ชวนคนปราจีนบุรี-ฉะเชิงเทรา แก้ปัญหาขยะ มลพิษทางน้ำ หลังทุบสถิติสายน้ำที่ปล่อยขยะเยอะที่สุดเป็นอันดับ 2 ของไทย ‘ภาคีบางปะกง’ ระบุ ต้องมีกระบวนการบำบัดน้ำทุกระดับ เพื่อดูแลคุณภาพน้ำในภาพรวม
วันนี้ (13 ธ.ค. 2565) โครงการพายเรือเพื่อบางปะกง ซึ่งเริ่มต้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ที่ผ่านมา พายเรือถึงวัดแก้วพิจิตร อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี นับเป็นวันที่ 3 โดยพบว่าขยะที่เก็บได้ระหว่างการพายเรือรวม 3 วัน มีทั้งหมด 448 กิโลกรัม
ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการโครงการฯ และประธานคณะกรรมการบริหารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กล่าวว่า แม่น้ำปราจีนบุรีกับแม่น้ำบางปะกงเป็นแม่น้ำสายเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราพบเห็นขยะจำนวนมาก ขยะเหล่านี้เมื่อลงสู่แม่น้ำก็จะไหลไปลงฉะเชิงเทราและออกอ่าวไทย เราทำกิจกรรมนี้เพื่อบอกว่าเราทนไม่ได้แล้วที่ประเทศไทยมีขยะ ซึ่งปล่อยสู่ทะเลมากที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลก และ 1 สายน้ำทั้ง 5 ที่ปล่อยขยะมากที่สุดในประเทศคือ แม่น้ำปราจีนบุรี
“เรามาชวนกันไหม ตอนนี้บางปะกงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ทั้งที่เรามีแค่ 2 จังหวัดที่แม่น้ำไหลผ่าน ไม่เหมือนกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ผ่านถึงสิบจังหวัด ก็เลยอยากชวนกันมาเลือกอันดับใหม่ วันนี้มาถึงวัดแก้วพิจิตร อ.เมืองปราจีนบุรี และเราจะไปต่อที่วัดบ้านสร้าง และวัดบางแตน เข้าสู่จังหวัดฉะเชิงเทรา จบที่ปากแม่น้ำ อ่าวไทย เราสัญญาว่าจะเก็บขยะทั้งหมดที่เราจะเก็บได้ จนกว่าขยะจะหมดไปจากแม่น้ำบางปะกง“
พงษ์สิทธิ์ เนื่องจำนงค์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า ดีใจที่มีอาสาสมัครมาร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งทางจังหวัดปราจีนบุรีได้ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องนี้ และพยายามรณรงค์สร้างความเข้าใจถึงความสำคัญแม่น้ำ และปัญหามลพิษจากขยะ เพื่อหาทางแก้ไขร่วมกัน
“ขอบคุณการเตรียมการของทางคณะและทีมงานที่มีหัวใจเลือกปราจีนบุรีเป็นเส้นทางแม่น้ำ เราก็ดีใจ แม้พบเห็นสิ่งที่ไม่เจริญหูเจริญตา แต่เราก็มาช่วยกัน ขอบคุณทีมงานที่มาช่วยจุดประกายความคิด วันนี้เราก็พาลูกหลานชาวปราจีนบุรีมาร่วมกันคัดแยกขยะด้วย เพื่อปลูกจิตสำนึกความรับผิดชอบในการจัดการขยะ แม้ขยะชิ้นเดียวของเรา แต่เมื่อรวมถึงจำนวนมากก็สร้างมลภาวะทำให้แม่น้ำของเราสวยงามลดลง เรื่องนี้ต้องรณรงค์สร้างความร่วมด้วยช่วยกัน ระดับท้องที่ไม่ให้ละเลยสิ่งเหล่านี้ ขยะเพียงหนึ่งชิ้นสร้างความสกปรกให้กับบ้านเมืองเรา ถ้าตระหนักรู้ ส่งเสริมกิจกรรมดี ปราจีนบุรีก็จะเป็นสถานที่สร้างความเจริญ”
ด้าน พระครูประโชติปริยัติคุณ เจ้าคณะอำเภอเมืองปราจีนบุรี กล่าวว่า ในอดีตแม่น้ำปราจีนบุรีมีความอุดมสมบูรณ์สูง มีปลาหลากหลายสายพันธุ์อาศัยอยู่ แม้กระทั่งโลมาก็ยังว่ายขึ้นมาถึงในพื้นที่อำเภอเมือง แม้ในปัจจุบันจะเริ่มหายากมากขึ้นก็ตาม และเราพบว่ามีขยะอยู่ในแม่น้ำ แม้จะบอกไม่ได้ว่าเป็นขยะของใคร แต่คือสิ่งที่สังคมต้องรับผิดชอบร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เพาะปลูกในหลายพื้นที่ ทำให้มีการใช้สารเคมีการเกษตรและอาจปนเปื้อนอยู่ในแม่น้ำ จึงต้องมีการทำความเข้าใจ ปลูกจิตสำนึกเฉพาะกลุ่มด้วย ไม่ควรทำให้แม่น้ำเสีย เพราะตลอดทางน้ำผ่านมีผู้คนจำนวนมากที่จะต้องพึ่งพาแม้ำบางปะกง
ขณะที่ กัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงานภาคีบางปะกง ในฐานะผู้ร่วมกิจกรรมพายเรือเพื่อบางปะกง กล่าวว่า การดูแลแหล่งน้ำเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะคุณภาพน้ำบ่งบอกถึงคุณภาพชีวิตของเรา แม่น้ำสาขาในลุ่มน้ำบางปะกงเป็นน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคโดยตรง ทั้งชุมชน และพื้นที่เกษตรที่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะทั้งหมด
“อาหารที่เราได้กินก็มาจากน้ำทั้งหมด พืชริมน้ำ สัตว์น้ำ แปลงเกษตร ก็ต้องดึงน้ำจากธรรมชาติไปใช้ เกษตรน้ำฝนหายากมากแล้ว ก็จะต้องอาศัยน้ำจากแหล่งน้ำเป็นสำคัญ ปัญหาขยะที่มาเก็บคือสิ่งที่มองเห็นได้ ร่วมรณรงค์ว่าไม่อยากให้คนไทยทิ้ง ให้ร่วมอนุรักษ์ รวมถึงตั้งข้อสังเกตถึงคุณภาพน้ำ เราพบว่าเมื่อเข้าสู่พื้นที่ชุมชน กลิ่นของน้ำต่างกันไปเลย พอเราเห็นท่อปล่อยน้ำเสีย ผ่านไปนิดเดียวเราเห็นท่อดูดน้ำกลับไปใช้ จึงจำเป็นที่จะต้องรักษาคุณภาพของน้ำ หากเทียบกับเมื่อสามสิบปีที่ผ่านมา ตอนเด็ก ๆ เราเล่นน้ำไม่มีใครบอกว่าอย่าเล่นน้ำมันสกปรก หรือมีขยะลอยมาน่าขยะแขยง แต่วันนี้เราเห็นภาพที่เปลี่ยนไป มีขยะมาเป็นถุง คุณภาพน้ำเข้าขั้นเสื่อมโทรมในบางพื้นที่ ทั้งที่เป็นน้ำต้นทุนของภาคตะวันออก ใกล้จะเข้าขั้นวิกฤตแล้ว ถ้าแย่ไปกว่านี้ น้ำที่เราเอาไปใช้คงจะไม่ปลอดภัย เราจึงต้องมีกระบวนการบำบัดน้ำทั้งในระดับพื้นที่ ระดับท้องถิ่น เพื่อดูแลน้ำโดยรวม”
สำหรับกิจกรรมพายเรือเพื่อบางปะกงในวันพรุ่งนี้ (14 ธ.ค. 2565) จะเริ่มต้นที่ วัดบ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี เพื่อเก็บขยะและเดินทางต่อไปที่ วัดบางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี มีกิจกรรมสำคัญคือการเสวนา เรื่อง ปัญหาของเกษตรเคมี กับอาหารปลอดภัย และสุขภาพของคนไทย
โดยโครงการพายเรือเพื่อมีเป้าหมายเดินทางทั้งหมด 8 วัน รวมระยะทาง 240 กิโลเมตร เพื่อเก็บขยะในแม่น้ำไปจนถึงปากอ่าวไทย เป็นการรณรงค์ให้ประชาชนไม่ทิ้งขยะและปล่อยน้ำเสียอันเป็นมลพิษทางน้ำ