กทม. เดินหน้าแก้ไขปัญหา PM2.5 ตั้งศูนย์คุณภาพอากาศ ใช้ Traffy Fondue เป็นตัวช่วยให้ประชาชนแจ้งต้นตอมลพิษ
ช่วงเช้าของหลายวันที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ คงได้รู้สึกถึงปริมาณฝุ่นละอองที่เพิ่มขึ้น เมื่ออากาศเย็นลง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ และวันนี้ (22 ต.ค.2565 ) ก็พบบางพื้นที่ เช่น เขตหนองแขม ที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) ทำให้หน่วยงานอย่าง กรุงเทพมหานคร ที่ต้องเฝ้าระวังเรื่องฟ้า ฝน น้ำท่วมแล้ว ยังต้องรับมือกับ “ฝุ่นพิษ” ไปพร้อมกันด้วย
ตั้งศูนย์คุณภาพอากาศ วิเคราะห์ข้อมูลสำคัญ
โดยเมื่อวานนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ของ กทม. โดยมีคณะกรรมการจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมประชุม เพื่อกำหนดมาตรการจัดการกับปัญหา PM 2.5 โดย ชัชชาติ กล่าวว่า กทม. มีแผนการดำเนินการที่ร่วมกับหน่วยงานอื่นที่ค่อนข้างละเอียดอยู่แล้ว และต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น ขณะนี้ได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ” เสร็จเรียบร้อยและเปิดดำเนินการแล้ว ตั้งอยู่ที่กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม อาคารสำนักการโยธา ชั้น 2 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง ซึ่งเป็นศูนย์ที่รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่ใช้ในการวิเคราะห์ต่อ
ชัชชาติ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ทำในเบื้องต้น คือ การออกตรวจจุดที่มีปัญหาในการก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งในที่ประชุมได้พูดคุยหารือและสรุปว่า PM2.5 ไม่เพียงแต่มีต้นตอมาจากรถที่ปล่อยควันดำอย่างเดียวเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว ยังมีเรื่องของการเผาชีวมวล ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการเกษตรด้วย ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกรุงเทพฯ แต่เกิดขึ้นในพื้นที่โดยรอบกรุงเทพฯ เช่น การปลูกอ้อย และพืชไร่ที่มีการเผาชีวมวล อาจจะรวมถึงต่างประเทศอย่างประเทศกัมพูชา ทำให้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย
3 มาตรการเร่งด่วน รถ – โรงงาน – การเผา
สำหรับการดำเนินการในเรื่องเร่งด่วน 3 เรื่องของ กทม. คือ “รถขนส่ง – รถควันดำ” ชัชชาติ กล่าวว่า ได้ดำเนินการเชิงรุก และกำหนดแผนการตรวจทุกวันตลอดช่วง 2 เดือน โดยความร่วมมือทั้งกรมการขนส่งทางบก กรมควบคุมมลพิษ ตำรวจ โรงงาน และพยายามไปตรวจที่จุดกำเนิด เช่น แพลนท์ปูน ไซต์งานก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ กำหนดให้มีรายงานการตรวจทุกวัน และแจ้งผลว่า จำนวนที่ไม่ผ่านมีเท่าไรบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการตรวจอย่างต่อเนื่อง
“โรงงานอุตสาหกรรม” ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมแจ้งว่า ในกรุงเทพฯ มีประมาณ 6,000 โรงงาน โดยมีอยู่ 260 โรงงาน ซึ่งเป็นโรงงานที่มีความเสี่ยงในการเกิด PM2.5 และจะต้องเฝ้าระวังอย่างละเอียด โดยจะแบ่งแต่ละเขต และให้ ผอ.เขต รับทราบโรงงานที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ และเข้าร่วมตรวจกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งสัปดาห์หน้าจะร่วมลงตรวจกับอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม สุ่มตรวจในโรงงานเหล่านี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจ
และ “การเผาชีวมวล” ชัชชาติ ให้ข้อมูลว่า ปีที่แล้วในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการเผาอยู่ 9 จุด และได้ลงไปคุยในเบื้องต้นแล้ว ว่าจะให้เกษตรกรมีแนวทางลดการเผาอย่างไร ซึ่งเกษตรบอกว่าสามารถทำได้ แต่อาจจะให้ทาง กทม.ช่วยเหลือในเรื่องน้ำมันที่ใช้เก็บตอซังข้าว หรืออาจจะต้องการเครื่องมือมัดฟาง เครื่องมือหรือน้ำยาในการย่อยสลาย เพื่อเปลี่ยนชีวมวลให้กลายเป็นปุ๋ยได้
“พื้นที่ปลูกในกรุงเทพฯ ไม่ได้มีเยอะ ปัญหาจะอยู่นอกพื้นที่ โดย กทม.จะมีการเฝ้าระวังและดูจุดความร้อนจากการเผาไหม้ต่าง ๆ ถ้ามีปัญหาการเผาจะดำเนินการแจ้งกรมควบคุมมลพิษ และดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มข้น…”
นอกจากนั้น หากมีการเผานอกประเทศ กรมควบคุมมลพิษจะเป็นหน่วยงานที่แจ้งองค์กรความร่วมมือของอาเซียน เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างต่างประเทศต่อไป
จับตารถบรรทุก ขนเกินพิกัด ปล่อยฝุ่นพิษ
ชัชชาติ กล่าวต่อว่า มีหลายหน่วยงานที่มีข้อเสนอมา โดยทางสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ได้เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งมีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ จริง ๆ แล้ว รถอีกประเภทหนึ่งที่ปล่อยควันพิษได้ คือ รถบรรทุกที่แบกน้ำหนักเกิน ทำให้เวลาวิ่งต้องใช้พลังเยอะ แต่เวลาตรวจน้ำหนักอาจจะตรวจแบบรถเปล่า ไม่มีปัญหา แต่ไปวิ่งจริงแบกน้ำหนัก รถบรรทุกเกินพิกัดมาก (Overload) ทำให้เกิดโอกาสปล่อยมลพิษออกมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องไปพิจารณากฎหมายว่าเราสามารถควบคุมเรื่องน้ำหนักบรรทุกเกินได้แค่ไหน หรือจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไร
รวมถึงการดูจุดต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ แพลนท์ปูน ขสมก. เป็นต้น ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. แล้วโดยจะลงลึกในรายละเอียดในแง่ของการป้องกัน ซึ่งทุกอย่างได้ดำเนินการตามแผน และจะแจ้งให้ประชาชนทราบถึงความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีระบบการพยากรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ โดยให้กรมควบคุมมลพิษเป็นแม่งานหลัก ในการแจ้งพยากรณ์ล่วงหน้า ซึ่งปัจจุบันสามารถแจ้งพยากรณ์ล่วงหน้าได้ประมาณ 7 วัน แต่ความแม่นยำอาจจะใกล้เข้ามาถึง 3 วัน ว่าฝุ่นจะเป็นอย่างไร ทาง กทม. จะใช้ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษและนำมาสื่อสารให้ประชาชนทราบเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมต่อไป
ในส่วนของโรงเรียน ได้มีมาตรการแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 จัดให้มีกิจกรรม “ธงคุณภาพอากาศ” ในโรงเรียนสังกัด กทม. โดยให้เด็กนักเรียนฝึกอ่านค่าคุณภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ โดยแบ่งธงออกเป็น 5 สี ตามค่าฝุ่นละออง PM2.5 (หน่วย มคก./ลบ.ม.) ที่เทียบกับดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย โดยให้นักเรียนชูธงคุณภาพอากาศเป็นสัญลักษณ์เพื่อเตรียมตัวและป้องกันภัย ซึ่งทำให้เกิดความตระหนักรู้ และกระจายข้อมูลไปยังชุมชน สำหรับมาตรการอื่น ๆ อาจจะพยายามลดการใช้รถยนต์ และให้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น และอาจทำพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการ
“เรื่องมาตรการต่าง ๆ ที่ดำเนินการ เป็นเรื่องที่ต้องเอาจริงเอาจัง ซึ่งเรื่องทั้งหมดเราไม่สามารถทำด้วยตนเองได้ แต่ต้องดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมจริง ๆ และต้องมีการแจ้งผลการดำเนินงานให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่องว่าทำอะไรบ้าง ต้องสร้างความมั่นใจขึ้นมา ไม่ใช่เขียนแผนไว้เพื่อให้มีแผน แต่ไม่ปฏิบัติ ต้องมีแผนและต้องไปปฏิบัติจริง…”
สำหรับ ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ ของ กทม. นี้ จะเป็นศูนย์ข้อมูลกลาง ซึ่งมีการออกรายงานอย่างต่อเนื่อง มีการเตือน มีการเตรียมอย่างเป็นรูปธรรม และต้องมีการสื่อสารให้ชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ร่วมทั้งให้ประชาชนมีส่วนในการแจ้งเหตุในจุดต่าง ๆ เช่น รถปล่อยควันดำ การเผาชีวมวล โดยใช้ Traffy Fondue เป็นช่องทางการสื่อสาร ซึ่งจะเป็นตัวหนึ่งในการช่วยรับแจ้งเหตุต้นตอของมลพิษ