หากค่าฝุ่นเกิน 37.6 มคก./ลบ.ม. ผอ.โรงเรียนสั่งปิดได้ครั้งละไม่เกิน 3 วัน ด้านภาครัฐ เอกชน กว่า 5 หมื่นคน ร่วมเป็นเครือข่าย Work From Home ลดปริมาณรถบนท้องถนน
วันนี้ (12 ธ.ค. 2566) ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงมาตรการเตรียมพร้อมรับมือคุณภาพอากาศในสถานศึกษา สังกัด กทม. ว่า ได้กำชับให้โรงเรียนสังกัด กทม.ดำเนินการตามแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในโรงเรียนสังกัด กทม.ภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2567
โดยให้ติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศทางเว็บไซต์ www.airbkk.com หรือแอปพลิเคชัน AirBKK ในช่วงเวลา 07.00 น. 11.00 น. และ 15.00 น. และในช่วงที่นักเรียนต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยแจ้งเตือนผ่านกิจกรรมธงคุณภาพอากาศในโรงเรียน ได้แก่ ค่าฝุ่น PM2.5 ระหว่าง 0-15.0 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ติดตั้งธงสีฟ้า ค่าฝุ่น PM2.5 ระหว่าง 15.1-25.0 มคก./ลบ.ม. ติดตั้งธงสีเขียว ค่าฝุ่น PM2.5 ระหว่าง 25.1-37.5 มคก./ลบ.ม. ติดตั้งธงสีเหลืองค่าฝุ่น PM2.5 ระหว่าง 37.6-75.0 มคก./ลบ.ม. ติดตั้งธงสีส้ม และค่าฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ 75.1 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป ติดตั้งธงสีแดง โดยช่วงเช้าวันนี้ (12 ธ.ค.66) เวลา10.00 น. ตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ยที่ 50 มคก./ลบ.ม. (ระดับธงส้ม)
กรณี ฝุ่นมีค่าตั้งแต่ 37.6 มคก./ลบ.ม. และสถานการณ์ฝุ่นละอองยังไม่ลดลงและเมื่อคาดการณ์แล้วพบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อนักเรียน ให้ใช้ดุลพินิจปิดการเรียนการสอนดังนี้ ค่าระหว่าง 37.6 – 75 มคก./ลบ.ม. ให้ผู้อำนวยการสถานศึกษา สั่งปิดได้ครั้งละไม่เกิน 3 วัน ผู้อำนวยการเขต ครั้งละไม่เกิน 7 วัน ค่ามากกว่า 75 มคก./ลบ.ม.
สถานการณ์ฝุ่นละอองยังไม่ลดลง และเมื่อคาดการณ์แล้วพบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องติดต่อกัน 3 วัน ให้ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ใช้ดุลพินิจปิดการเรียนการสอนตามอำนาจ ครั้งละไม่เกิน 15 วัน เมื่อฝุ่นละออง PM2.5 มากกว่า 75 มคก./ลบ.ม เกิน 2-5 เขต สถานการณ์ฝุ่นละอองยังไม่ลดลง และเมื่อคาดการณ์แล้วพบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องติดต่อกัน 3 วัน นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สามารถใช้ดุลพินิจปิดการเรียนการสอนตามอำนาจไม่จำกัดเวลา
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินโครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาลสำนักงานเขตอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการ ดังนี้ การปรับปรุงกาพภาพของห้องเรียน โดยใช้งบประมาณซ่อมบำรุง 500,000 บาท/โรงเรียนในการดำเนินการปรับปรุงสภาพ และขอจัดสรรงบประมาณปรับปรุงสภาพกาพภาพของห้อง ให้เป็นระบบปิดโดยการกรุช่องเปิด การจัดหาระบบปรับอากาศภายในห้อง จะดำเนินการโดยกระบวนการประสานความร่วมมือ (Public Private Partnership) หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) นำเครื่องปรับอากาศส่วนที่มีความจำเป็นน้อยมาใช้ในห้องปลอดฝุ่น และขอจัดสรรงบประมาณของกรุงเทพมหานคร และการจัดหาเครื่องฟอกอากาศแบบเคลื่อนย้ายได้ จำนวน 1,743 เครื่อง สำนักการศึกษาได้รับประมาณปี 2567 ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างสรรหาผู้รับจ้าง (e-biding)
รัฐ-เอกชน Work From Home
พรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร ได้ขอความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมเป็นเครือข่าย Work From Home เพื่อลดฝุ่น PM2.5 ในช่วงที่มีการคาดการณ์พยากรณ์ว่าค่าฝุ่นสูงเพื่อช่วยลดจำนวนยานพาหนะบนท้องถนน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ลงทะเบียนแล้ว 133 แห่ง และสนใจเข้าร่วม 114 แห่ง รวมจำนวนพนักงาน 5 หมื่นคน หากหน่วยงานหรือองค์กรประสงค์เข้าร่วม Work From Home ลดฝุ่น PM 2.5 สามารถลงทะเบียนได้ในลิงค์ https://me-qr.com/LM6Q8Jhs
สกัดแหล่งกำเนิดฝุ่น
เอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 ของกรุงเทพมหานคร สะสมตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 – 11 ธ.ค. 66 โดยตรวจ 2 ครั้ง/เดือน ว่า จากการตรวจสถานประกอบการ/โรงงาน 350 แห่ง พบว่าไม่ผ่านจำนวน 8 แห่ง แพลนท์ปูน 119 แห่ง ไม่ผ่าน จำนวน 17 แห่ง สถานที่ก่อสร้าง219 ไม่ผ่าน จำนวน 33 แห่ง และสถานที่ก่อสร้างที่อยู่ในความดูแลของสำนักการโยธา กทม. 306 แห่ง ไม่ผ่าน จำนวน 1 แห่ง นอกจากนี้ยังได้ตรวจสถานที่ถมดิน/ท่าทราย 23 แห่ง จำนวน 271 ครั้ง ซึ่งผ่านครบทุกแห่ง
ในส่วนการตรวจยานพาหนะควันดำของสำนักงานเขต จำนวน 2,890 คัน สั่งให้ปรับปรุงแก้ไข 18 คัน การตรวจรถยนต์ปล่อยควันดำ โดยความร่วมมือระหว่างกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) และกรุงเทพมหานคร จำนวน 142,448 คัน สั่งห้ามใช้ 2,221 คันการตรวจรถโดยสารประจำทาง/ไม่ประจำทาง โดยขบ. จำนวน 37,497 คัน สั่งห้ามใช้ 117 คัน และการตรวจรถบรรทุก โดยขบ. จำนวน 94,731 คัน สั่งห้ามใช้537 คัน
เอกวรัญญู กล่าวเพิ่มเติมถึงมาตรการเชิงรุกเพื่อรับมือและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองPM2.5 ของกรุงเทพมหานครในปี 2567 ว่า มาตรการดังกล่าวประกอบด้วย การเฝ้าระวัง แจ้งเตือนฝุ่น การควบคุมแหล่งกำเนิด และการป้องกันดูแลสุขภาพประชาชน รวมทั้งมีการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ การเดินทางทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ พัฒนาทางเท้า ส่งเสริมการเดินทางด้วยจักรยาน การให้บริการ Feeder ไปสู่ระบบขนส่งสาธารณะ หรือส่งเสริมการใช้ยานพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การบำรุงรักษาเครื่องยนต์เพื่อลดมลพิษเพื่อการมีส่วนร่วมลดปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี ประชาชนสามารถตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่นละอองก่อนออกจากบ้าน ผ่านทางช่องทาง ดังนี้ แอปพลิเคชัน AirBKK www.airbkk.com FB: สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร FB: กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม FB: กรุงเทพมหานคร LINE ALERT และ LINE OA @airbangkok