จี้ถาม กกพ. สร้างโรงไฟฟ้าขยะอุตฯ ติดกัน 3 โรง เหมาะสมหรือไม่?

กลุ่มปราจีนเข้มแข็งยื่นหนังสือถึง กกพ. กรณีการขออนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าขยะอุตฯรวม 29.7 เมกกะวัตต์ 3 โรง กังวลสร้างผลกระทบรัศมี 3 กม.  ด้านตัวแทนกกพ.เลี่ยงตอบประเด็นดังกล่าว ยืนยันทุกขั้นตอนต้องเป็นไปตามระเบียบ  หากผิดเงื่อนไขที่กำหนดถือเป็นโมฆะ 

วันนี้ (11 ส.ค.2566) กลุ่มปราจีนเข้มแข็ง ประกอบด้วยอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านตำบลลาดตะเคียน ตำบลหาดนางแก้ว และตำบลใกล้เคียง จ.ปราจีนบุรี เดินทางมายื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือ กกพ. เพื่อนำข้อกังวลรวมถึงข้อเท็จจริงกรณีที่ บ. พราวฟ้า พาวเวอร์ จำกัด บ.กรีนแคร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และบ. มี พรีม เอ็นเนอร์ยี่จำกัด จะดำเนินการขอตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าขยะจากเชื้อเพลิงอุตสาหกรรม รวม 3 โรง แต่ละโรงมีกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บนที่ดิน 62 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคกบินทร์ ต.ลาดตะเคียน อ.กบินทร์บุรี  จ.ปราจีนบุรี  

สุเมธ เหรียญพงษ์นาม ตัวแทนชาวบ้าน บอกว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมาทางบริษัท ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อเชิญผู้ที่มีส่วนได้เสียมาร่วมรับฟังการดำเนินงานของกิจการ แต่ทั้งเวลา สถานที่ และข้อมูลรายละเอียดที่ชี้แจงในวันนั้นไม่เอื้ออำนวยให้กับชาวบ้านแสดงถึงความไม่จริงใจ ว่าบริษัทตั้งใจเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการขออนุญาต

“เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่โรงแรมห่างไกลจากชุมชน ไม่ใช่วันหยุด ชาวบ้านไม่ทราบข่าว ละเลยขั้นตอนสำคัญของการมีส่วนร่วมของชุมชนที่มีส่วนได้เสีย และการทำโรงไฟฟ้าติดกกัน 3 โรงขนาด 9.9 เมกะวัตต์ถือว่าจงใจหลีกเลี่ยงการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) หรือไม่ เพราะหากรวมกันจะมีกำลังการผลิต 29.7 เมกะวัตต์ ซึ่งผลกระทบน่าจะมากกว่ารัศมี 3 กิโลเมตร”

ด้าน ดาวัลย์ จันทรหัสดี เจ้าหน้าที่อาวุโส มูลนิธิบูรณะนิเวศ และที่ปรึกษาชุมชน ระบุเพิ่มเติมว่า การที่บริษัทดังกล่าวเปิดขออนุญาตดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าขยะจากอุตสาหกรรม 3 โรง ในนิคมอุตสาหกรรมฯ แต่ที่ตั้งอยู่รอบนอกติดขอบชุมชน ซึ่งมีสารไดออกซินที่ต้องเฝ้าระวัง และบริษัทดังกล่าวมีการถือหุ้นเปิดดำเนินกิจการธุรกิจประเภทนี้ในหลายจังหวัด แต่ทำไมจังหวัดปราจีนบุรี ถึงได้ขออนุญาตถึง 3 โรง และการรับฟังความคิดเห็นก็ไม่เหมาะสม

“เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น วันเดียวกัน ทั้ง 3 โรง ชี้แจงข้อมูล 2 ชั่วโมง ทำได้ด้วยหรือ ไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้าน  ชาวบ้านกังวลผลกระทบพวกเขาไม่ต้องการให้มีโรงไฟฟ้าขยะเพราะในพื้นที่มีโรงไฟฟ้าขยะมากแล้ว และยิ่งเป็นขยะจากอุตสาหกรรมไม่ใช่ขยะจากชุมชนด้วย”

ด้าน วัลลี จิวหลง ผอ.ฝ่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ เป็นตัวแทนมารับหนังสือจากชาวบ้าน และร่วมประชุมกับชาวบ้าน ชี้แจงในส่วนที่เป็นอำนาจหน้าที่ที่รับผิดชอบ โดยระบุว่าจะนำข้อมูลข้อเท็จจริงที่ได้จากชาวบ้านไปหารือกับบริษัทอีกครั้ง เพื่อการฟังข้อมูลจากทั้งสองฝ่าย ส่วนประเด็นการเปิดโรงไฟฟ้า ติดกัน 3 โรง ควรทำหรือไม่ ไม่สามารถตอบได้เนื่องจากเป็นเรื่องของฝ่ายเทคนิค แต่จะนำข้อมูลดังกล่าวไปหารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง ยืนยันว่าทุกขั้นตอนต้องเป็นไปตามระเบียบที่ทาง กกพ.กำหนด หากไม่เป็นไปตามนี้ก็ถือว่าเป็นโมฆะ 

นอกจากนี้ ช่วงบ่ายชาวบ้านยังได้เดินทางไปยื่นหนังสืงถึงผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยด้วย ซึ่งประเด็นสำคัญระบุตรงกันและยืนยันจุดยืนของคณะที่เดินทางมาครั้งนี้ว่า “พวกเราไม่เห็นด้วยที่จะมีโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมในพื้นที่ ขอคัดค้านด้วยข้อเท็จจริงตามรายละเอียดในหนังสือ” และหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำเจตจำนงค์ไปสื่อสาร ตรวจสอบ และลงบันทึกไว้ประกอบการพิจารณาการออกใบอนุญาตให้กับบริษัทดังกล่าว

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active