กากแร่แคดเมียมสูญหายกว่าหมื่นตัน ล่าสุดพบแล้ว ซุกอยู่ จ.ชลบุรี เกือบ 5 พันตัน รมว.อุตสาหกรรมสั่ง เร่งขนกลับไปฝังต้นทางที่ จ.ตาก ด้าน สส.ก้าวไกล รุดสอบความรัดกุมในการขนส่งเคมี หลังพบพิรุธสารเคมีถูกขุดส่งไปที่อื่นแม้ฝังกลบดินแล้ว
สืบเนื่องจากกรณีบริษัทแห่งหนึ่งใน จ.ตาก ขายกากแร่สังกะสีและกากแร่แคดเมียม จำนวนกว่า 1.3 หมื่นตัน ให้กับบริษัทปลายทางที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ซอยกองพนันพล ต.บางน้ำจืด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร แต่พบว่าอยู่ในพื้นที่โรงงานแห่งนี้ในตอนนี้เพียง 2,440 ตัน วันนี้ (7 เม.ย.) พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ร่วมกับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ตรวจสอบกระบวนการขนส่งโดยเร็ว เพื่อนำกากแคดเมียมกลับไปฝังกลบที่ต้นทางจังหวัดตาก
โดยก่อนหน้านั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ บก.ปทส. ว่า ตรวจพบถุงบิ๊กแบ็กจำนวนมาก กระจายอยู่ในพื้นที่โรงเรือน ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี คาดว่าจะเป็นกองกากแคดเมียมที่มาจากโรงงานที่สมุทรสาคร โดยขณะนี้ ทางเจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบกองกากดังกล่าว เบื้องต้น นับได้ประมาณ 4,200 ถุง คาดว่าน่าจะมีน้ำหนักรวม ประมาณ 6,720 ตัน และได้ทำการยึดอายัดไว้เป็นที่เรียบร้อย
“ดิฉันจะเร่งสั่งการนำกากแคดเมียมทั้งหมด กลับไปฝังกลบยังแหล่งต้นทางให้เร็วและปลอดภัยที่สุด พร้อมทั้งต้องตรวจสอบว่ายังคงมีกากแคดเมียม หลงเหลือในพื้นที่อื่นอีกหรือไม่ เพื่อคลายความกังวลให้กับประชาชน ซึ่งในวันนี้ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ก็ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์โรงงานที่สมุทรสาครไว้กับ บก.ปทส.เรียบร้อยแล้ว”
พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล
ด้านพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนสิ่งแวดล้อม ได้เข้าพูดคุยกับณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สส.เขต 1 สมุทรสาคร พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุว่า ตัวเถ้าจากการหลอมโลหะหนักที่บรรจุอยู่ในถุงบิ๊กแบ็กนั้น มีส่วนประกอบของโลหะหลายตัว ซึ่งอาจมีปริมาณแคดเมียมไม่มาก หลังจากเข้าพูดคุยกับพนักงานในโรงงานจึงพบว่า บริษัทขนย้ายกากแคดเมียมและสังกะสีมาไว้ในพื้นที่ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ใช้เวลาขนย้าย 3 เดือน อ้างว่ายังไม่มีการนำกากแคดเมียมและสังกะสีเข้าสู่กระบวนการหลอมแต่อย่างใด แต่การที่วางถุงบิ๊กแบ็กในพื้นที่กลางแจ้งเป็นเวลาหลายเดือน ทำให้ถุงมีลักษณะเปื่อยยุ่ย และเคยผ่านฝนตกลงมา อาจมีการชะล้าง แต่เจ้าหน้าที่ก็ชี้แจงว่า ได้มีการผสมซีเมนต์ตั้งแต่ต้นทางกากแคดเมียมจึงถูกคลุมไว้อยู่แล้ว
กากแร่แคดเมียม 1.3 หมื่นตันส่งผลต่อคนสมุทรสาครแค่ไหน?
พูนศักดิ์ ระบุว่า แคดเมียมเป็นวัตถุอันตราย ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ซึ่งมีสารก่อมะเร็ง (Carcinogen) ที่พอได้ยินแล้วหลายคนคงเกิดความกลัว แต่ใช่ว่าการสูดดมหรือสัมผัสแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเสียชีวิตทันที เพราะต้องใช้เวลาในการสะสมจนกว่าร่างกายเราจะไม่สามารถรับได้ โดยแคดเมียมสามารถเข้าสู่ร่างกายเราได้เพียง 2 วิธี คือ 1. ผ่านการสูดดม และ 2. ผ่านการกิน แต่แคดเมียมไม่สามารถซึมผ่านผิวหนังได้ เพราะฉะนั้น ตราบใดที่เราไม่ได้หายใจโดยตรง หรือกินเข้าไป ก็ยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ
- การรับสารแคดเมียมผ่านการหายใจ: ต้องหายใจผ่านลมที่กรรโชกแรงมาก ๆ จนเถ้าโลหะกลายเป็นละอองฝุ่น อย่างแคดเมียมที่ปรากฎในภาพข่าวที่เป็นของแข็งนั้นต้องอยู่ในสภาพหลอมเหลวจนกลายเป็นไอ ซึ่งระดับความร้อนที่ทำให้แคดเมียมหลอมเหลวนั้นอยู่ที่ 300 กว่าองศาเซลเซียส และกลายเป็นไอที่อุณหภูมิประมาณ 700 กว่าองศาเซลเซียส ดังนั้นโอกาสที่ประชาชนทั่วไปจะสูดดมเข้าไปจึงเหลือน้อยมาก ๆ เช่นกัน
- การรับสารแคดเมียมผ่านการกิน: ‘ถ้า’ มีการไหลชะมากับน้ำฝนลงสู่ลำรางสาธารณะ ลงสู่ดิน ไปสู่พืชซึ่งส่วนใหญ่เป็นพืชโตเร็ว เช่น พวกผักบุ้ง มะละกอ สารแคดเมียมก็กระจายไปตามผล ตามใบ ซึ่งถ้ากินเข้าไปก็จะเข้าไปสู่ร่างกาย หรือถ้าไหลไปสู่แหล่งน้ำ ปลาคงจะตายก่อน ดังนั้นโอกาสที่คนจะกินเข้าไปก็คงมีน้อยเช่นกัน แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นก็ต้องมีการตรวจสอบพื้นที่บริเวณโดยรอบ ว่านอกจากในโรงงาน มีสารแคดเมียมในบริเวณโดยรอบด้วยหรือไม่ และควรเลี่ยงการเก็บผัก หาปลาในบริเวณนั้นจะดีที่สุด
พูนศักดิ์ ย้ำว่า กรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศเราอาจยังจัดการกับปัญหาของเสียที่เป็นมลพิษอันตรายได้ไม่ดีพอ หน่วยงานภาครัฐควรระมัดระวังกระบวนการขออนุญาตและการขนส่งขนย้ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งในอนาคต กฎหมายการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับมลพิษที่เป็น Big Data ที่พรรคก้าวไกลนำเสนอให้หน่วยงานและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงงานได้ชี้แจงว่า ของเสียหรือวัตถุอันตรายที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง ทั้งนี้ เพื่อทำให้ประชาชนโดยรอบและหน่วยงานท้องถิ่นได้รับทราบข้อมูล เตรียมตัวรับมือและมาตรการป้องกันอันตรายเพื่อความปลอดภัย ซึ่งกฎหมายนี้ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว
“เถ้าโลหะหนักเหล่านี้หลุดรอดมาได้อย่างไร ใครเป็นคนอนุญาต ทั้งที่จริง ๆ แล้วต้องไปผ่านกระบวนการ stabilization ผสมเถ้าโลหะกับซีเมนต์เพื่อให้รู้สัดส่วนที่เหมาะสมในการฝังในหลุมฝังกลบอย่างปลอดภัย …ซึ่งบ้านเรามีหลุมฝังกลบอย่างปลอดภัยอยู่แค่สองที่คือ ที่จังหวัดราชบุรีกับสระบุรี ซึ่งถือว่าน้อยมาก และกรณีนี้พบว่า ได้มีการฝังในหลุมฝังกลบแล้ว แต่ยังมีการอนุญาตให้ขุดออกมาอีก แล้วส่งมาที่ จ.สมุทรสาคร คำถามคือ อนุญาตถูกต้องหรือไม่ และอนุญาตด้วยเหตุผลอะไร คงต้องตรวจสอบไปยังต้นทาง“
พูนศักดิ์ จันทร์จำปี
ประเด็นเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ ได้ดําเนินการเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมเพื่อตรวจสอบผลกระทบต่อชุมชนแล้ว โดยพื้นดินบริเวณชุมชนเหนือลมและท้ายลมในระยะ 10 เมตร ไม่พบปริมาณสารแคดเมียม และตรวจไม่พบไอ ระเหยสารเคมีในบรรยากาศ และสําหรับการฝังกลบกากแคดเมียมให้ดําเนินการฝังกลบกากแคดเมียม ในพื้นที่เดิมให้ถูกต้องตาม EIA ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน