ฝุ่นทวีความรุนแรง พื้นที่เหนือ-อีสาน ปริมาณคนไข้พุ่ง

พบคนไข้เลือดกำเดาไหล ไอ เจ็บคอ มีเสมหะปนเลือดเพิ่ม ‘นักวิชาการ’ ห่วงผู้ป่วยมีปัญหาทางปอดอาการกำเริบ ระยะยาวเสี่ยงมะเร็งปอดเร็วขึ้น แนะเร่งดูแลกลุ่มเสี่ยง จัดสถานที่ปลอดภัยช่วงฝุ่นหนาแน่น

สถานการณ์ฝุ่นปัจจุบันในไทย กระจายตัวไปในหลายพื้นที่ ทั้วปริมาณฝุ่นซึ่งเกิดขึ้นจากการเผาไหม้ทั้งในประเทศและข้ามมาจากประเทศข้างเคียง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่จมูกซึ่งเป็นด่านแรกที่จะสัมผัสกับฝุ่น จนเกิดอาการระคายเคือง จมูกอักเสบ หรือเลือดกำเดาไหลได้ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับทางเดินหายใจอยู่แล้ว ยิ่งเด็กเล็ก ๆ ยิ่งมีความเสี่ยง เนื่องจากยังมีภูมิคุ้มกันที่ป้องกันตัวเองได้ลำบากกว่าวัยผู้ใหญ่

ดังจะเห็นจากจากปรากฏการณ์ที่มีคนแชร์ภาพถ่ายลงโซเชียลมีเดียว่ามีอาการเจ็บป่วยรุนแรง มีเลือดกำเดาไหลออกมาทางจมูก ซึ่งคาดว่าสาเหตุมาจากฝุ่น PM 2.5 อาจสะท้อนได้ว่าภัยจากฝุ่นนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน และเป็นปัญหาไต่ระดับขึ้นเรื่อย ๆ 

รศ. นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า ปริมาณคนไข้ในภาคเหนือ อิงจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขนั้นเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี และเห็นชัดเจนในเดือนมีนาคม  ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องของระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่จมูกลงไป ยังมีอาการไอ เจ็บคอ ระคายคอ มีเสมหะ หรือเสมหะปนเลือดได้ ซึ่งจะทำให้คนที่มีปัญหาทางปอดอยู่แล้ว เช่น โรคหืด โรคถุงลมโป่งพอง เกิดอาการกำเริบ

อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนไม่คาดคิด คือ ฝุ่นที่มีขนาดเล็กมากสามารถเล็ดลอดจากเส้นเลือดที่ปอดไปสู่เส้นเลือดทั่วร่างกาย อวัยวะสำคัญที่จะถูกโจมตีคือเส้นเลือดในสมองและเส้นเลือดที่หัวใจ ช่วงนี้ก็จะมีปริมาณคนไข้เกี่ยวกับเส้นเลือดที่สมอง และเส้นเลือดที่หัวใจกำเริบเพิ่มมากขึ้น

ในภาคการแพทย์และภาคประชาชนในช่วง 3 – 5 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลก็เกิดซ้ำ ๆ ในทุกปี ก็คือโรคเฉียบพลันที่ทราบกันอยู่ ทั้ง จมูกอักเสบ เลือดกำเดาไหล ผื่นผิวหนัง ระคายเคืองตา โรคประจำตัวกำเริบ 

แต่สิ่งน่ากังวลในทางการแพทย์ระยะยาว คือ 1. สูญเสียสมรรถภาพปอดถาวร เมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก เปรียบเทียบการสัมผัสกับฝุ่นก็จะคล้ายการรับควันบุหรี่หรือแก๊สพิษ เมื่อเด็กโตขึ้นปอดก็จะเจริญได้ไม่เต็มที่ 

2. มีข้อมูลมากเพียงพอว่าผู้ใหญ่วัยกลางคนขึ้นไปที่สัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 เป็นเวลานานอาจทำให้เป็นมะเร็งปอดได้เร็วขึ้น ในคนที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดอยู่แล้วและมีความเสี่ยงจากพันธุกรรม 

“ส่วนกลุ่มคนที่ไม่มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง ในมุมของทางการแพทย์ ภาวะความเฉียบพลันคงไม่ต่างกัน แต่คนที่มีโรคเรื้อรังผลเฉียบพลันจะรุนแรงกว่า จะมีการระคายเคืองเป็นบางครั้ง เมื่อเวลาฝุ่นจางลงก็อาการเบาลง แต่คนทั่วไปถ้าได้รับผลสะสมนาน ๆ จะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพระยะยาวหรือไม่ ในทางการแพทย์ก็กำลังติดตาม”

รศ. นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มของการไต่ระดับการเกิดโรคทางเดินหายใจของคนไทย ในตอนนี้กำลังรอการสะสมข้อมูล เนื่องจากการติดตามโรคที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ ทางกระทรวงสาธารณสุขเพิ่งเริ่มกระบวนการในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ไม่นาน ซึ่งเบื้องต้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และในอีกสักระยะ คงจะเห็นตัวเลขชัดเจน ว่าโรคที่เกิดจากมลพิษทางอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพ และทางเดินหายใจนั้นเพิ่มมากขึ้นแค่ไหน

“นอกจากการควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ การลดการสูญเสียของผู้คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง จากข้อมูลต่าง ๆ การปกป้องคนกลุ่มเสี่ยงยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน เช่น การจัดสถานที่ปลอดภัยให้ในช่วงที่มีฝุ่นหนาแน่น เพื่อดูแลสุขภาพของพวกเขาในระหว่างนั้น ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และคนที่มีโรคทางเดินหายใจ โดยเฉพาะคนที่ไม่มีกำลังในการปกป้องตัวเอง เช่น ไม่มีที่อยู่อาศัยที่มีระบบแบบปิด ไม่มีระบบฟอกอากาศ เป็นต้น” 

    

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active