อพยพด่วน! 3-4 ธ.ค. นี้ ยะลา-นราธิวาส เสี่ยงภัยสูง ‘ดินถล่ม-น้ำป่าไหลหลาก’

ผู้เชี่ยวชาญ เตือน ฝนตก 3-4 ธ.ค. นี้ ‘สามจังหวัดชายแดนภาคใต้’ เสี่ยงเจอดินถล่ม-น้ำท่วมฉับพลัน แนะ อพยพหาที่ปลอดภัย กลับบ้านได้เมื่อดินแห้ง

สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้ เรียกได้ว่ามีบางพื้นที่เริ่มคลี่คลายในบางจุด แต่ก็ต้องเฝ้าระวังต่อไป เพราะยังคงมีคำเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ฝนตกหนักระหว่างวันที่ 3-5 ธ.ค.นี้ ตั้งแต่ชุมพร ลงไปถึงนราธิวาส

ขณะที่ ที่ประชุม ครม. วันนี้ จะมีการหารือกันเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติ จากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ขณะที่มีคำเตือนเรื่องฝนกำลังจะตกหนักในพื้นที่ภาคใต้อีกระลอกระหว่างวันที่ 3-5 ธ.ค.นี้ ล่าสุด รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยฯ วิศวกรรมปฐพีแลละฐานราก ม.เกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดินถล่ม ได้ออกมาแสดงความกังวลว่า วันนี้ (3 ธ.ค.) ภาคใต้ยังคงต้องเฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และดินไหล รวมภาคใต้กว่า 600 จุด ที่เสี่ยงภัย โดยฝนจะตกหนักและมีปริมาณน้ำในเยอะคือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่ทางเหนือของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสิ่งที่เป็นห่วงคือในช่วงที่ผ่านมาฝนตกหนักและมีปริมาณมากในเวลาไม่กี่วัน ทำให้ดินไม่มีทางระบายน้ำออกได้ หรือระบายออกได้ช้า

เมื่อมีฝนตกซ้ำในวันนี้ (3 ธ.ค.) และพรุ่งนี้ (4 ธ.ค.) ก็จะเกิดเป็นน้ำที่ไหลอยู่บนผิวดินและทำให้เกิดน้ำท่วม หลังจากนั้น ถ้าฝนยังตกต่อเนื่อง น้ำก็จะเริ่มกัดเซาะดินที่นุ่มและเปียกจากเดิม สุดท้ายก็จะไหลซึมลงไปได้ลึกขึ้นและมีโอกาสที่จะเกิดการสไลด์และพังได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ปริมาณน้ำฝนอาจจะลดลง

“เท่าที่ดูข้อมูลของการคาดการณ์ ก็เป็นไปได้ว่า น้ำที่ท่วมอาจลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีความเสี่ยงลดลง เพราะจากการศึกษา พบว่า ในช่วงที่ฝนกำลังลด อาจจะตก แต่ไม่ได้ตกแรงเท่ากับวันที่ตกสูงสุด มีโอกาสที่ดินจะสไลด์มากที่สุด”

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

รศ.สุทธิศักดิ์ ยังเสริมอีกว่า หากวิเคราะห์ปริมาณฝนสะสมประกอบกับแผนที่เสี่ยงภัยพิบัติกว่า 600 จุดในพื้นที่ภาคใต้ จะพบว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีพื้นที่เสี่ยงดังนี้

  • ยะลา เสี่ยงภัย 59 แห่ง
  • นราธิวาสเสี่ยงภัย 15 แห่ง
  • บริเวณใกล้เคียง

อ่านเพิ่ม : เช็ก 603 จุดเสี่ยง ‘ภัยพิบัติ’ ภาคใต้

ดังนั้น ถ้ามองถึงเรื่องการอพยพคนออกจากพื้นที่ และการกลับเข้าไปยังพื้นที่เสี่ยง รศ.สุทธิศักดิ์ กำชับว่า ยังไม่ควรกลับไป โดยเฉพาะในช่วงที่ฝนซาประมาณ 1-2 วัน จึงแนะนำว่าให้มีแดดออกก่อน แล้วให้ดินแห้งจริง ๆ ถึงค่อยกลับไป

อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันพรุ่งนี้ ต้องเฝ้าระวังดินถล่ม บริเวณบ้านที่อยู่ในลักษณะ ดังนี้ เพื่อเตรียมตัวย้ายไปอยู่ที่ศูนย์อพยพ หรือพื้นที่ปลอดภัยก่อน

1. อยู่ตามลำน้ำ ร่องน้ำ ที่ไหลลงมาจากภูเขา

2. พื้นที่ดินตัดสูงเกิน 3 เมตร เช่นตัดตีนเขาเพื่อสร้างบ้าน

3. อยู่ตามเเนวสันเขา โดยเฉพาะจุดที่น้ำไหลลงลาดเขา

4. อยู่ติดตีนภูเขาที่มีความสูงของยอดเขาหรือยอดเนินเกิน 40 เมตร

ด้าน ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี บอกก่อนประชุม ครม.วันนี้ ว่า ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้ลงพื้นที่ภาคใต้ วันที่ 6 ธ.ค. นี้ ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) โดยระบุว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ตั้งศูนย์ส่วนหน้าเพื่อรับมืออุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้แล้วตั้งแต่เดือน พ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมยืนยันว่า ได้วางระบบแจ้งเตือนภัยในพื้นที่แล้ว

ขณะที่การเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมภาคใต้ ก่อนการประชุม ครม. ภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บอกว่า กระทรวงมหาดไทยได้เสนอเรื่องเงินเยียวยาวงเงินเบื้องต้นกว่า 5,000 ล้านบาท ให้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. พิจารณาแล้ว

นอกจากนี้ จะเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาในวันนี้ โดยงบประมาณดังกล่าวเป็นเงินเยียวยาให้กับทุกจังหวัดที่ประสบภัย เป็นการจ่ายตามหลักเกณฑ์เดียวกับทุกภาคที่ประสบภัยในช่วงที่ผ่านมา สูงสุดครัวเรือนละ 9,000 บาท ซึ่งการประเมินความเสียหาย จะใช้ 2 หลักเกณฑ์ คือ

1. เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย น้ำท่วมขังไม่เกิน 7 วัน

2. กรณีน้ำท่วมขังเกิน 7 วัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active