แนะกำหนดนโยบายบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามข้อมูลวิชาการทางวิทยาศาสตร์ และหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน มากกว่ามุ่งเน้นเอาชนะคู่ต่อสู้อย่างเดียว
วันนี้ (10 ม.ค.65) บรรจง นะแส ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง สมาคมรักษ์ทะเลไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่องนโยบายพรรคการเมืองต่อบทบาทในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทะเลไทย
โดยมีข้อความสำคัญระบุว่า ใกล้วันเลือกตั้งเข้ามาทุกขณะ พรรคการเมืองกำลังเสนอนโยบายของพรรคเพื่อให้ตอบโจทย์ของปัญหาในแต่ละด้าน ที่ผ่านมามีพรรคการเมืองหลายพรรคให้เกียรติบุกมาถึงสำนักงานฯ มีหลายคำถามที่น่าสนใจ จึงขอประมวลสรุปไว้ เผื่อที่พรรคการเมืองต่าง ๆ สนใจจะนำไปไตร่ตรองว่าควรจะมีนโยบายอย่างไรเกี่ยวกับปัญหาและทางออกของทรัพยากรทะเล
1.เพราะพรรคการเมืองไทยทุกพรรคตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน “สอบตก” ในเรื่องของนโยบายในบริหารจัดการทรัพยากรทะเล วิเคราะห์แบบไว ๆให้ฟัง เพราะทุกพรรคการเมืองไม่ได้เป็นพรรคมวลชนที่แท้จริงแม้แต่พรรคเดียว แต่ส่วนมากเป็นพรรคของกลุ่มทุนทั้งในระดับชาติและทุนท้องถิ่น ในเรื่องทะเลตัวแทนพรรคการเมืองคือเจ้าของธุรกิจทางการประมงตั้งแต่เจ้าของเรือใหญ่ แพปลาโรงงานน้ำแข็ง โรงงานปลาป่นฯลฯ ถ้ามาดูกันในแง่ของฐานมวลชนที่แท้จริงชาวประมงพื้นบ้านทั่วประเทศใน 22 จังหวัด มีจำนวนถึง 85% ของประชากรที่ทำอาชีพประมง แต่ประมงพานิชย์มีเพียง15% แต่พรรคการเมืองทุกพรรคล้วนผูกอยู่กับกลุ่มประมงพานิชย์ที่มีจำนวนเพียง 15% อะไรที่เป็นเช่นนั้นสังคมไทยคงรู้ดี
2.พรรคการเมืองทุกพรรคไม่ทำการบ้านในเรื่องทรัพยากรในทะเลอย่างจริงจัง มองแต่ภาพเฉพาะหน้า ขาดวิสัยทัศน์ในการจัดการทรัพยากรทะเลที่ยั่งยืน และปล่อยให้อำนาจในการต่อรองทั้งในระดับนโยบายและการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินตกอยู่ภายใต้อำนาจของระบบทุนทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ในเรื่องปัญหาทรัพยากรทางทะเล ตนยังไม่ได้ยินพรรคไหนพูดถึงการพัฒนาทรัพยากรในทะเลอย่างยั่งยืนแม้แต่พรรคเดียวแต่มักพูดถึงจะทำอย่างไรให้พี่น้องทั้งประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้านอยู่ร่วมกันให้ได้ เสมือนพยายามคิดค้นนโยบายที่จะเอา “ฝูงลูกเขียดกับงูจงอางมาขังไว้ร่วมกันในโอ่งเดียวกัน” ให้ได้ ซึ่งสะท้อนถึงการไม่ทำการบ้านทั้งในเรื่องต้นทุนทางทรัพยากร การประกอบอาชีพที่หลากหลายและแตกต่างของอาชีพประมงหรือวิทยาศาสตร์ทางทะเลแม้แต่นิดเดียว
3.พรรคการเมืองพยายามคิดรูปแบบที่ทำให้ดูเสมือนการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เช่นเสนอ “สภาชาวประมงแห่งชาติ” ซึ่งก็ดูดีทีเดียว แต่ในทางปฏิบัติอยากให้แต่ละพรรคลองไปศึกษา สภาเกษตรกรแห่งชาติกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร คณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา(เวลาถูกเกษตรกรสาขาอาชีพต่าง ๆ เดือนร้อนแล้วทนไม่ไหวลุกกันขึ้นมาเดินขบวน) ฯลฯ ว่ากลไกเหล่านั้นสามารถตอบสนองการแก้ไขปัญหาได้มากน้อยแค่ไหน และติดขัดตรงไหน การเสนออะไรใหม่ ๆ ให้ดูดี ๆ คงไม่พอ เพราะประชาชนเองก็มีประสบการณ์มาแล้วมากมาย
รูปธรรมของความล้มเหลวในอดีตในการจัดการทรัพยากรทางทะเลที่พรรคการเมืองจะต้องทบทวนเช่น
3.1 กรณีเครื่องมือทำการประมงแบบทำลายล้างที่เรียกว่า “เรือปั่นไฟจับปลากะตัก” ในปี 2526 ประมงพื้นบ้านทั่วประเทศเดือดร้อนกันมาก มีการออกประกาศกระทรวงเกษตรฯโดย บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ รมช.เกษตรฯ ในสมัยนั้น ปัญหาก็ทุเลาเบาบางลง แต่พอถึงปี 2539 มณฑล ไกรวัตนุสสรณ์ ซึ่งก็มาจากธุรกิจประมงพานิชย์ออกประกาศยกเลิกให้กลับไปทำการประมงด้วยวิธีปั่นไฟได้อีก ไม่มีพรรคการเมืองไหนแม้แต่พรรคเดียวที่ลุกขึ้นมาทัดทาน เป็นที่มาของลูกปลาทูตัวเล็กยังถูกทำลายอย่างมหาศาลและต้มตากขายกันเกลื่อนตลาดในปัจจุบัน
3.2 กรณีเรืออวนลาก นักวิชาการกรมประมงได้พยายามทำหน้าที่บอกว่าภาวะทรัพยากรทางทะเลไทยกำลังวิกฤติ อยู่ในภาวการณ์ทำการประมงที่เกินศักยภาพของทะเล(Over Fishing) จากงานวิจัยทุกสำนักสรุปว่า “อวนลาก” คือเครื่องมือทำการประมงที่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนหลากหลายชนิดที่รุนแรงที่สุด จะต้องหาทางยุติ วิธีการในยุคนั้นคือการหาทางยุติโดยวิธีการนิ่มนวลค่อยเป็นค่อยไปโดยออกมาตรการไม่ให้มีการต่ออาญาบัตรและไม่ออกทะเบียนเรือเพิ่ม มีจำนวนเท่าไหร่ก็หยุดแค่นั้น เมื่อเรือเก่าหมดอายุใช้งาน อวนลากก็จะหมดไปจากท้องทะเลไทย แต่มาตรการดังกล่าวไม่ได้ผลเพราะทุกพรรคการเมือง ปล่อยให้มีการ “นิรโทษกรรมเรืออวนลาก”หนแล้วหนเล่า
“ประเทศนี้มีการนิรโทษเรืออวนลากมาแล้ว 4 ครั้ง ปัญหาทรัพยากรในทะเลไทยจึงวิกฤติสุด ๆ เมื่อโดนมาตรการสากลอย่างกรณี IUU FISHING , C.188 ทั้งประมงพาณิชย์ขาใหญ่และกรมประมงตลอดจนกลไกลวก ๆ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า จึงดิ้นกันเป็นไส้เดือนโดนขี้เถ้าอยู่ในปัจจุบัน“
บรรจง นะแส ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง สมาคมรักษ์ทะเลไทย
4.ประเทศเราหลีกมาตรการทางสากลต่าง ๆ ไม่ได้หรอก ไม่ว่าข้อตกลงเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนเช่นเรื่อง SDG ( Sustainable Development Goal) เรื่องทะเลอยู่ในข้อที่ 14, IUU FISHING มาตรการคุ้มครองแรงงานประมง C.188 ฯลฯ เพราะหากเราไม่รับ ไม่ปฏิบัติก็จะส่งผลกระทบต่อภาคส่วนอื่น ๆ อีกมากมาย พรรคการเมืองไม่ควรหาเสียงเพียงเพื่อเอาชัยชนะการเลือกตั้งเฉพาะหน้า ไม่บอกความจริงกับประชาชน แต่เลือกพูด บอกเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ลงไปหาเสียง
5.พรรคการเมืองทุกพรรคจะมีคณะกรรมการนโยบายพรรค ส่วนใหญ่มุ่งเน้นการกำหนดยุทธศาสตร์ในการหาเสียงเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ ไม่ค่อยสนใจข้อมูลทางวิชาการ ซึ่งในเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะเป็นข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ หลาย ๆ กรณีไม่สามารถเอาผลประโยชน์ของกลุ่มทุน สมาชิกมาเป็นที่ตั้งได้ ต้องมีข้อมูลที่เป็นวิชาการเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งเรื่องบริหารจัดการทรัพยากรเป็นหนึ่งในเรื่องเหล่านั้น เรียนมาด้วยความรักในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องมีพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทน และเอาผลประโยชน์ของสังคมโดยรวมเป็นที่ตั้ง