ศิลปิน เผย นิทรรศการกระสอบเป็นการตระหนักรู้และเห็นปัญหาร่วมกันของสังคม ย้ำ’ข้าวโพด’ไม่ใช่ทั้งหมดของปัญหาฝุ่นควัน แต่เกี่ยวพันปัญหาที่ดินทำกิน แนะรัฐเก็บข้อมูลพื้นที่ให้ชัดเจนเพื่อแก้ปัญหา
27 พ.ย. 2565 กลุ่มศิลปิน haze boundary lab คือการรวมตัวกันของศิลปินเพื่อสื่อสารประเด็นอำนาจของ ‘เกษตรพันธสัญญา’ โดยกลุ่มทุนใหญ่ที่ครอบงำเกษตรกรแทบทุกมิติ และเป็นตัวการก่อให้เกิดมลพิษข้ามพรมแดน โดยสื่อสารผ่านกราฟฟิตี สารคดี และศิลปะที่ทำจากกระสอบ ในงานเทศกาลเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ครั้งที่ 2 (Eat Healthy Breathe Happily) กลุ่มศิลปิน haze boundary lab ระบุว่า นิทรรศการเกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการรวมตัวกันของศิลปินหลายคน ในสัญญะของกระสอบ ที่นำมาทำเป็นชิ้นงานศิลปะ กล่าวว่า กระสอบเป็นตัวแทนของวัตถุบรรจุภัณฑ์ที่บอกเล่าถึงอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์จากข้าวโพดตลอดห่วงโซ่การผลิต ไม่ว่าจะเป็นกระสอบเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรต้องซื้อจากบริษัทกลุ่มทุนทุกปีโดยไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์กลับมาปลูกต่อในปีต่อไป กระสอบปุ๋ยที่ใช้เพื่อการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ได้ผลผลิตตามเงื่อนไข เพื่อใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ จะเห็นได้ว่าแบรนด์ที่ติดอยู่บนกระสอบเป็นบริษัทกลุ่มทุนใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า ส่งผลให้เกษตรกรไม่มีทางเลือกมากนัก
อนุสรณ์ ธัญญะปาลิต ตัวแทนกลุ่มศิลปิน haze boundary lab กล่าวว่า ศิลปะมีหลากหลาย ทั้งแบบการค้าขาย แบบพิพิธภัณฑ์ แต่สำหรับเขา มองว่าศิลปะไม่ควรอยู่เพียงในพื้นที่ทางศิลปะกระแสหลัก แต่ควรที่จะให้คุณค่ากับชุมชนหรือสังคมในทุกๆมิติ การสื่อสารผ่านศิลปะสำหรับตัวของศิลปิน มองว่าควรจะมีพื้นที่ในการสื่อสารที่หลากหลายลักษณะกิจกรรมหรือว่าเทศกาลที่เป็นลักษณะเช่นนี้ด้วย
อนุสรณ์ กล่าวถึง ผลงานแผนที่ ว่าเกิดจากการศึกษาข้อมูล ของกรีนพีซ ประเทศไทยและ ศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ร่วมกันทำวิจัยในพื้นที่ภาคเหนือ ในระยะเวลา 20 ปีซึ่งพบการขยายตัวของทุน มันไม่ใช่เพียงแค่ภาคเหนือแต่ลุกลามไปใน พื้นที่รัฐฉาน ของประเทศพม่า และพื้นที่บางส่วนของประเทศลาว
“สิ่งนั้นกำลังสะท้อนให้เห็นว่าความเป็นทุนความต้องการไม่มีที่สิ้นสุดมันเลยจำเป็นต้องขยายพื้นที่การผลิตข้ามแดนซึ่ง ก็มีกลไกของรัฐที่บอกว่าการนำเข้าเมล็ดพันธุ์อาหารสัตว์มันเสียภาษีน้อย หรือ เกือบ 0 % ด้วยซ้ำ ทำให้เอื้อต่อทุนและรัฐในการนำเข้าและขยายไปในพื้นที่อื่น”
อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า นิทรรศการครั้งนี้ เป็นการตระหนักรู้ร่วมกันและเห็นปัญหาร่วมกัน เพราะว่าทุกคนเป็นส่วนร่วมของสังคมปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวมลพิษเป็นปัญหาของเชียงใหม่อยู่แล้ว จากสถิติที่เป็นข้อมูลจริง และเห็นภาพชัด เรื่องของอากาศในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยิ่งทำให้ขบคิดอยู่ตลอดเวลา ว่าตัวเราจะช่วยแก้ไขอย่างไร
“ซึ่งสำหรับตัวของศิลปิน มันไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการวิพากษ์หรือทำงานเพียงแค่กับชุมชนแต่ต้องดูและศึกษาด้วยว่ากลไกที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่เพียงแค่ภาคของเกษตรกร แต่อยู่ในลักษณะของโครงสร้างรูปแบบรัฐทุน และกฎหมาย อย่างกลไกทางกฎหมาย แนะว่าควรที่จะมีออกมา อย่างเช่น พระราชบัญญัติอากาศสะอาด แผนพัฒนาเศรษกิจและสังคมแห่งชาติ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ที่ออกมาซึ่งมีข้อขัดแย้งเรื่องนี้ควรที่จะเอามาพูดคุยกัน”
ภูวมินทร์ อินดี ศิลปินเจ้าของผลงานสารคดี ที่ถูกจัดฉายในนิทรรศการ กล่าวว่า ข้อมูลที่ใช้ในวิดีโอใช้เวลาถ่ายทำประมาณ 2 ปี ขณะนั้นทำงานร่วมกันกับสภาลมหายใจเชียงใหม่ ซึ่งโจทย์ใหญ่ ๆ ที่ทำคือการลงสำรวจพื้นที่เที่เปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดมาเป็นพืชชนิดอื่นและการปลูกพืชสร้างรายได้อื่นที่ป้องกันไม่ให้ข้าวโพดรุกล้ำเข้ามา เพื่อทำฐานข้อมูลและสื่อสาร ซึ่งมีพื้นที่ที่ปลูกมะแข่วน ปลูกมะม่วงหิมพานต์ รวมถึงการทำข้อมูลภาพรวมของฝุ่นและปัญหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ก่อให้เกิดฝุ่น เริ่มตั้งแต่ความจำเป็นที่เกษตรกรต้องปลูกข้าวโพด และพบว่าการปลูกไม่ได้เกิดขึ้นมาแบบโดด ๆ แต่มีการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ ซึ่งพออุตสาหกรรมใหญ่ขึ้นความต้องการการผลิตอาหารมารองรับก็ต้องเพิ่มขึ้น อีกทั้งประเทศไทยมีการส่งออกเนื้อไก่ในปริมาณมาก จึงส่งผลถึงพื้นที่ปลูกข้าวโพดที่เพิ่มขึ้น
“หนึ่งในข้อเท็จจริงคือการปลูกข้าวโพดใช้ระยะเวลาสั้นไม่ยาวมากสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตเร็ว และพันธุ์ของข้าวโพดถูกพัฒนามาย่างต่อเนื่องสามารถเติบโตในพื้นที่ที่ใช้น้ำน้อยได้ดี และต้องยอมรับว่าหากปลูกข้าวโพดในภูเขาที่มีความลาดชันสูงหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จชาวบ้านจำเป็นจะต้องเผาเพื่อที่จะเตรียมที่ในการทำฤดูกาลเก็บเกี่ยวถัดไป”
อีกหนึ่งข้อค้นพบตัวศิลปิน เล่าว่า ชาวบ้านสะท้อนคือเรื่องของสิทธิในการถือครองที่ดินก็เป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ข้าวโพดขยายตัวและเป็นที่นิยมมาก เนื่องจากว่าบริเวณภาคเหนือส่วนมากที่อยู่บนภูเขาชาวบ้านจะพบกับปัญหาเรื่องสิทธิในการถือครองที่ดิน เมื่อไม่มีสิทธิ์ในการถือครองที่ดินอย่างชัดเจน การทำเกษตรระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนได้เร็วจึงเป็นทางเลือกให้กับคนในพื้นที่
“ส่วนใหญ่ที่ผ่านมาจะติดปัญหาเรื่องกฎหมาย เช่น เรื่องพื้นที่ของชาวบ้านทับซ้อนกับเขตป่า อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่าสิทธิ์การถือครองที่ดินเป็นปัจจัยสำคัญเพราะการจัดการพื้นที่ไม่ชัดเจนจึงทำให้มีปัญหา แม้จะมีการพยายามทำโมเดลทดลองปลูกพืชชนิดอื่นเพื่อลดการปลูกข้าวโพด แต่หากไม่จัดการเรื่องสิทธิ์การถือครองที่ดินก็จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการเกษตรได้ค่อนข้างยาก”
ภูวมินทร์ กล่าวว่า ในแง่ปัญหาของที่ดินหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องแก้ปัญหาด้วยการเร่งสำรวจพื้นที่บริเวณนั้นทำเป็นฐานข้อมูล ซึ่งจากการทำงานค้นคว้าข้อมูลทำให้เห็นว่าที่ผ่านมาไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนพอ คาดหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการข้อมูลให้ชัดเจนขึ้นที่สุดอาจช่วยเป็นข้อมูลพื้นฐานในการแก้ปัญหาในลำดับต่อไปได้
“บริษัทที่รับซื้อข้าวโพดควรออกมาเปิดเผยว่าข้าวโพดที่รับซื้อเป็นส่วนหนึ่งในการเกิดปัญหาฝุ่นควันหรือไม่ พูดง่ายๆ คือบริษัทได้ตรวจสอบต้นตอที่มาของข้าวโพดหรือไม่ว่าพื้นที่นั้นมีการเผาหรือเปล่า และหากจะลดฝุ่นควันด้วยการควบคุมพื้นที่การปลูกข้าวโพด ควรจะต้องมีการเก็บข้อมูลที่ชัดเจนและเผยแพร่ให้คนทั่วไปสามารถเข้าไปตรวจสอบได้”
ทั้งนี้ย้ำว่าข้าวโพดไม่ใช่ทั้งหมดของปัญหาฝุ่นควันเป็นเพียงส่วนหนึ่งแต่เป็นส่วนที่ใหญ่ที่ทำให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อม หนี้สิน และสารเคมี
“ท้ายที่สุด รู้สึกว่าไม่มีเกษตรกรคนไหนอยากทำให้การเกษตรสร้างมลพิษ จากการลงพื้นที่ชาวบ้านรู้ว่าเกิดปัญหาแต่มันมีความซับซ้อนมากกว่านั้น ปัญหาหลักของพวกเขาคือปากท้องการไม่มีกินมีผลต่อเขากว่าการป่วยระยะยาวซึ่งเป็นปัญหาที่ยากที่จะแก้”
กิจกรรมและนิทรรศการครั้งนี้ มีขึ้นระหว่างที่ภาคเหนือกำลังจะเข้าสู่ปัญหาสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก และหมอกควันจากไฟป่า โดยวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ประกอบด้วย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน ได้ประชุมร่วมกันเพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าในพื้นที่ พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบูรณาการการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยทั้ง 4 จังหวัดได้กำหนดช่วงเวลาห้ามเผาในที่โล่งทุกชนิด ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ไปจนถึง 30 เมษายน 2566 เพราะประเมินว่า เป็นช่วงเวลาที่สภาพอากาศค่อนข้างนิ่งกว่าปกติ
ที่มารูปภาพ : กรีนพีซ ประเทศไทย และ สม-ดุล เชียงใหม่