พบเอกสารไม่ครบถ้วน ต้องขอข้อมูลแพทยสภาเพิ่ม รมว.สธ. ย้ำ นายกฯ ไม่กำชับอะไร ปล่อยเป็นหน้าที่ ยันไม่แทรกแซง ไม่กดดัน พร้อมพิจารณายึดหลักตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม
หลังจาก สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับมติแพทยสภา มาเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 68 และมีเวลาพิจารณา 15 วัน (ไม่รวมเสาร์-อาทิตย์) ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 31 พ.ค. 68 ในช่วงนี้จึงได้เห็นปฏิกิริยาความเคลื่อนไหวหลากหลายจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
วันนี้ (20 พ.ค. 68) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีประชุมคณะกรรมการเสนอความเห็นสภานายกพิเศษเพื่อพิจารณา ตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 เพื่อพิจารณามติแพทยสภา ลงโทษแพทย์ที่รักษา ทักษิณ ชินวัตร โดยคณะกรรมการชุดนี้ถูกแต่งตั้งโดย รมว.สาธารณสุข เพื่อพิจารณาว่าจะ “เห็นด้วย” หรือ “วีโต้” มติแพทยสภาดังกล่าว
สมศักดิ์ บอกว่า ไม่ได้ร่วมประชุม แต่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการผู้รู้ 10 คน มาช่วยพิจารณา เนื่องจากเอกสารมีจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ส่งมาให้ทางคณะกรรมการชุดนี้พิจารณายังไม่ครบถ้วน
“การพิจารณาครั้งนี้ต้องขอข้อมูลประกอบการพิจารณาจากคณะกรรมการแพทยสภา ซึ่งมีกรรมการ 4 ชุด เพื่อให้เนื้อหาต่อเนื่องกัน แต่ตอนนี้ข้อมูลที่ขอไปนั้นยังไม่ครบ ต้องรอเอกสารก่อนเพื่อประกอบการพิจารณาว่าจะยับยั้งหรือไม่อย่างไร”
สมศักดิ์ เทพสุทิน
เอกสารยังขาด ต้องขอข้อมูลเพิ่ม
นายกองตรีธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการฯ ได้แถลงให้ข้อมูลว่า การประชุมนัดแรกเป็นการหารือถึงแนวทาง และรายละเอียดพอสังเขป
โดยคณะกรรมการฯ พบว่า เอกสารจากแพทยสภามีหลายพันหน้า แต่มีเอกสารบางส่วนยังขาด โดยเฉพาะในขั้นตอนของคณะกรรมการกลั่นกรอง จึงมีความเห็นว่าต้องให้สภานายกพิเศษขอข้อมูลเพิ่มเติม
“เราจะเร่งประชุมในสัปดาห์นี้ หากเอกสารแพทยสภาส่งมาไว แต่หากเลยสัปดาห์นี้ ก็จะมีการประชุมสัปดาห์หน้าคือวันที่ 26 พ.ค. เวลา 14.00 น. และนำเสนอต่อสภานายกพิเศษ คาดว่าต้องแล้วเสร็จส่งสภานายกพิเศษภายใน 29 พ.ค. นี้”
นายกองตรีธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์
ยันทำงานตามกรอบเวลา ไม่แทรกแซง ไร้แรงกดดัน
สมศักดิ์ ยังกล่าวถึงกรอบเวลาว่า หนังสือมติแพทยสภา มาถึงวันที่ 16 พ.ค. ก็นับไปอีก 15 วันรวมวันเสาร์อาทิตย์ น่าจะประมาณวันที่ 31 พ.ค. ซึ่งก็ควรต้องพิจารณาแล้วเสร็จวันที่ 28 – 29 พ.ค.นี้
เมื่อถูกถามว่ากดดันหรือไม่ เพราะสังคมมองว่าในฐานะสภานายกพิเศษแพทยสภา จะวีโต้มติดังกล่าวนั้น สมศักดิ์ ตอบว่า คนอื่นกดดันมากกว่าตนเยอะ ซึ่งตนไม่ได้เข้าไปแทรกแซง มีคณะกรรมการขึ้นมาช่วยพิจารณา ตนก็ไม่กดดัน
ทั้งยังย้ำว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้มีการกำชับหรือพูดเรื่องนี้เลย เพราะรู้ว่าเป็นกรอบการทำงานตามหน้าที่ของตน ยืนยันจะใช้มาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 เป็นหลักในการพิจารณา
หลากมุมมอง มติแพทยสภา ลงโทษแพทย์ ปมชั้น 14
ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมา มีความเห็นจากหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์กรณีมติแพทยสภาออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ
นพ.วีระพันธ์ สุวรรณนามัย สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 68 ระบุว่า นักการเมืองที่ไม่มีความรู้ด้านการแพทย์ไม่ควรแย้งมติแพทยสภา เนื่องจากมติแพทยสภาเป็นผลจากกระบวนการตรวจสอบอย่างรอบคอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์
ขณะที่ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อดีตนายกแพทยสภา ได้ตั้งคำถามเช่นกัน ว่า หากมี พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ควรจะมีสภานายกพิเศษหรือไม่ และถ้ามี ควรจะมีอำนาจในการยับยั้งมติของคณะกรรมการแพทยสภาหรือไม่
ด้าน ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุขฝ่ายการเมือง ได้ตอบโต้ นพ.วีระพันธ์ โดยชี้แจงว่า รมว.สธ.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 10 คนเพื่อพิจารณามติลงโทษแพทย์ตามอำนาจหน้าที่ใน พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม มาตรา 25 ซึ่งให้สิทธิ์รัฐมนตรีในฐานะสภานายกพิเศษพิจารณามติแพทยสภาภายใน 15 วัน
สำหรับคณะกรรมการเสนอความเห็นสภานายกพิเศษเพื่อพิจารณา ตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ประกอบด้วย
- ชัยนันท์ งามขจรกุลกิจ เป็น ประธาน
- ชัยวัฒน์ พัฒนาพิศาลศักดิ์ เป็นที่ปรึกษา ส่วนกรรมการประกอบด้วย
- พงษ์ศักดิ์ แก้วกมล
- พิทักษ์ ฉันทประยูร
- พสิษฐ์ อัศววัฒนาพร
- นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์
- นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์
- วชิระ ปากดีสี เป็นกรรมการและเลขานุการ คนที่ 1
- วิทยา พลสีลา เป็นกรรมการและเลขานุการ คนที่ 2
- ปิยะวัฒน์ ศิลปรัศมี เป็นกรรมการและเลขานุการ คนที่ 3