‘เศรษฐา’ สานต่อแนวคิด Carbon Neutrality เร่งแก้ปัญหาฝุ่น และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ที่ประชุมเร่งรัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายเผชิญการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หนุนพลังงานสะอาด
วันนี้ (11 ก.ย. 66) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อ่านคำแถลงนโยบายรัฐบาล โดยมีประเด็นเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอยู่ในนโยบายรัฐบาลด้านการสร้างคุณภาพชีวิต ภายใต้แนวคิด นำความปลอดภัย สร้างศักดิ์ศรี และความภาคภูมิใจ โดยการแก้ปัญหา เรื่องฝุ่น PM 2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพของประชาชน ด้วยการสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจทั้งทางบวกและทางลบในภาคเกษตรกรรม ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อประมวลผล และติดตามการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สร้างและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นให้
ทั้งนี้ รัฐบาลมุ่งใช้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นพลังสำคัญในการแก้วิกฤตของประเทศทั้งในภาคการผลิต ภาคบริการ และภาคการเงิน รัฐบาลจะธำรงดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ พัฒนาประเทศให้ทันสมัย และสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพทัดเทียมกับประเทศอื่น เพื่อให้ลูกหลานสามารถแข่งขันได้กับประเทศต่าง ๆ สร้างความรู้ใหม่ เทคโนโลยีใหม่ เศรษฐกิจใหม่ และการเมืองใหม่ ที่เหมาะสมกับยุคสมัยที่ลูกหลานยุคถัดไปจะใช้ชีวิตในอนาคตพร้อมสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality ในการเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ
การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเปิดประตูบานใหญ่สู่การค้าโลก และขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ ย้ำว่า 4 ปีข้างหน้าจะเป็น 4 ปีที่รัฐบาลจะวางรากฐานและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของประเทศ โดยยึดหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งและน่าเชื่อถือ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จโดยเร็ว ด้วยหลักตรวจสอบได้ โปร่งใส สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะประเด็นที่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินนโยบายจะดำเนินอย่างมีเป้าหมาย ทั้งในด้านการเจริญเติบโต การลดความเหลื่อมล้ำและการรักษาเสถียรภาพ ให้ความสำคัญกับกรอบวินัยการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม
ด้าน ศิริกัญญา ตันสกุล สส.พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า คำแถลงนโยบายของนายกฯ เศรษฐา เป็นคำพูดลอย ๆ จับต้องไม่ได้ ไม่มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน และต่างจากที่เคยหาเสียงเอาไว้ในหลายเรื่อง เช่น การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เคยระบุแก้ที่ต้นตอ วันนี้กล่าวเพียง แก้ปัญหา PM2.5 ให้เป็นวาระแห่งชาติ
“ไม่เหมือนกับเมื่อครั้งยังเป็นผู้บริหารแสนสิริ ที่เวลาประกาศนโยบายบริษัทมีเป้าหมาย กรอบเวลา ชัดเจน แต่วันนี้ไม่มีเลย และเป็นนโยบายที่ขาดความทะเยอทยานที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างใด ๆ ของประเทศ ไม่มีการพูดถึงการลดความเหลื่อมล้ำ ไม่กล้าแตะเรื่องยาก ๆ ที่ควรจะแก้ปัญหาที่ต้นตอ ทั้งที่ตอนหาเสียงกล้าหาญกว่านี้มาก โดยมองว่าลักษณะการพูดคล้าย ๆ กับสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงนโยบาย ที่เป็นแบบนี้คิดว่า กลัวการผูกมัด กลัวว่าจะทำไม่ได้อย่างที่สัญญา หากคิดว่าทำไม่ได้ก็ไม่ควรไปหลอกประชาชนในช่วงเลือกตั้ง”
ด้าน กาญจนา จังหวะ สส. พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยเผชิญปรากฏการณ์เอลนีโญ หรือภาวะที่ฝนตกน้อยกว่าปกติ 20% โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ที่ฝนตกน้อยกว่าปกติ มากกว่า 30% ในปีนี้ และจะกินระยะเวลาไปถึงปีหน้า และหากดูปริมาณน้ำสะสมในแหล่งกักเก็บน้ำที่ใช้การได้มีเพียงภาคใต้เท่านั้นที่มีปริมาณน้ำใช้การได้มากขึ้น นอกนั้นในแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่น้อยลงทั้งสิ้น โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลาง จนถึงพฤศจิกายนปีนี้เหลือน้ำใช้การได้เพียง 76% และจากพฤศจิกายนปีนี้ถึงปีหน้า มีน้ำใช้เพียง 50% เท่านั้น
สรุปว่าการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในรัฐบาลนี้ เป็นเรื่องที่ท้าทายจากการเผชิญการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มีความสำคัญไม่น้อยกว่าเรื่องอื่น ๆ ดังนั้นจึงต้องเร่งขับเคลื่อนเป็นการด่วน จุดยืนของพรรคพลังประชารัฐ ขอให้รัฐบาลสนับสนุน ส่งเสริม การบริหารจัดการน้ำ ทั้งอุปโภค บริโภค และภาคการเกษตร เพื่อเป็นไปตามนโยบาย
ส่วน ศุภโชค ไชยสัจ สส. พรรคก้าวไกล ชูประเด็นเสนอให้รัฐบาลให้การสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดอย่างโซลาร์เซลล์ นโยบายให้ประชาชนสามารถขายไฟที่ผลิตได้เองเพื่อช่วยลดค่าไฟให้กับประชาชน เพื่อสร้างความั่นคงทางพลังงาน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจใหม่ภาคพลังงาน และว่าการแถลงนโยบายของรัฐบาลขาดเป้าหมายที่ชัดเจน และตัดเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ หรือ net zero carbon ออกไปจากแผนพลังงาน
ทั้งนี้ได้สนับสนุนนโยบายยกเลิกการใช้พลังงานถ่านหิน ในปี 2030 ของพลังรวมไทยสร้างชาติ ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่รวดเร็ว ต้องการทราบแผนรองรับแรงงานที่จะขาดงานจากเหมืองถ่านหิน และแผนพลังงานทดแทนจากโรงงานที่ปิดไป และมองว่ายังขัดกับแผนของ กฟผ. ที่ยังระบุว่าจะมีการใช้พลังงานถ่ายหินต่อเนื่องอย่างน้อยถึงปี 2040
เสนอให้ตั้งเป้าหมายผลิตไฟฟ้าที่มีการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ผ่านแผน PDP เพื่อให้สอดรับกับการประกาศเป้าหมายต่อประชาคมโลก มีแผนงานปลดระวางการผลิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน แผนการพัฒนาศักยภาพแรงงานในเหมืองให้ประบตัวสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน แผนพัฒนาพื้นที่เหมืองโดยรอบ ลดการผูกขาดโดยปรับโครงสร้างการซื้อขายไฟฟ้า
สอดคล้องกับ ณัฐฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สส.พรรคภูมิใจไทย เสนอว่ารัฐบาลต้องเน้นนโยบายทางเลือก พลังงานสะอาดสนับสนุนประชาชน เช่น นโยบายหลังคาโซลาร์เซลล์ เปลี่ยนพลังงานดั้งเดิมสู่พลังงานสะอาดลดภาวะโลกร้อน เพื่อให้สอดรับกับนโยบายคาร์บอนเครดิตในอนาคต เพื่อให้เกษตรกรได้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย ให้ประชาชนได้ใช้พลังงานสะอาด ค่าไฟถูกลง ลดรายจ่ายครัวเรือน เกษตรกรที่ปลูกไม้ยืนต้นมีรายได้จากการขายคาร์บอน คาร์บอนฟุตปริ้นต์มีความสมดุลในประเทศ
หม่อมหลวงโยธิต กฤดากร สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยมีความสามารถที่จะกักเก็บคาร์บอน ทั้งในทะเล โพรงน้ำเค็มในจังหวัดระยอง ประเมินว่าสามารถกักเก็บได้หมื่นล้านตัน ขณะที่การปล่อยคาร์บอนของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าในประเทศ อื่น ๆ ของอาเซียน คือเพียงประมาน 300 ล้านตันต่อปีเท่านั้น ซึ่งการหาที่กักเก็บยังพบที่ภาคเหนือด้วย คือจังหวัดลำปาง ใกล้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หากสามารถเดินเครื่องผลิตลิกไนต์ ก็ยังสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ด้วย จะช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องคาร์บอนฟุตฟริ้นท์ได้
ด้าน สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.พรรคก้าวไกล กล่าวถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจาก พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยพบว่าจังหวัดระยอง และ ชลบุรี มีการลักลอบทิ้งขยะมากที่สุด ทั้งยังพบว่า จ.ระยอง มีขยะติดเชื้อราว ๆ 10-12 ตัน ต่อวัน แต่มีศูนย์กำจัดที่ได้มาตรฐานรองรับได้เพียง 3.6 ตัน หมายความว่ามีขยะพิษทั่วเมืองเกือบ 10 ตัน ทำให้น้ำปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อมและเสี่ยงกระทบสุขภาพประชาชน ทั้งยังพบปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยมีความตั้งการใช้น้ำ 4,167 ลบ.ม. ต่อปี ทำให้ต้องดึงน้ำจากจังหวัดใกล้เคียงไปใช้ และเกิดการทักท้วงจากประชาชน จึงต้องการทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาเหล่านี้