จากกรณีมะเร็งปอด คร่าชีวิตบุคลากร ม.เชียงใหม่ แพทย์ย้ำ คนเหนือมีโอกาสโรครุมเร้า เสี่ยงตายผ่อนส่งมากกว่าคนภาคอื่น เพราะจมอยู่ในดงฝุ่นยาวนาน
วันนี้ (6 เม.ย. 67) IQAir รายงานดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) และมลพิษทางอากาศ PM2.5 ใน จ.เชียงใหม่ ล่าสุดเมื่อช่วงเวลาประมาณ 11.00 น. พบว่า ดัชนี AQI สูงถึง 249 มีผบกระทบต่อทุกคนอย่างรุนแรง เช่นเดียวกับค่า PM2.5 ที่สูงถึง 199.1 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งความเข้มข้น PM2.5 ในเชียงใหม่ขณะนี้ถือเป็น 39.8 เท่าของค่าแนวทางคุณภาพอากาศประจำปีขององค์กรอนามัยโลก
ขณะเดียวกัน IQAir ยังได้คาดการณ์คุณภาพอากาศเชียงใหม่ พบว่า ยังคงมีปัญหามลพิษทางอากาศที่อยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อทุกคน ไปจนถึงวันศุกร์ที่ 12 เม.ย.นี้ เป็นอย่างน้อย
สำหรับค่าฝุ่นที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงที่ จ.เชียงใหม่ในเวลานี้ เป็นปัญหาที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความกังวลอันตรายที่จะกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน จึงถูกนำไปเชื่อมโยงกับสถานการณ์การสูญเสียบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย ผศ.พิชญ์อาภา พิศุทธ์เศรณี สำนักวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่ โพสต์ให้ข้อมูล “รายนามคณาจารย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เสียชีวิตเพราะมะเร็งปอด” ล่าสุดได้สูญเสีย ศ.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
ในขณะที่ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงปลายปี 2566 ได้สูญเสีย นพ.กฤตไท ธนกฤตสมบัติ อาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ และ รศ.มงคล รายะนาคร ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นอดีตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ที่ได้ริเริ่มศึกษาฝุ่นพิษมาตั้งแต่ปี 2550 โดยที่ในเวลานั้นยังไม่มีใครรู้จัก PM2.5 ในชื่อโครงการวิจัยเรื่องการวิเคราะห์เพื่อหามลพิษทางอากาศในอนุภาคฝุ่นในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ทุนวิจัยจาก สกว.
และถ้าย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปี 2565 ก็ได้สูญเสีย รศ.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จากโรคมะเร็งปอดเช่นกัน
จากกรณีที่เกิดขึ้น ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้และทรวงอก โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ให้ข้อมูลกับ The Active ว่า PM2.5 สามารถทำลายชีวิตมนุษย์ได้หลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือมะเร็งปอด ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ มีการพิสูจน์ชัดเจน และเป็นที่ยอมรับทั่วโลกตั้งแต่ปี 2013 ว่า PM2.5 เป็น 1st class Carcinogen (สารก่อมะเร็งอันดับ 1) ทำให้เกิดมะเร็งปอดในมนุษย์ และก็เห็นจากงานวิจัยต่าง ๆ ในวารสารทางการแพทย์ ว่า มีผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ไม่ได้สูบบุหรี่มีจำนวนมากขึ้น สัมพันธ์กับถิ่นที่อยู่บริเวณที่มี PM2.5 ไม่ว่าจะประเทศอังกฤษ, เกาหลี, แคนาดา, ไต้หวัน รวมทั้งประเทศไทย
ย้ำชัด PM2.5 ปัจจัยเสี่ยงตายผ่อนส่ง
ในประสบการณ์ของตัวเอง พบว่า คนที่ไม่สูบบุหรี่ และเป็นมะเร็งปอด เพิ่มขึ้นกว่าเมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งแทบไม่เจอเลย ตอนนี้ก็เจอในสัดส่วน 30% ที่ถูกส่งมาตรวจชิ้นเนื้อปอด แล้วถ้าดูในสถิติของประเทศไทย พบว่า ภาคเหนือตอนบนเป็นมะเร็งปอดมากกว่าภูมิภาคอื่น และมากกว่าภาคใต้ประมาณ 2 เท่า ทั้งที่ประชาชนในภาคใต้มีความชุกของการสูบบุหรี่มากกว่าภาคเหนือ แต่ทำไมภาคเหนือจึงมีมะเร็งมากกว่าภาคใต้
“อันนี้จะต้องโทษอะไร มันก็เหลือ PM2.5 ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ปรากฏการณ์นี้ขึ้นมา”
ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์
ส่วนกรณีการเสียชีวิตของ ศ.ระวิวรรณ นั้น ศ.นพ.ชายชาญ ระบุว่า ส่วนตัวไม่เป็นแพทย์เจ้าของไข้ของ ศ.ระวิวรรณ แต่ถ้าพูดในเชิงหลักการงานวิจัยทางการแพทย์ก็เคยมีการนำสัตว์ทดลอง มาถูกกระตุ้นด้วย PM2.5 พบว่า เกิดยีนส์กลายพันธุ์เป็นมะเร็ง ขณะที่การศึกษาในมนุษย์ เคยมีการนำเซลล์ในปอดของมนุษย์เอามา exposure ต่อ PM2.5 พบว่ากระตุ้นให้เซลล์กลายพันธุ์ และเสี่ยงต่อการป่วยเป็นมะเร็ง โดยการศึกษาทางระบาดวิทยาในคนที่อยู่ในห้องที่มี PM2.5 พบว่า มียีนส์กลายพันธุ์ หรือ Epidermal Growth Factor Receptor (EGFR) mutation สูงขึ้น และทำให้เป็นมะเร็งปอด มากกว่ากลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ PM2.5 ต่ำ
“ผมมีความหวังจากภาคประชาชนมากกว่า โดยเฉพาะสภาลมหายใจภาคเหนือ ที่มีการระดมนักวิชาการทุกรูปแบบ ร่วมกันเสนอปัญหาในพื้นที่ ที่มีการเผาซ้ำซากในป่าอุทยานแห่งชาติ 10 แห่ง ที่มีการเผาซ้ำซากเป็น 100,000 ไร่ ใน 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้รัฐบาลไปดับไฟกองใหญ่ตรงนี้ แต่ว่ารัฐบาลไม่ได้ฟัง ไม่ได้ใส่ใจประเด็นนี้เท่าไร แล้วไปเน้นเรื่อง KPI เฉพาะ hotspot การบริหารการจัดการเผา ก็ไม่ได้ทำตามหลักวิชาการ แต่เป็นการเผาเพื่อหลบดาวเทียมหลังบ่าย 2 โดยหลัง 5 โมงเย็น ก็ไฟลาม จากการเผาไม่กี่ 100 ไร่ก็เป็น 10,000 เป็น 100,000 ไร่ใน 2-3 วันต่อมา”
ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์
ศ.นพ.ชายชาญ บอกด้วยว่า ถ้ารัฐบาลยังใช้มาตรการเดิม ๆ อยู่ หรือพยายามสร้างภาพด้วยวาระแห่งชาติ แต่ไม่ฟังคนในพื้นที่ ไม่ฟังภาคประชาสังคม ปัญหานี้ก็จะถึงจุดสิ้นหวัง และอาจจะลุกลามมากขึ้น นอกจากเรื่องในประเทศแล้วก็ยังมี PM2.5 ข้ามแดนจากอุตสาหกรรมเกษตร จากประเทศเพื่อนบ้าน ก็ยังไม่ได้ดำเนินการอะไรจริงจัง เป็นรูปธรรม
‘มะเร็งปอด’ เพชฌฆาตเงียบคนเหนือ
สอดคล้องกับ รศ.นพ.เฉลิม ลิ่วศรีสกุล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า พื้นที่ภาคเหนือพบการเจ็บป่วยด้วยมะเร็งปอดสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ และยังพบว่าคนภาคเหนือที่ป่วยมะเร็งปอดในตอนนี้มีสัดส่วนอายุน้อยลงกว่าคนภาคอื่น ๆ ถือเป็นเทรนด์คนไข้มะเร็งของประเทศที่เกิดขึ้นกับคนอายุน้อย ๆ คนที่ไม่สูบบุหรี่ ทั้ง ๆ ที่สังคมรับรู้กันดีว่าการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุด แต่ว่าช่วงหลังคนเป็นมะเร็งปอด ไม่ต้องสูบบุหรี่ ก็มีเพิ่มขึ้น อ้างอิงข้อมูลจากต่างประเทศก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า ฝุ่น PM2.5 สัมพันธ์กับโรคมะเร็งปอดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“มลพิษทางอากาศคือเพชฌฆาตเงียบ พวกเราต้องตระหนักกันได้แล้ว และต้องหาทางลดการสัมผัสฝุ่น เพราะหากทำไม่ได้เราก็จะตายผ่อนส่งในระยะสั้นยาว เกิดโรคทางเดินหายใจ โรคปอด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคเส้นเลือดสมอง หัวใจ เป็นอัมพาต หรือเสียชีวิตได้ในระยะยาว คือการเกิดมะเร็งชัดเจนอยู่แล้วว่ามาจากการสัมผัสฝุ่น ยิ่งพื้นที่ภาคเหนือ และที่ จ.เชียงใหม่ ที่เกิดปัญหาฝุ่นปริมาณมากเรื้อรังมาเป็นปี ๆ ซึ่งหากเทียบกับค่าเฉลี่ยรายปี ในช่วงที่ฝุ่นสูงมาก ๆ ก็มีโอกาสป่วยด้วยมะเร็งสูง เพราะค่าเฉลี่ยรายปีขององค์การอนามัยโลกอยู่ที่ 5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ทุก ๆ ปีเชียงใหม่ และภาคเหนือค่าฝุ่นสูงกว่านั้นหลายสิบเท่า”
รศ.นพ.เฉลิม ลิ่วศรีสกุล
รศ.นพ.เฉลิม ยอมรับว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าที่หนึ่งคนเผา ล้านคนป่วย ในขณะที่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบบางส่วนก็ยังไม่ตระหนัก ช่วงฝุ่นเยอะ ๆ ยังเห็นบางคนไปออกกำลังกายกลางแจ้ง บางคนไม่ป้องกัน ถ้ายังลดการเผาไม่ได้ ก็ต้องป้องกันตัวเองไม่ให้เอาฝุ่นเข้าไปในร่างกาย ส่วนตัวเน้นย้ำกับคนไข้เสมอว่า “ให้เอาเครื่องฟอกอากาศไปกรองฝุ่น ดีกว่าเอาปอดไปกรองฝุ่น” ซึ่งเชียงใหม่มีปัญหานี้มา 20 ปี และที่ผ่านมาประชาชนก็ต้องช่วยตัวเอง จึงไม่แปลกอะไรที่จะเจอมะเร็งปอดสูงสุดในประเทศ
หลายโรครุมเร้าผลพวงสัมผัสฝุ่น PM2.5
ขณะที่ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยกับ The Active โดยอธิบายถึงผลกระทบจากปัญหาฝุ่น PM2.5 ต่อสุขภาพ ย้ำว่าในทางการแพทย์การเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดของบุคลากร ม.เชียงใหม่ อาจมีความเชื่อมโยงกับปัญหาฝุ่น PM2.5 แต่ต้องตรวจลักษณะทางพันธุกรรมให้ชัดเจน ว่า ถูกกระตุ้นด้วยฝุ่นจริงหรือไม่ ซึ่งก็ถือเป็นหนึ่งข้อสันนิษฐานว่าเป็นผลจากมลพิษโดยตรง
เพราะความจริงแล้วในช่วงหลายปีมานี้มีข้อมูลที่น่าสนใจในพื้นที่ภาคเหนือ พบว่า คนที่มีอายุน้อยลง และผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่ เป็นมะเร็งปอดมากขึ้น ซึ่งอีกไม่กี่ปีจากนี้คาดว่ากรณีตัวอย่างของผู้ที่เสียชีวิตจากมะเร็งปอดในภาคเหนือจะนำสู่การหาทางพิสูจน์ทางการแพทย์ถึงความเชื่อมโยงกับปัญหาฝุ่น PM2.5
“ตอนนี้เรามองผลเฉพาะหน้าของการได้รับมลพิษทางอากาส แค่การระคายจมูก มีเลือดกำเดาไหล ไอ หอบ แสบตา แต่ผลระยะยาวใน 5 ปี 10 ปี น่ากลัวมากกว่า โดยเฉพาะการก่อมะเร็งในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงอยู่ก่อนแล้ว อย่างคนที่สูบบุหรี่ PM2.5 ส่งผลให้มีอัตราความเสี่ยงก่อมะเร็งเพื่อขึ้นอีก 20-30% และ PM2.5 ยังเป็นตัวกระตุ้นให้คนที่มีคามผิดปกติทางพันธุกรรมเกิดการก่อโรคได้ง่ายมากขึ้นด้วย ขณะเดียวกันยังพบความเสื่อมถอยของสมรรถภาพของปอดในระยะยาว จากคนอายุน้อย ๆ เมื่อโตขึ้นแล้วปอดจะเจริญเติบโตไม่เต็มที่ เมื่ออายุเข้าใกล้ 50 ปี อาจเกิดโรคถุงลมโป่งพอง ยังไม่นับผลกระทบต่อระบบหลอดเลือดในร่างกาย ที่จะส่งผลต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ โรคไตเรื้อรัง จอตาเสื่อม เพราะ PM2.5 จะทำให้เส้นเลือดเล็ก ๆ ทั่วร่างกายเสื่อมหมด หากได้รับ PM2.5 ต่อเนื่องยาวนาน”
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ ยอมรับว่า เป็นเรื่องยากจริง ๆ ถ้าจะป้องกันฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือที่อยู่กับปัญหามาต่อเนื่องยาวนานทุกปี หากยังไม่สามารถจัดการที่ต้นทางก่อฝุ่น การระมัดระวังตัวเองจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด คือถ้าฝุ่นหนัก ๆ หลีกเลี่ยงออกจากบ้าน อาคาร อยู่ในห้องที่มีเครื่องกรอง เครื่องฟอกอากาศ สำคัญมาก ๆ คือ ภาครัฐต้องสนับสนุนให้เกิดการสร้างพื้นที่ปลอดภัย มีระบบอากาศปิด กรองฝุ่นภายนอกให้เพียงพอ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องลงทุน แม้เห็นความพยายามเกิดขึ้นในศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง แต่ก็ยังไม่น่าเพียงพอ ภาครัฐ และเอกชน ต้องช่วยกัน