สสจ.เชียงใหม่ – กรมอนามัย ชี้แจงผลตรวจ 3 รอบ ยังไม่เกินเกณฑ์ รับเด็กเล็กบางราย พบค่า สารหนู ขณะที่ หมอเด็ก ชี้ ควรตรวจสารหนูแยกประเภทอินทรีย์ – อนินทรีย์ พร้อมเทียบกรณีรอบเหมืองทองอัครา เคยสุ่มตรวจเด็กกว่า 200 คน พบระดับสารหนูอนินทรีย์ที่สัมพันธ์กับปัญหาพัฒนาการเรียนรู้
หลังการเปิดเผยข้อมูลว่าเด็กเล็ก 2 คน ที่อยู่ในหมู่บ้านริมแม่น้ำกก ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ตรวจพบสารหนู พร้อมข้อสังเกตว่า รัฐปกปิดข้อมูลดังกล่าว หรือไม่นั้น
ล่าสุด หน่วยงานสาธารณสุขทั้งระดับจังหวัด และ กรมอนามัย ยืนยันว่า ผลตรวจสารหนูในปัสสาวะของประชาชนยังไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่ยังคงเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง ขณะเดียวกัน นักวิชาการด้านสุขภาพเด็กเตือนว่า การสุ่มตรวจจำนวนน้อย และไม่แยกประเภทของสาร อาจทำให้ประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าความเป็นจริง
นพ.กิตติพันธุ์ ฉลอม ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ได้สุ่มตรวจสุขภาพประชาชนใน อ.แม่อาย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ รวม 3 รอบ ดังนี้
- 20 เม.ย. 2568 : เก็บตัวอย่างปัสสาวะ 5 ราย ไม่พบโลหะหนักเกินมาตรฐาน
- 28 พ.ค. 2568 : ตรวจซ้ำกลุ่มเดิม ยังอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย
- 3 ก.ค. 2568 : เก็บตัวอย่างเพิ่มเติม อยู่ระหว่างรอผลวิเคราะห์
สำหรับแหล่งน้ำ สสจ.ตรวจน้ำประปาหมู่บ้าน 9 แห่ง ไม่พบโลหะหนักเกินเกณฑ์ แต่พบเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียในบางจุด ซึ่งกำลังดำเนินการแก้ไข

กรมอนามัย ตรวจซ้ำ 3 รอบ พบสารหนู แต่ต่ำกว่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง
นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย ให้สัมภาษณ์กับ The Active ว่า จากการสุ่มตรวจสารหนู (อาร์เซนิก) ในปัสสาวะประชาชน 25 ราย ในพื้นที่ท่าตอน อ.แม่อาย พบว่าทุกคน มีค่าต่ำกว่าเกณฑ์ 100 ไมโครกรัมต่อลิตร โดยเฉพาะเด็กเล็ก 6 คน เช่น เด็กวัย 2 และ 5 ขวบ มีค่า 10.7 และ 32.4 ไมโครกรัมต่อลิตรตามลำดับ
นพ.ธิติ อธิบายว่า การตรวจดังกล่าวเป็นการวัด “Total Arsenic” หรือสารหนูรวม ซึ่ง ไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นสารหนูอนินทรีย์ (ชนิดเป็นพิษจากสิ่งแวดล้อม) หรืออินทรีย์ (จากอาหารทะเล) เนื่องจากข้อจำกัดของห้องปฏิบัติการในพื้นที่
ผลตรวจที่ผ่านมา พบสารอาร์เซนิกในปัสสาวะเกือบทุกตัวอย่าง ยกเว้นเพียง 1 คนที่ไม่พบสารเลย โดยเป็นผู้ใหญ่ ขณะที่เด็กที่ตรวจทั้ง 6 คนล้วนมีค่าในระดับต่ำ ไม่เกินค่าความปลอดภัย
ประสานกรมประมงตรวจเนื้อปลา ยังไม่พบการปนเปื้อนเกินเกณฑ์
นพ.ธิติ ยังกล่าวถึงกระแสข่าว ที่ระบุว่า เด็กในพื้นที่บริโภคปลาจากแม่น้ำกก ว่า ได้มีการประสานงานกับกรมประมงให้สุ่มตรวจสารอาร์เซนิกในเนื้อปลา พบว่าไม่มีตัวอย่างใดเกินค่ามาตรฐาน
อย่างไรก็ดีได้สื่อสารไปยังประชาชนว่า “ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคปลาจากแม่น้ำกกชั่วคราว” เพื่อความปลอดภัย เนื่องจากต้องรอผลตรวจยืนยันเพิ่มเติม
“แม้ผลจะยังไม่พบค่าที่สูงผิดปกติ แต่เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในระยะยาว จึงขอให้ประชาชนงดบริโภคปลาจากแม่น้ำกกไปก่อน”
นพ.ธิติ แสวงธรรม
ย้ำติดตามต่อเนื่อง หากค่าเพิ่มขึ้นจะขยายการตรวจ
กรมอนามัย ยืนยัน จะติดตามกลุ่มเด็กที่ตรวจพบอาร์เซนิกในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหากพบแนวโน้มค่าสารเพิ่มขึ้นจากการตรวจในอนาคต
“เราจะเฝ้าระวังกลุ่มที่ตรวจพบสารอาร์เซนิกแม้ในระดับต่ำ หากมีแนวโน้มสูงขึ้น จะดำเนินการตรวจซ้ำและขยายการเฝ้าระวังในวงกว้างต่อไป”
นพ.ธิติ แสวงธรรม
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ก็ยอมรับว่าการตรวจสารอาร์เซนิกในพื้นที่เป็นงานที่มีข้อจำกัดหลายประการ ทั้งในเรื่องงบประมาณ การเตรียมความพร้อมของชาวบ้าน และกระบวนการจัดเก็บ-ขนส่งตัวอย่างที่ต้องรักษาอุณหภูมิอย่างเข้มงวด

ส่งข้อมูลเข้าสู่คณะกรรมการระดับประเทศ
ข้อมูลทั้งหมดจากการเฝ้าระวังในพื้นที่จะถูกส่งต่อไปยังคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ เป็นประธาน และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำกกระดับนโยบายที่มีรองนายกรัฐมนตรี ประเสริฐ จันทรรวงทอง เป็นประธาน
นพ.ธิติ ระบุว่า ข้อมูลเหล่านี้จะถูกรวบรวมและวิเคราะห์โดยกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งจะออกมาตรการและคำแนะนำแก่ประชาชนเป็นระยะ
“ความเสี่ยงจากการสัมผัสสารอาร์เซนิกโดยตรงในน้ำ หากในระดับต่ำก็อาจไม่มีอาการฉับพลัน แต่การสัมผัสในระยะยาว เช่น 3–5 ปีขึ้นไป อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง”
นพ.ธิติ แสวงธรรม
ทั้งนี้ นพ.ธิติ ย้ำว่า “ไม่ควรตื่นตระหนก” กับสถานการณ์ในขณะนี้ เพราะยังไม่มีสัญญาณความผิดปกติที่ชัดเจน แต่ก็ไม่ควรละเลยการติดตามข้อมูลและข้อแนะนำจากภาครัฐ โดยเฉพาะหากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง
ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ ‘สุ่มน้อยเกินไป – ไม่แยกสาร’ เสี่ยงประเมินต่ำกว่าความจริง
ด้าน รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล และหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ให้สัมภาษณ์ The Active โดยบอกว่า การแปลผลต้องพิจารณาแยกประเภทของสารหนู พร้อมแนะภาครัฐควรขยายการสุ่มตรวจให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยอธิบายว่า สารหนูมี 2 ประเภทหลักคือ
- สารหนูอินทรีย์ (organic arsenic) ซึ่งมักพบจากอาหารทะเล
- สารหนูอนินทรีย์ (inorganic arsenic) ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกายและเกี่ยวข้องกับแหล่งมลพิษในสิ่งแวดล้อม เช่น เหมืองแร่
“ถ้าตรวจแบบรวมโดยไม่แยกประเภท จะไม่สามารถระบุได้ว่าการปนเปื้อนมาจากแหล่งมลพิษหรือจากอาหาร”
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
ในกรณีแม่น้ำกก แม้การตรวจปัสสาวะประชาชน พบสารหนูในระดับไม่เกิน 100 ไมโครกรัมต่อลิตร ซึ่งถือว่า “ไม่เกินค่าที่ต้องกังวล” แต่หากค่าที่วัดเป็นสารหนูอินทรีย์จากอาหารก็อาจไม่สะท้อนความเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อมจริง
“ค่าประมาณ 30 ไมโครกรัมต่อลิตร ยังถือว่าไม่สูง แต่ต้องรู้ให้ได้ว่าเป็นอินทรีย์หรืออนินทรีย์ จึงจะสรุปได้”
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ยังตั้งข้อสังเกตว่า การสุ่มตรวจเพียง 25 คนในพื้นที่ที่แม่น้ำปนเปื้อนอย่างหนัก อาจไม่เพียงพอ โดยยกตัวอย่างว่า ในกรณีพื้นที่รอบเหมืองทองคำที่ จ.พิจิตร เคยมีการสุ่มตรวจเด็กกว่า 200 คน และพบระดับสารหนูอนินทรีย์ที่สัมพันธ์กับปัญหาพัฒนาการเรียนรู้ โดยหลังเหมืองหยุดประกอบกิจการตรวจพบสารหนูในเด็กลดลง 12 เท่า
“หากสงสัยการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมจริงๆ ควรสุ่มตรวจประชากรกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเด็กและผู้หญิงตั้งครรภ์”
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
ทั้งยังเสนอว่าควรใช้ค่าประมาณ 35 ไมโครกรัมต่อลิตรของสารหนูอนินทรีย์ เป็น “ค่าที่ควรให้ความสนใจ” แม้จะไม่ถึงระดับพิษเรื้อรังก็ตาม
สำหรับกรณีแม่น้ำกกที่มีข้อสงสัยว่าการปนเปื้อนอาจเกี่ยวข้องกับเหมืองทองในฝั่งเมียนมา รศ.นพ.อดิศักดิ์ระบุว่า หากมีข้อมูลยืนยันแหล่งปนเปื้อน ควรเทียบกับกรณีศึกษาเดิมในไทย เช่น กรณีเหมืองทองอัคราฯ เพื่อประเมินความเสี่ยงได้รอบด้าน
“เหมืองทองไม่ใช่สิ่งที่ทำแบบลับๆ ถ้ามีอยู่ก็ควรตรวจสอบ ไม่ใช่คาดเดา”
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ยังเสนอว่าภาครัฐควรตรวจให้ชัดเจนโดยใช้วิธีที่แยกประเภทสารหนู และเพิ่มจำนวนกลุ่มตัวอย่าง พร้อมเน้นว่า การตรวจน้อย อาจให้ภาพลวงตาว่าไม่มีปัญหา ทั้งที่อาจมีการปนเปื้อนจริง