เผยข้อมูล WHO คาดการณ์ ฝุ่น-มลพิษอากาศ ตัวการคนไทยมีแนวโน้มตายด้วย ‘มะเร็งปอด’ พุ่งสูง เกิดโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง ชวนปรับรูปแบบใช้ชีวิต ลดใช้รถยนต์ สร้างทางเลือกการเดินทางWork from Home สกัดจุดกำเนิดฝุ่น
เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 66 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดกิจกรรม Action Day PM2.5 BKK “กทม. ชวนภาคีขยับเรื่อง ฝุ่นเมือง ด้วยกัน” ซึ่งกรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดขึ้น ณ สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการ เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศร่วมกันและเป็นพลังขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหานำไปสู่การปฏิบัติจนเกิดผล เป็นรูปธรรม พร้อมมอบเกียรติบัตรแก่ 43 องค์กรเครือข่าย Earth Hour ที่ร่วมเป็นหนึ่งในพลังความร่วมมือลดฝุ่นละออง PM2.5 โดยเข้าร่วมโครงการ “Earth Month ร่วมลดฝุ่นละออง PM2.5” เพื่อลดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 จากการเดินทาง และการใช้ยานพาหนะ และป้องกันสุขภาพของประชาชน
ศิลป์ ไวยรัชพานิช ตัวแทนเครือข่ายสัญจรทางเลือก ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เดินทางมาร่วมงานด้วยการปั่นจักรยาน ถือเป็นทางเลือกการเดินทางเพื่อประหยัดพลังงาน และช่วยลดฝุ่น PM2.5 บอกว่า ปัญหาฝุ่นในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นจากเครื่องยนต์สันดาบ จึงอยากเปลี่ยนวิธีการเดินทางเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เขาและเพื่อน ๆ กลุ่มปั่นต่อ รวมกว่า 80 คน จากเขตพระนคร, จากคลองจั่น และประชาชื่น ระยะทางเฉลี่ย 15 กิโลเมตรต่อเส้นทาง เมื่อคูณกับจำนวนคน เท่ากับระยะทางทั้งหมด 1,200 กิโลเมตร หากทุกคนในที่นี้ใช้รถยนต์จะปล่อยคาร์บอนที่ทำให้เกิดฝุ่นมากทีเดียว การที่เราใช้จักรยานมา โดยรวมจะทำให้ลดการปล่อยคาร์บอน ได้ถึง 0.19 ตันคาร์บอน
“การรณรงค์ใช้จักรยาน ส่วนแรกคือกายภาพของเส้นทาง และทัศนคติของคนเดินทางในเมือง หากเราสามารถพัฒนาการสัญจรทางเลือก ให้สะดวกขึ้น ปลอดภัยขึ้นย่อมเป็นการสร้างข้อได้เปรียบของการใช้จักรยาน เหนือรถยนต์ คนก็จะเลือกใช้รถยนต์น้อยลง ส่วนทัศนคติของคนใช้รถยนต์ ก็อยากให้เอื้อเฟื้อกับคนใช้จักรยาน หากคุณไม่สามารถเปลี่ยนวิธีเดินทางได้ แต่คุณช่วยเราได้หากขับรถตามกฎจราจร และมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเพื่อนร่วมทาง”
นอกจากความพยายามเพิ่มทางเลือกการเดินทางโดยจักรยาน เพื่อลดใช้รถยนต์แล้ว ยังมีแนวทางลดฝุ่น PM2.5 ในอีกหลายรูปแบบเช่น การ Work from Home เพื่อลดการเดินทาง, การเหลื่อมเวลาทำงาน, การส่งเสริมให้ใช้ขนส่งสาธารณะ, การหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ลดการสร้างมลพิษทางอากาศ
ขณะที่ นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 เฉพาะในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อถึงฤดูหนาวช่วงต้นเดือน พ.ย. – ปลายเดือน เม.ย. ของทุกปี อันตรายของฝุ่น PM2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่า ฝุ่น PM2.5 เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจแบบเรื้อรัง และโรคมะเร็ง ทำให้ประชาชนเกิดความกังวลต่อสุขภาพตนเองและคนใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่าง ๆ ในปี 2559 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการณ์ว่า ไทยจะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด ซึ่งมีสาเหตุมาจากมลพิษอากาศถึง 6,330 ราย แนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งปี 2563 พบรายงานผู้ป่วยมะเร็งปอด 122,104 ราย คิดเป็น 186.26 ต่อแสนประชากร
“ตั้งแต่ปี 2556 WHO กำหนดให้ฝุ่น PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้ ยังพบการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ทุกระดับค่า PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยเสียชีวิตจากมะเร็งปอด ร้อยละ 21 โรคหัวใจ ร้อยละ 14 ตามลำดับ หลายภาคส่วนจึงร่วมกันสานพลังแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งพื้นที่ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงกรุงเทพฯ”
สำหรับกิจกรรม Action Day PM2.5 BKK “กทม. ชวนภาคีขยับเรื่อง ฝุ่นเมือง ด้วยกัน” ยังมี Workshop การทำเครื่องฟอก อากาศ DIY และหน้ากากกันฝุ่น DIY, คลินิกรถ ลดฝุ่น PM2.5 ให้บริการตรวจเช็คสภาพรถ, คลินิกมลพิษทางอากาศ ให้บริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก, บริการให้คำแนะนำการปลูกต้นไม้กรองฝุ่น และแจกต้นไม้ลดฝุ่น ซึ่งผู้รับต้นไม้จะได้ร่วมลงทะเบียนพร้อมปักหมุดแสดงพื้นที่ที่จะปลูก เพื่อเข้าร่วมโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้นของ กทม.ด้วย, การแสดงดนตรี Art for air and music for air ขนส่งทางเลือก, นิทรรศการสุขภาพ ปลอดฝุ่นปอดสะอาด, เมืองแห่งอนาคตเพื่อสิทธิของเด็กที่จะหายใจอากาศสะอาด (The future city for child rights to breathe clean air) รวมทั้งกิจกรรมลดฝุ่น PM2.5 ใน Campaign PM2.5 แก้ไขได้จากทุกคน และนิทรรศการให้ความรู้เรื่องเขตมลพิษต่ำ