นักรัฐศาสตร์ ย้ำ กระบวนการเจรจาสันติภาพ ชะงักทำไฟใต้ปะทุ ระบุ สถิติชี้ชัด เดินหน้าพูดคุยช่วยลดเหตุการณ์ความไม่สงบได้จริง เชื่อ ยิ่งเกิดความรุนแรง ฝ่ายขบวนการฯ ยิ่งสูญเสียความชอบธรรมทางการเมือง ฝาก ‘ภูมิธรรม-รัฐบาล’ เดินหน้าพูดคุยให้ได้ก่อน ถึงจะรู้ใครตัวจริง
ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยย้ำ เหตุผลที่ทำให้ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ปะทุขึ้นในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาจมาจากการหยุดชะงักของกระบวนการเจรจาสันติภาพ ซึ่งพบว่าได้หยุดนิ่งมาเป็นเวลาเกือบ 1 ปีแล้ว ซึ่งข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ชี้ชัดว่า นับตั้งแต่มีการเริ่มต้นกระบวนการเจรจาสันติภาพในปี 2556 เป็นต้นมา พบว่า สถิติเหตุการณ์ความไม่สงบได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นั่นเพราะกระบวนเจรจาสันติภาพเป็นพื้นที่ให้คู่ขัดแย้งสามารถต่อรอง แลกเปลี่ยนข้อมูลและมีส่วนสร้างความไว้วางใจต่อกัน เพื่อระงับไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้นได้

ชญานิษฐ์ ยังบอกว่า การที่ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงกลาโหม เคยให้สัมภาษณ์ว่า “เราจะไม่คุย ถ้าไม่ใช่ตัวจริง” นั้น เป็นการสร้างเงื่อนไขในการพูดคุยสันติภาพที่น่ากังวล เพราะถ้าไม่เริ่มต้นคุยแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นตัวจริงหรือไม่ ในขณะเดียวกัน ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ที่มีการทุ่มงบประมาณจำนวนมากต่อความพยายามแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ทางการไทยยังไม่ทราบเลยหรือว่าใครเป็นตัวจริงหรือไม่เป็นตัวจริง
“ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น หากยังไม่เกิดกระบวนการพูดคุยกันอีก อาจแปลความได้ว่าทั้งรัฐบาลไทยและขบวนการติดอาวุธ ไม่ได้มีเจตจำนงที่จะสร้างสันติภาพอย่างแท้จริง ผลคือความชอบธรรมของทั้งรัฐบาลและขบวนการจะลดลงเรื่อยๆ และทั้งสองฝ่ายก็จะไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างที่พยายามกล่าวอ้างมาโดยตลอด เพราะขณะนี้ประชาชนประสานเสียงต้องการให้เกิดการพูดคุย ฉะนั้นการพูดคุยเร็วเท่าไหร่ยิ่งเป็นผลดีกับทุกฝ่ายมากขึ้นเท่านั้น”
ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์
หนุนเดินหน้าเจรจาสันติภาพ แก้ปัญหาความรุนแรง
นักรัฐศาสตร์ ยังระบุด้วยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เหตุการณ์ความรุนแรงต่อพลเรือนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ภาคประชาสังคมและประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่เป็นชาวมลายูมุสลิม และไทยพุทธ ต่างก็แสดงความต้องการไปในทิศทางเดียวกัน คือ เรียกร้องให้รัฐบาลและขบวนการกลับสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพโดยเร็ว ผลการสํารวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเครือข่ายวิชาการ PEACE SURVEY นับตั้งแต่ปี 2559 จนถึง พ.ศ. 2566 รวมทั้งสิ้น 7 ครั้ง โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นทั้งชาวมลายูและคนไทยพุทธ อายุ 18-70 ปี จำนวนรวมกว่า 10,581 คน ทั่วจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั้ง 7 ครั้ง สนับสนุนให้ใช้การพูดคุยสันติภาพเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาความรุนแรง และไม่เคยมีผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนครั้งใดเลยที่ได้รับคำตอบว่าสนับสนุนการพูดคุยสันติภาพ น้อยกว่าร้อยละ 55

“ความไม่สงบจนเป็นผลให้มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตจำนวนไม่น้อยนั้นถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างยิ่ง แม้ว่าหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าอาจจะเป็นการกระทำจากขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) แต่ล่าสุดขบวนการ BRN ก็ได้ออกแถลงการณ์แสดงเสียใจต่อเหตุรุนแรง และยืนยันไม่มุ่งโจมตีพลเรือน แม้ว่าการปะทุขึ้นของความรุนแรงในปี 2547 จะสามารถทำความเข้าใจได้ว่าเป็นผลมาจากประวัติศาสตร์ และความรู้สึกที่ได้รับการกดขี่หรือถูกกระทำ แต่ก็คงไม่มีเป้าหมายไหนจะสูงส่งพอที่จะอนุญาตให้คุณทำร้ายคนชรา เด็ก และผู้พิการได้ มันเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถยอมรับได้”
ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์
วอนอย่าโหมกระแสเกลียดชังเหมารวม
ทั้งนี้ แม้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชายแดนใต้ ทางหนึ่งจะเป็นการต่อสู้กันทางอาวุธ แต่ในอีกมุมก็ยังเป็นพื้นที่ของการต่อสู่ทางการเมืองด้วย เพราะทั้งรัฐไทยและขบวนการติดอาวุธ ต่างฝ่ายต่างก็ต้องพยายามช่วงชิงความชอบธรรมระหว่างกันด้วย ส่วนตัวมองว่า การที่ขบวนการติดอาวุธทำเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้ตัวขบวนการฯ ต้องสูญเสียความชอบธรรมทางการเมืองไป ถือเป็นความพ่ายแพ้ทางการเมือง
ชญานิษฐ์ ย้ำถึงความน่ากังวลต่อปรากฏการณ์ความรุนแรงซึ่งมีเป้าหมายพลเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นอีกประการหนึ่ง คือ กระแสการเหมารวมและเกลียดชังมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกร้องให้รัฐใช้ความรุนแรงปราบปรามอย่างเด็ดขาดโดยไม่แยกแยะเป้าหมาย อารมณ์โกรธแค้นของสังคมอาจทำให้หลงลืมข้อเท็จจริงสำคัญประการหนึ่งไปว่า การมีอัตลักษณ์มลายู และนับถือศาสนาอิสลามไม่ได้หมายความว่าใครคนหนึ่งจะต้องเห็นด้วย หรือสนับสนุนขบวนการฯ ไปโดยปริยาย ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ก็ไม่ต่างจากปุถุชนที่ไหน ๆ ตรงที่ต้องการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยและสงบสุข
“การเหมารวมโหมกระแสความเกลียดชัง และเรียกร้องให้รัฐปรามปรามด้วยความรุนแรงโดยไม่แยกแยะ น่าจะยิ่งส่งผลให้สันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ยิ่งห่างไกลออกไปอีก”