ป่าเถื่อน ไร้มนุษยธรรม และขัดต่อหลักการอันดีของทุกศาสนา ‘สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ’ วอน ผู้มีอำนาจ เดินต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ จริงจัง ต่อเนื่อง หวังพื้นที่การสื่อสารที่ปลอดภัย ลดใช้ความรุนแรง ขณะที่ โพล ชี้ชัด รัฐบาลไม่จริงใจดับไฟใต้  

กรณีเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งในช่วงเวลานี้การก่อเหตุพุ่งเป้าไปที่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ กลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก คนชรา และคนพิการ อย่างกรณีล่าสุดที่ปรากฏเหตุในพื้นที่ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ทั้งกรณีที่คนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิงเข้าไปบริเวณบ้านหลังหนึ่งใน อ.ตากใบ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน มีทั้งชายชรา และเด็กหญิงอายุ 9 ขวบ และกรณีที่คนร้ายขี่รถจักรยานยนต์ประกบยิงรถจักรยานยนต์ของหญิงชราตาบอด และบุตรชายในพื้นที่ อ.จะแนะ ขณะกำลังกลับจากโรงพยาบาล เป็นเหตุให้หญิงชราตาบอดเสียชีวิตกลางถนนและบุตรชายซึ่งพิการได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น

วันนี้ (4 พ.ค. 68) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตคณะบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “2 ทศวรรศ แก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 28-30 เมษายน 2568 จำนวน 1,100 คน เกี่ยวกับ สถานการณ์ ความปลอดภัย ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ 

พบว่า ร้อยละ 33.45 ระบุสถานการณ์แย่เหมือนเดิม รองลงมาร้อยละ 20.36 สถานการณ์ดีเหมือนเดิม ร้อยละ 18.55 สถานการณ์ค่อนข้างดีขึ้น ร้อยละ 14.64 สถานการณ์ค่อนข้างแย่ลง ร้อยละ 10.00 สถานการณ์แย่ลงมากและร้อยละ 3.00 สถานการณ์ดีขึ้นมาก 

ส่วนการพัฒนาความเจริญในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานั้น พบว่า ร้อยละ 42.18 การพัฒนาค่อนข้างดีขึ้น รองลงมาร้อยละ 37.45 ไม่ค่อยมีการพัฒนาเท่าไหร่ ร้อยละ 14.55 ไม่มีการพัฒนาเลย และร้อยละ 5.82 พัฒนาดีขึ้นมาก

ในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ร้อยละ 13.55 ดีเหมือนเดิม รองลงมาร้อยละ 30.64 ค่อนข้างดีขึ้น ร้อยละ 19.91 แย่เหมือนเดิม ร้อยละ 7.09 ค่อนข้างแย่ลง ร้อยละ 5.64 ดีขึ้นมาก ร้อยละ 3.00 แย่ลงมาก

การให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล พบว่า ร้อยละ 42.36 ไม่ค่อยให้ความสำคัญ ร้อยละ 31.82 ไม่ให้ความสำคัญเลย ร้อยละ 18.82 ค่อนข้างให้ความสำคัญ ร้อยละ 5.91 ให้ความสำคัญมาก

ส่วนการให้ความสำคัญกับนโยบายการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กับการตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้งครั้งต่อไป พบว่าร้อยละ 47.55 ให้ความสำคัญมาก รองลงมาร้อยละ 27.36 ค่อนข้างให้ความสำคัญ ร้อยละ 15.55 ไม่ค่อยให้ความสำคัญ และร้อยละ 9.18 ไม่ให้ความสำคัญเลย

ด้าน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 68 ประณามการก่อเหตุรุนแรงต่อประชาชนกลุ่มเปราะบาง เป็นเหตุให้เด็ก คนชรา และผู้พิการ เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส โดยย้ำว่า เป็นการกระทำอันโหดร้าย และอุกอาจของกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่จงใจฆ่า และทำร้ายประชาชนที่มีทั้งเด็ก ผู้หญิง คนชรา และผู้พิการ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ไม่อาจต่อสู้และคุ้มครองตนเองได้ และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งไปยังครอบครัวและญาติมิตรของผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ

กสม. ขอเน้นย้ำว่า การใช้ความรุนแรงจนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และเรียกร้องให้ผู้ไม่หวังดียุติปฏิบัติการอันโหดร้าย ป่าเถื่อน ไร้มนุษยธรรม และขัดต่อหลักการอันดีของทุกศาสนา

โดยขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันประณามและส่งเสียงที่แสดงถึงการไม่ยอมรับพฤติกรรมที่โหดร้ายและการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ 

กสม. ขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสืบสวนสอบสวนนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายโดยเร็ว เพิ่มมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยและสวัสดิภาพให้แก่ประชาชน รวมทั้งเยียวยาความเสียหายอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

เช่นเดียวกับ สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (Civil Society Assembly For Peace – CAP) ออกแถลงการณ์ แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ย้ำว่า ความสูญเสียของผู้คนคือความเจ็บปวดที่ไม่อาจประมาณค่า และเป็นบาดแผลที่สะท้อนถึงความเปราะบางของสังคม

“เราขอร่วมไว้อาลัยต่อการจากไปที่ไม่ควรเกิดขึ้น และขอส่งกำลังใจไปยังครอบครัวผู้สูญเสีย ให้สามารถยืนหยัดและก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งความเศร้าโศก ด้วยพลังแห่งศรัทธาและความหวัง”


“อัลลอฮ์ ตรัสว่า : ผู้ใดให้ชีวิตแก่ชีวิตหนึ่งเสมือนว่าเขาได้ให้ชีวิตแก่มนุษยชาติทั้งมวล (อัลกุรอาน 5:32) ”

เราขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายและขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพดำเนินการพูดคุยอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดพื้นที่ของการสื่อสารที่ปลอดภัยลดการใช้ความรุนแรง และสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน ถึงเวลาที่เราทุกคนต้องร่วมกันปกป้องคุณค่าของชีวิตสร้างสังคมที่ยึดมั่นในความเป็นธรรม และเอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรี

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active