อาสาสมัครจัดการภัยพิบัติชุมชนท่าเรือ อ.รือเสาะ ยอมรับ นำองค์ความรู้ รับมือ เผชิญเหตุน้ำท่วม ที่ได้ฝึกอบรม มาปรับใช้จริง ยกกลไก แผนที่เดินดิน สร้างฐานข้อมูลกลุ่มเปราะบาง ช่วยอพยพง่ายขึ้น ลดความสูญเสีย
สถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วม ในพื้นที่ จ.นราธิวาส ทั้ง 13 อำเภอ ถูกประกาศเป็นเขตภัยพิบัติน้ำท่วมฉุกเฉินทั้งจังหวัด แม้เวลานี้ในบางอำเภอ ฝนจะเริ่มเบาบางลง และน้ำที่เคยท่วมหนักเหมือน 2 วันก่อน ค่อยคลี่คลาย แต่ชาวบ้านก็ยังไม่ประมาท เพราะยังไม่มั่นใจในสภาพอากาศ ในขณะที่ทางต้นน้ำยังมีมวลน้ำอีกมหาศาลที่พร้อมไหลเข้ามาสมทบ
The Active ตรวจสอบสถานการณ์น้ำท่วม กับ ชุติมา รัตนกิจสมบูรณ์ ประธานชุมชนท่าเรือ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 ตำบลรือเสาะ บอกว่า ตอนนี้น้ำเริ่มลดลงแล้ว แต่ชาวบ้านก็ยังต้องเฝ้าระวังกันอย่างใกล้ชิด เพราะได้รับการแจ้งเตือนมาตลอดว่า แม่น้ำสายบุรี ซึ่งไหลผ่านในพื้นที่ ยังคงมีมวลน้ำจาก อ.สุคิริน ไหลเข้ามาเติมอย่างต่อเนื่อง
“น้ำล้นตลิ่งท่วมในพื้นที่มาตั้งแต่วันที่ 27 – 28 พ.ย.ที่ผ่านมา มาจนถึงวันนี้น้ำลดลงแล้ว แต่ยังคงมีมวลน้ำจากสุคิริน ไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”
ชุติมา รัตนกิจสมบูรณ์
ส่วนผลกระทบและการรับมือภัยพิบัติของชุมชนนั้น ชุติมา เล่าว่า ผู้คนในชุมชนต่างมีบทเรียนจากน้ำท่วมใหญ่ในปี 2566 เวลานั้นทุกคนทำอะไรไม่ถูก น้ำมาเร็ว และน้ำท่วมสูงมาก ที่สำคัญคือในชุมชนไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย ในพื้นที่ไม่มีเรือ จึงต้องขอสนับสนุนจากทางเทศบาลตำบลรือเสาะ ซึ่งตอนนั้นก็ต้องใช้เวลานาน เพราะเทศบาลเองก็ขอสนับสนุนเรือมาจาก ปภ. อีกทีนึง ทำให้กว่าจะขนย้ายคนออกมาจากพื้นที่เสี่ยงได้ ต้องเป็นไปอย่างทุลักทุเลมาก ชุมชนเองก็ไม่ได้วางระบบอะไรไว้เลย ทุกคนก็เจอปัญหาน้ำท่วมทั้งหมด
“จริง ๆ ในพื้นที่น้ำท่วมประจำ แต่น้ำก็แค่เอว แค่อก ชั้น 2 ของบ้านยังอยู่อาศัยได้ ต่างจากปีที่แล้ว น้ำมาก บ้าน 2 ชั้นเกือบจมมิดหลัง กว่าจะอพยพคนได้ ใช้เวลานานมาก”
ชุติมา รัตนกิจสมบูรณ์
แต่จากบทเรียนที่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมหนักเมื่อ ปี 2566 ทำให้อาสาสมัครในชุมชน เข้าร่วมฝึกอบรม “โครงการอาสาสมัครการจัดการภัยพิบัติ” โดยมี โกเมศร์ ทองบุญชู หรือ ผู้ใหญ่โกเมศร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติพื้นที่ภาคใต้ เป็นพี่เลี้ยง ซึ่ง ชุติมา ยอมรับว่า องค์ความรู้จากการฝึกอบรม มีส่วนสำคัญทำให้การรับมือน้ำท่วมรอบนี้ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแนวทางการจัดทำ แผนที่ชุมชน แผนที่เดินดิน ซึ่งทำให้สามารถมีข้อมูลเลยว่า บ้านแต่ละหลังในชุมชน บ้านไหนมีเด็ก มีผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง ผู้ป่วยติดเตียง ก็จะทำสัญลักษณ์ไว้หน้าบ้านให้เห็นชัดเจน เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการอพยพ เคลื่อนย้าย
ผู้ประสานงานเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติพื้นที่ภาคใต้
นอกจากนั้นยังสามารถสร้างกลไก ศูนย์จัดการภัยพิบัติในชุมชน ซึ่งมีหน้าที่ดูแลผู้ประสบภัยในทุก ๆ มิติ เช่น การเตรียมความพร้อมศูนย์พักพิง หากมีผู้ป่วย ก็มีกระบวนการส่งต่อ ขณะที่อาหารการกิน ก็ได้สนับสนุนจากเทศบาล บริหารอาหารให้ชาวบ้านครบ 3 มื้อ
“พอได้ไปอบรม เรียนรู้ ก่อนหน้าที่จะเกิดหน้ามรสุม ได้นัดประชุมประชาคมผู้คนในชุมชน เพื่อแจ้งแนวทางการรับมือเหตุน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้น และเมื่อได้รับการแจ้งเตือน ก็สามารถอพยพคนไว้ก่อนล่วงหน้า ขนข้าวของสำคัญไปไว้ในที่ปลอดภัย และจากข้อตกลงกับชาวบ้านก็ระบุไปเลยว่า จะให้การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในแต่ละบ้านเป็นอันดับแรก สำหรับคนที่ไม่อยากอพยพ ก็มีข้อตกลงให้อยู่เฝ้าบ้านได้แค่คนเดียว ส่วนคนอื่น ๆ ต้องอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัย”
ชุติมา รัตนกิจสมบูรณ์
ชุติมา ยังบอกอีกว่า ผู้ใหญ่โกเมศร์ ได้สนับสนุนเรือ และเครื่องมาให้ 1 ลำ เอาไวแตรียมพร้อมช่วยเหลือชาวบ้าน ทำให้ปีนี้ชุมชนมีเรือไว้ใช้งาน โดยไม่ต้องรอเรือจากทางเทศบาลเหมือนปีก่อน ทำให้การช่วยเหลือ อพยพผู้คนทำด้ง่ายมากขึ้น นอกจากนั้นยังได้รับการสนับสนุนเสื้อชูชีพจากมูลนิธิเพื่อพึ่งภาฯ ด้วย
“น้ำท่วมปีนี้ยังน้อยกว่าปีที่แล้ว ซึ่งน้ำท่วมสูงต่ำสุด 4 เมตร สูงสุด 6 เมตร เรียกได้ว่าเกือบมิดบ้านทั้งหลัง ส่วนปีนี้น้ำขึ้นสูงสุดแค่เมตรครึ่ง แต่ถึงยังไงเมื่อเรามีอุปกรณ์ มีเครื่องมือพร้อม สมาชิกอาสาในชุมชนทุกคนก็ใจฟู ไม่กลัว และพร้อมปฏิบัติหน้าที่อย่างมั่นใจ เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวบ้านตามที่ได้รับการฝึกอบรมมา”
ชุติมา รัตนกิจสมบูรณ์