ภาคประชาชนชี้แก้ตรงจุดเพราะฝุ่นภาคเหนือเกิดจากพื้นที่ป่าซ้ำซากกว่าร้อยละ 80 ขณะที่ความคืบหน้าพ.ร.บ.อากาศสะอาด อยู่ระหว่างการพิจารณาของนายกรัฐมนตรีตามกลไกรัฐสภา
ภายหลังจากที่คณะกรรมการควบคุมมลพิษได้มีมติเห็นชอบมาตรการการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ปี 2567 ที่เน้นให้ความสำคัญกับการกำหนดพื้นที่เป้าหมายแบบมุ่งเป้าลดพื้นที่เผาไหม้ในพื้นที่เผาซ้ำซาก คือ 10 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ ลดลงร้อยละ 50, พื้นที่เกษตรกรรมเผาไหม้ ลดลงร้อยละ 50, ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ลดลงร้อยละ 40 และสุดท้าย จำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน ลดลงร้อยละ 30 โดยเน้นตรึงพื้นที่ จัดระเบียบควบคุมผู้ใช้ประโยชน์ ทำกติการ่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน เพิ่มประสิทธิภาพการบัญชาการ 67สถานการณ์ไฟป่า ตั้งจุดตรวจสกัดเฝ้าระวังการเข้าออก ลาดตระเวน พร้อมดึงประชาชนเข้ามาเป็นแนวร่วม สำหรับพื้นที่เกษตรเผาไหม้พัฒนา “ระบบตรวจสอบย้อนกลับ” และเร่งนำระบบการรับรองผลผลิตทางเกษตรแบบไม่เผา (GAP PM 2.5 Free) มาใช้
ทีมข่าวสอบถามเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าในแผนปฏิบัติการดังกล่าวจากสภาลมหายใจภาคเหนือ ซึ่งเป็นภาคประชาชนที่มีส่วนร่วมในการผลักดันแนวทางดังกล่าวร่วมกับภาควิชาการ เอกชน จนกระทั่งได้แผนที่ถือว่ามีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5ในปี 2567 วิทยา ครองทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ บอกว่า ภาคประชาชนดีใจที่รัฐบาลเพิ่งเข้ามาทำงานได้ไม่นานก็ตอบรับและมีแผนในการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด เพราะที่ผ่านมาภาคประชาชน และวิชาการได้ ชี้ให้เห็นปัญหาดังกล่าวว่าเป็นต้นตอของปริมาณฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือ แต่ภายหลังที่มีการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีช่วงเดือนที่ผ่านมาก็ได้รับการตอบรับทันที ซึ่งเป็นการทำงานที่น่าพอใจและคืบหน้าที่สุดหลังมีการประกาศเรื่องฝุ่นเป็นวาระแห่งชาติ
“จุดความร้อนกว่าร้อยละ 80 มาจากการเผาในพื้นที่ป่าซ้ำซาก ซึ่งเป็นพื้นที่ทุจริตคาบเกี่ยวกับอำนาจการบริหารจัดการป่าทั้งของหน่วยงานรัฐเอง และชุมชนบางส่วน หากรัฐบาลทำได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ 50% จะเห็นชัดเจนว่าปริมาณฝุ่นจะลดลงทั่วทั้งภาคเหนือ แต่ความกังวลเวลานี้คือเรายังไม่เห็นแผนปฏิบัติการชัดเจน ซึ่งกำลังติดตามดูอยู่ว่าจะทำอย่างไร”
ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ ยังบอกเพิ่มเติมว่า การแก้ปัญหาดังกล่าวแม้เป็นเรื่องดีที่น่าชื่นชมรัฐบาลแต่ก็ยังเป็นการแก้เฉพาะหน้ารับมือช่วงฤดูฝุ่นที่จะมาถึง แต่พ.ร.บ.อากาศสะอาดยังเชื่อว่าจะเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวมากกว่า ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยก็มีการร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นมาแล้ว ขณะนี้มีการเสนอตามขั้นตอนของรัฐสภาเพื่อส่งให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาว่าจะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินหรือไม่ เชื่อว่าครั้งนี้จะไม่ตีตกเหมือนรัฐบาลก่อน เพราะเป็นกฎหมายที่อยู่ในมือของรัฐบาลเองที่ต้องการผลักดัน