ฤดูเก็บเกี่ยวเกษตรกรจ่อรอเผาอีกกว่า 10 ล้านไร่ แต่รัฐยังไม่เห็นมาตรการใหม่ นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ย้ำปัจจัย ไทยแก้ฝุ่นไม่ได้ เพราะไม่มีหน่วยงานบูรณาการ แนะดัน “กรมควบคุมมลพิษ” คุมภาพรวม คู่ขนาน สร้างกลไกเชิงเศรษฐศาสตร์ ทั้ง “กองทุนสิ่งแวดล้อม” และ “มาตรการที่ไม่ได้แจกแต่เงิน”
สถานการณ์ PM 2.5 เริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น จากการคาดการณ์ สถานการณ์ปี 2567 ถึงความรุนแรงของสถานการณ์ “เอลนีโญ” ปัจจัยหลักคือ เรื่องค่าฝนต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2567 ขณะที่อุณหภูมิจะร้อนขึ้นกว่าปกติ ร้อนแล้ง และไม่มีฝนจะยิ่งเอื้อต่อการเผาของเกษตรกรในหลายพื้นที่มากขึ้น
นอกจากนี้ ปริมาณฝนรวมของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าค่าปกติ 10% ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์ไฟป่าใน ปี 2567 มีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งในประเทศ และหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน และจะเริ่มพบกับสถานการณ์ฝุ่นที่หนักขึ้น
โดยก่อนหน้านี้ ทางการประกาศว่า ปลายปี 2566 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ภาคกลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบางพื้นที่ จากนั้น ช่วงมกราคม-ปลายเมษายน 2567 พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือจะมีแนวโน้มสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเผา ไฟไหม้ป่า และหมอกควันข้ามแดน
จากข้อมูลฝุ่นวันนี้(25 พ.ย. 2566) ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ระบุ สถานการณ์ PM 2.5 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาพรวมคุณภาพอากาศอยู่ในระดับคุณภาพดีมากถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ยังพบสูงขึ้นในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 1 พื้นที่ บริเวณ ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โดยช่วง 1 – 2 วันนี้ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษมีแนวโน้มฝุ่นสูงขึ้นบางพื้นที่
ล่าสุด สธ. ออกมาตรการดูแลประชาชน จาก ฝุ่น PM 2.5
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมว่า ที่ประชุม เห็นชอบกฎกระทรวงและประกาศกระทรวงจำนวน 8 ฉบับ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนจากฝุ่น PM 2.5 เช่น การกำหนด มาตรฐานการให้บริการของหน่วยบริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อม, การตรวจสุขภาพของแรงงานนอกระบบ, การแจ้งข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับการเฝ้าระวัง การป้องกัน หรือการควบคุมโรคจากสิ่งแวดล้อมจากประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษ, การแจ้งและการรายงานข้อมูลการตรวจสุขภาพของลูกจ้างและแรงงานนอกระบบ หรือการเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษ, การเข้าไปในสถานประกอบกิจการของนายจ้าง แหล่งกำเนิดมลพิษ ยานพาหนะ หรือสถานที่ใดๆของพนักงานเจ้าหน้าที่ ฯลฯ
โดยย้ำว่ากระทรวงสาธารณสุข จะเน้นมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคให้กับประชาชน จากการคาดการณ์ว่าในปีหน้านี้ ฝุ่น และปัญหาหมอกควันจะเพิ่มขึ้น
นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ห่วง เผาเพิ่มฤดูเก็บเกี่ยว แต่ยังไม่เห็นมาตรการใหม่รับมือฝุ่น
The Active สัมภาษณ์ รศ.วิษณุ อรรถวานิช นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์ ติงมาตรการรัฐมักเน้นการแจกเงินลดผลกระทบให้กับเกษตรกร แต่ยังไม่ได้เน้นมาตรการกำจัด PM 2.5 ทีแหล่งกำเนิด ทั้งจากภาคยานยนต์, ภาคการเกษตรป่าไม้, และภาคอุตสาหกรรม ที่ยังไม่มีมาตรการจัดการโรงงานขนาดเล็ก และโรงงานขนาดกลางที่เป็นแหล่งปล่อยมลพิษสำคัญ ขณะเดียวกันก็ยังไม่มี “กองทุนอากาศสะอาด” ทั้งที่เป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยให้มีงบประมาณที่ยืดหยุ่นในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้ม เช่น เดียวกับงบประมาณจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีจำนวนไม่มาก
อาจารย์ให้ข้อมูลว่า การเผาในภาคการเกษตรตั้งแต่ปลายปี 2566 จะยิ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ต้นเดือนธันวาคม-ต้นปี 2567 จะเห็นการมากกว่า 10 ล้านไร่ จึงห่วงในว่า หากรัฐยังใช้มาตรการไม่ต่างจากเดิม เช่น มาตรการทางกฎหมาย จับ ขอความร่วมมือ ผลกระทบก็อาจไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา จึงควรเสริมมาตรการจูงใจในทางเศรษฐศาสตร์
แนะสร้างกลไกเชิงเศรษฐศาสตร์จูงใจ-แก้ปัญหาฝุ่นยั่งยืน
แม้ก่อนหน้านี้จะมีการคุยกันเรื่อง กำลังคนกรมป่าไม้ และ ทส.ที่เตรียม กำหนดจุดเผาใน อุทยาน 10 แห่ง แต่การเผา แต่การเผา 8-9 ล้านไร่ ต้องใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งก็ยังไม่เห็นมาตรการที่จะเข้ามาแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน เช่น การมี กฎหมายอากาศสะอาด ก็ยังล่าช้าผ่านหลายขั้นตอน กว่าหน่วยงานใหม่ ในกฎหมายใหม่ จะผ่านการเสนอตั้ง ก็ต้องใช้เวลา ขณะที่ งบประมาณช่วยเหลือด้านฝุ่นก็น้อยมาก และไทยยังไม่มี “กองทุนอากาศสะอาด” ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะเข้ามาบริหารจัดการฝุ่นระยะยาว โดย เงินจากกองทุนนี้ มาจาก การเก็บเงินจากผู้ปล่อยมลพิษ หรือ เอาเงินกลับไปหาผู้ปล่อยให้ปรับตัว ซึ่งการมีมาตรการจูงใจอาจต้องใช้เวลาปรับตัว บางประเทศใช้เวลา 3-4 ปี เกษตกรจึงจะสามารถลดการเผาได้ หากไม่ทำปัญหาอาจจะกลับมา
ที่ผ่านมาเห็นชัดว่ารัฐ ใช้เงินในการแกปัญหา แต่ยังไม่ได้ทำให้สังคมมั่นใจได้ว่า แจกเงินแล้วจะช่วยให้เลิกเผาได้ หัวใจสำคัญเพราะมาตรการเหล่านั้นไม่มีกลไกเชิงเศรษศาสตร์ที่จูงใจให้เกษตรกรเลิกเผาได้ เพราะการเผาผูกโยงอยู่กับเรื่องปากท้อง นอกจากนี้การช่วยเหลือเกษตรกรไร่อ้อย ก็ควรเป็นมาตรการชั่วคราว ไม่เช่นนั้นเราจะเป็นเหมือน “อุตสาหกรรมทารก” ที่ต้องเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมีรัฐบาลคอยอุ้มอยู่เรื่อยๆ เหมือนที่เราเปรียบกันว่า “ไม่สอนให้คนตกปลา” จึงทำให้นโยบายการแก้ฝุ่น PM 2.5 ไม่สามารถแก้ได้อย่างถาวร ยั่งยืน
ตัวอย่างเช่น หากใครไม่เผา จะมีมาตรการช่วยรับจากแหล่งรับซื้อ หรือ ก่อนหน้านี้เคยมีข้อเสนอจากคณะกรรมการร่างกฎหมายอากาศสะอาด เรื่อง โรงไฟฟ้าสามารถรับซื้อสิ่งเหลือใช้ทางการเกษตรได้หรือไม่ โดยการให้ โรงไฟฟ้าชีวมวล ควรรับซื้อเศษวัสดุจากภาคการเกษตร แต่อาจจะไม่สามารถทำได้ทันที แต่ก็ควรเป็นสิ่งที่ภาครัฐเร่งดำเนินการอย่างจริงจัง
รศ.วิษณุ มองว่า ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาฝุ่น มีปัญเชิงโครงสร้าง ไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ไม่มีหน่วยงานอำนาจเบ็ดเสร็จในการแก้ปัญหา ทำงานข้ามกระทรวงไม่ได้ และไม่มีคนรับผิดรับชอบ เสนอให้ยกระดับ “กรมควบคุมมลพิษ” ขึ้นมาเป็นแม่งานจัดการสิ่งแวดล้อม ให้มีทั้งทรัพยากร, บุคคล, และงบประมาณ
สุดท้ายแล้วรัฐบาลนี้จะเดินหน้านโยบายสิ่งแวดล้อมได้เป็นที่จดจำหรือไม่ “การแก้ฝุ่น PM 2.5” เป็นเรื่องแรกๆ ที่จ่อรอคิวให้ได้แสดงผลก่อนในช่วงปีใหม่อย่างแน่นอน