เครือข่ายภาคประชาชน เตรียมหารือยื่นอุทธรณ์ประเด็นการกำหนดค่ามาตรฐานจากปลายปล่องโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อลดฝุ่น PM2.5 จากต้นทาง
วันนี้ 29 ส.ค. 66 มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ประเทศไทย มูลนิธิบูรณะนิเวศ สภาลมหายใจภาคเหนือ สภาลมหายใจเชียงใหม่ และประชาชน ในฐานะผู้ร่วมฟ้องคดี ฟังคำพิพากษาคดีที่ฟ้องต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่มีความล่าช้ากว่าแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ปี 2562 และไม่อาจลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
โดยศาลปกครองมีคำพิพากษาให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) หรือเรียกว่า PRTR ภายใน 60 วันนับแต่คดีถึงที่สุด และพิพากษายกฟ้องในประเด็นการออกหรือแก้ไขประกาศกำหนดค่ามาตรฐานสารเจือปน ฝุ่น PM2.5 ในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานสู่สิ่งแวดล้อมให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เนื่องจากเป็นอำนาจของฝ่ายปกครองในการพิจารณาที่ศาลไม่อาจก้าวล่วง สำหรับประเด็นการปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปให้เป็นไปตามมาตรฐานของ WHO ศาลเห็นว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าจริง แต่เนื่องจากได้มีการประกาศปรับค่ามาตรฐานแล้วในระหว่างการพิจารณาของศาลเมื่อ 8 กรกฎาคม 2565 หลังจากภาคประชาชนฟ้องเร่งรัดคดีนี้เพียง 3 เดือน ศาลจึงไม่จำเป็นต้องกำหนดคำบังคับในประเด็นนี้
ทั้งนี้คำฟ้องในคดีฝุ่น PM2.5 มีสาระสำคัญ 4 ประเด็น คือ
- ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแก้ไขประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศทั่วไป ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล (WHO-IT3) ตามที่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว คือ ค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
- ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศกำหนดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานสู่สิ่งแวดล้อม ให้มีค่าปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ไม่เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดและเทียบเท่ามาตรฐานสากล
- ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ออกหรือแก้ไขประกาศกำหนดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานสู่สิ่งแวดล้อม ให้มีค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ไม่เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดและเทียบเท่ามาตรฐานสากล
- ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมการจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) และมีการกำหนดให้ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน อยู่ในบัญชีมลพิษและสารเคมีเป้าหมาย
สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า คดีฟ้องทะลุฝุ่น ไม่ใช่คดีแรกที่ภาคประชาชนฟ้องต่อศาลเรื่องปัญหามลพิษทางอากาศนี้ แต่ใน 2 ปีนี้ ประชาชนฟ้องคดีเรื่องฝุ่น PM2.5 ไปแล้วกว่า 5 คดี บ่งชี้ให้เห็นว่ารัฐยังให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาฝุ่นไม่เพียงพอและไม่สามารถจัดการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้
“คำตัดสินของศาลปกครองในวันนี้ ถือเป็นการวางมาตรฐานคดีด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย โดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศที่มีผลกระทบต่อประชาชนคนไทยในวงกว้าง ซึ่งเราจะติดตามตรวจสอบให้รัฐมีมาตรการที่ชัดเจนในการลดฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไป และจัดทำ PRTR ให้เป็นไปตามคำพิพากษา สำหรับบางประเด็นที่ศาลยกฟ้อง เช่น การกำหนดค่ามาตรฐานจากปลายปล่องโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อลดฝุ่น PM2.5 จากต้นทาง เรามีสิทธิยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน เพื่อให้ศาลสูงตัดสินให้เป็นบรรทัดฐาน โดยจะทำการปรึกษากับภาคประชาสังคมในการอุทธรณ์ต่อไป”
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ หรือ PRTR คือ กฎหมายโดยตรงที่หลายประเทศทั่วโลกใช้แก้ปัญหามลพิษ ซึ่งจะแตกต่างจากกฎหมายสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ที่เป็นกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในภาพรวม แต่กฎหมาย PRTR จะใช้ควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมและแหล่งกำเนิดมลพิษต่างๆ โดยตรงให้สามารถลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมได้ หัวใจสำคัญของกฎหมายนี้ที่ปฏิบัติกันทั่วโลกคือ การให้เผยแพร่ข้อมูลปริมาณและชนิดของมลพิษจากทุกแหล่งกำเนิดทางเว็บไซต์ให้ประชาชนรับรู้และเข้าถึงได้ง่าย ตามหลักสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน กฎหมายนี้จะทำให้เกิดฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่รวมทุกประเภทแหล่งกำเนิดมลพิษ ชนิดและปริมาณของมลพิษไว้ที่เดียวกัน ที่ให้ทุกหน่วยงานและประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ประเทศไทยควรต้องมีการใช้กฎหมาย PRTR โดยเร็วเพื่อจะได้แก้ปัญหามลพิษอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อัลลิยา เหมือนอบ นักรณรงค์ด้านมลพิษทางอากาศ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้วันนี้ภาคประชาชนจะชนะคดีแล้ว แต่งานของเรายังไม่เสร็จจนกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมจะหมดไป หลังจากนี้ภาคประชาสังคมจะยังคงจับตาการทำงานของรัฐบาลชุดใหม่ในเรื่องการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่กำลังทำลายคุณภาพชีวิตของประชาชน และเรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่มีความจริงจัง และลงมือจัดการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพราะการปกป้องสุขภาพของประชาชนเป็นวาระเร่งด่วน
“หลังจากนี้เครือข่ายภาคประชาสังคมจะจับตาและติดตามงานของกระทรวงอุตสาหกรรตามคำตัดสินของศาลปกครอง ไปพร้อมกับการรวบรวมแรงสนับสนุนจากภาคประชาชนเพื่อผลักดันกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR) ผ่านทางเว็บไซต์ thaiprtr.com เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะมีฐานข้อมูลมลพิษของประเทศไทยและประชาชนทุกคนต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้อย่างแท้จริง เพราะปอดของเรารอไม่ได้ การเข้าถึงอากาศสะอาดคือสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน”