กรมอนามัย แนะ ลดจำนวน 1 กระทง 1 ครอบครัว 1 กลุ่มเพื่อน เลือกวัสดุธรรมชาติ วอนผู้จัดงานคุมเข้มความปลอดภัย ห่วงอุบัติเหตุจากการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ หากพบผู้ได้รับบาดเจ็บโทร 1669 สายด่วยแพทย์ฉุกเฉิน
วันนี้ (8 พ.ย. 2565) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า เทศกาลลอยกระทงปีนี้ หลายพื้นที่ ที่มีการจัดงานลอยกระทง ขอความร่วมมือประชาชนร่วมใจกันลอยกระทงอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการเลือกกระทงที่ทำจากวัสดุจากธรรมชาติ ไม่มีสารก่อมลพิษต่อแหล่งน้ำ เช่น ต้นกล้วย หยวกกล้วย ใบตอง เพราะกระทงที่ทำจากขนมปัง หรือโคนไอศกรีม ใช้ระยะเวลาย่อยสลายประมาณ 3 วัน กระทงที่ทำจากต้นกล้วย ใบตอง กะลามะพร้าว ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 14 วัน กระทงที่ทำจากกระดาษ ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 2 – 5 เดือน และกระทงที่ทำจากโฟม ใช้เวลาย่อยสลายยาวนานที่สุดกว่า 1,000 ปี
อธิบดีกรมอนามัย ยังแนะวิธีลดประมาณขยะจากกระทง ด้วยการลดจำนวนกระทง เหลือ 1 กระทง 1 ครอบครัว 1 กลุ่มเพื่อน ให้ลอยด้วยกัน โดยควรเลือกสถานที่ลอยกระทงที่มีเจ้าหน้าที่เก็บขนขึ้นมา และเป็นแหล่งน้ำปิด ไม่ลอยในแม่น้ำลำคลอง เพื่อไม่ให้วัสดุต่าง ๆ ลอยลงสู่แม่น้ำ สำหรับกระทงขนมปัง ขนมข้าวโพด ควรลอยในแหล่งน้ำที่มีปลาเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย โดยเลือกกระทงที่ไม่ใช้วัสดุหลากหลายเกินไป งดใช้เข็มหมุด พลาสติก โฟม เพราะย่อยสลายยากและเป็นขยะในแหล่งน้ำหรือเลือกลอยกระทงออนไลน์แทน เพื่อลดปริมาณขยะ
สำหรับผู้ประกอบการจัดงาน หรือหน่วยงานต่าง ๆ ขอความร่วมมือคุมเข้มมาตรการความปลอดภัย เช่น ห้ามเล่นประทัด พลุ ดอกไม้เพลิง ปล่อยบั้งไฟ ตะไล โคมไฟ โคมควัน เป็นต้น เนื่องจากการเล่นประทัด พลุ ดอกไม้เพลิง ถือเป็นพฤติกรรมเสี่ยงอันตราย นอกจากจะทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายแล้ว ผู้ที่เล่น ประทัดเอง อาจได้รับอันตรายจากสารเคมี ได้รับบาดเจ็บจนถึงสูญเสียอวัยวะ และก่อให้เกิดอัคคีภัยตามมาได้
นอกจากนี้ การจุดประทัดแต่ละครั้งอาจก่อให้เกิดเสียงที่มีระดับความดังสูงถึง130 เดซิเบล เอ ทำให้เกิดอาการ หูตึงชั่วคราว แต่หากได้ยินติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดอาการหูตึงถาวรได้ ที่สำคัญ ผู้ปกครองต้องเฝ้าระวังบุตรหลานไม่ให้คลาดสายตา เพราะอาจพลัดหลง หรือตกน้ำได้ ทั้งนี้ หากพบเห็นผู้ที่เกิดอันตราย หรือได้รับบาดเจ็บ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ หรือโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร 1669 ได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง