กทม. ร่วมกับ สถานทูตสวีเดน และ ม.ธรรมศาสตร์ ชวนประชาชนวิ่งเก็บขยะจากสวนลุมพินี-สวนเบญจกิติ รักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมรักษาสุขภาพ
วันนี้ ( 29 ส.ค. 65) ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมเพื่อมอบหมายภารกิจในการจัดกิจกรรม “พล๊อกกิ้ง วิ่งเก็บขยะ เพื่อกรุงเทพสีเขียว” Plogging for Green & Clean Bangkok ซึ่ง กรุงเทพมหานคร ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะร่วมกันจัดงานในวันอาทิตย์ 18 ก.ย.65 เวลา 06.00 – 08.00 น.
เส้นทางวิ่งเก็บขยะเริ่มวิ่งจากสวนลุมพินี เขตปทุมวัน สิ้นสุดที่สวนเบญจกิตติ เขตคลองเตย ผู้เข้าร่วมงาน 200 คน ซึ่งวันจัดงานมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมฑูต และ Influencer มากมาย ร่วมกิจกรรม โดยผู้ร่วมกิจกรรมลุ้นรับของรางวัล จาก Fitness 24Seven ฟิตเนสจากสวีเดน และของรางวัลต่างๆมากมาย ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดและการสมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่ เฟสบุ๊คแฟนเพจ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ https://www.facebook.com/prbangkok สำหรับเส้นทางวิ่งเก็บขยะฯ แบ่งออกเป็นเส้นทางย่อย 4 เส้นทาง ประกอบด้วย
เส้นทาง 1 ชุมชนร่วมฤดี: สวนลุมพินี-สะพานเขียว-ร่วมฤดี–วัดมหาไถ่-ข้ามสะพานเขียว-สวนเบญจกิตติ
เส้นทาง 2 ชุมชนโปโล: สวนลุมพินี-ลงด้านใต้สะพานเขียว-โปโล-มัสยิดอินโดนีเซีย-กลับไปสะพานเขียว-สวนเบญจกิตติ
เส้นทาง 3 ชุมชนพระเจน: สวนลุมพินี-ถนนวิทยุ-ซอยโปโล-ซอยพระเจน-หลังซอยโปโล-ขึ้นสะพานเขียว-สวนเบญจกิตติ
เส้นทาง 4 บ่อนไก่: สวนลุมพินี-ซอยโปโล- โปโลคลับ-บ่อนไก่-วิ่งข้ามพระราม 4- โรงงานยาสูบ-สวนเบญจกิตติ
สำหรับ Plogging (อ่านว่า พล๊อกกิ้ง) คือการเก็บขยะในขณะวิ่งจ๊อกกิ้ง เป็นการผสมผสานระหว่างคำว่า plocka upp ในภาษาสวีเดนซึ่งแปลว่า “หยิบ” และวิ่งจ๊อกกิ้ง (jogging) ซึ่งการวิ่งเก็บขยะมีต้นกำเนิดมาจากการจัดกิจกรรมในสวีเดนในปี พ.ศ. 2559 เนื่องจากเกิดความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับมลพิษจากขยะพลาสติก ทำให้กิจกรรมนี้แพร่หลายไปยังประเทศอื่นๆ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คาดกันว่าในแต่ละวันจะมีผู้คนจำนวน 2,000,000 คน ใน 100 ประเทศวิ่งไปและเก็บขยะไปด้วย งาน plogging บางงานสามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมได้มากกว่า 3,000,000 คน
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของงานวิ่งเก็บขยะ “พล๊อกกิ้ง วิ่งเก็บขยะ เพื่อกรุงเทพสีเขียว” Plogging for Green & Clean Bangkok ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2565 นั้น สืบเนื่องจากเป็นหนึ่งวันหลังจากวันทำความสะอาดโลก(World Cleanup Day) ที่ตรงกับวันที่ 17 กันยายน ของทุกปี เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับการร่วมต่อสู้ความท้าทายที่ทั่วโลกต้องเผชิญเกี่ยวกับขยะมูลฝอย นอกจากนี้ยังสอดรับกับนโยบายของกรุงเทพมหานครที่ต้องการให้การเข้าถึงพื้นที่สีเขียวเป็นเรื่องที่ง่ายดายมากขึ้นสำหรับทุกคนและปรับปรุงแก้ไขเรื่องการจัดการขยะในพื้นที่กรุงเทพฯอีกด้วย