เชียงใหม่ประกาศภัยพิบัติไฟป่า 5 อำเภอ หลังยืนยันฝุ่นเชียงใหม่ไม่ติดอันดับโลก

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ออกประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยกรณีฉุกเฉิน อัคคีภัย ไฟป่า รวม 317 หมู่บ้าน ใน 5 อำเภอ พร้อมสั่งการเร่งให้ความช่วยเหลือภายใน 3 เดือน แม้เคยยืนยันฝุ่นเชียงใหม่ไม่ติดอันดับโลก ด้านคณะแพทย์ฯ มช. เปิดผลการศึกษา พบ PM2.5 ทำผู้ป่วยมะเร็งปอดภาคเหนือพุ่งสูง อาลัย 4 อาจารย์ มช. เสียชีวิตจากมะเร็งปอด

วันนี้ (7 เมษายน 2567) มลพิษอากาศเชียงใหม่ ยังพุ่งสูงเป็นอันดับต้น ๆ เมืองหลักคุณภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในโลก ควันหนาทึบคลุมทั่วทั้งเมือง จากไฟป่าลุกลามหลายพื้นที่ ด้านสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 เชียงใหม่ ระบุวันที่ 6 -10 เมษายน ความเข้มข้นของฝุ่นละออง มีแนวโน้มทรงตัวถึงเพิ่มขึ้น ส่วนในวันที่ 11 – 14 เมษายน การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างไม่ดี

ด้วยเหตุไฟป่าที่ยังมีความรุนแรงต่อเนื่อง ทำให้ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ของเชียงใหม่ยังอยู่ในระดับอันตราย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและการดำรงชีวิตของประชาชน ด้านนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ออกประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน อัคคีภัย ไฟป่ารวม 5 อำเภอ ดังนี้

  • อำเภอเชียงดาว ประกอบด้วย ตำบลปิงโค้ง หมู่ที่ 1-16, ตำบลเมืองนะ หมู่ที่ 1-14, ตำบลทุ่งข้าวพวง หมู่ที่ 1-7, ตำบลเชียงดาว หมู่ที่ 1-16, ตำบลแม่นะ หมู่ที่ 1-13, ตำบลเมืองงาย หมู่ที่ 1-11 และตำบลเมืองคอง หมู่ที่ 1-6
  • อำเภอแม่แตง ประกอบด้วย ตำบลบ้านเป้า หมู่ที่ 1-7, ตำบลกื้ดช้าง หมู่ที่ 1-8, ตำบลสบเปิง หมู่ที่ 1-13 และตำบลป่าแป๋ หมู่ที่ 1-13
  • อำเภอไชยปราการ ประกอบด้วย ตำบลปงตำ หมู่ที่ 1-8, ตำบลแม่ทะลบ หมู่ที่ 1-7, ตำบลหนองบัว หมู่ที่ 1-11 และตำบลศรีดงเย็น หมู่ที่ 1-18
  • อำเภอฝาง ประกอบด้วย ตำบลเวียง หมู่ที่ 1-20, ตำบลม่อนปิ่น หมู่ที่ 1-15, ตำบลแม่คะ หมู่ที่ 1-15, ตำบลแม่ข่า หมู่ที่ 1-13, ตำบลแม่งอน หมู่ที่ 1-15 และตำบลโป่งน้ำร้อน หมู่ที่ 1-7
  • อำเภอพร้าว ประกอบด้วย ตำบลโหล่งขอด หมู่ที่ 1-9, ตำบลแม่ปั๋ง หมู่ที่ 1-14, ตำบลแม่แวน หมู่ที่ 1-11, ตำบลน้ำแพร่ หมู่ที่ 1-8, ตำบลบ้านโป่ง หมู่ที่ 1-8, ตำบลป่าตุ้ม หมู่ที่ 1-12 และตำบลสันทราย หมู่ที่ 1-14
    .

นิรัตน์ เปิดเผยว่า เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้มีไฟไหม้ป่าเกิดขึ้นจำนวนมากติดต่อกันหลายวัน ส่งผลให้หน่วยจัดการไฟป่าและกำลังทหารที่มีอยู่ในชุดแรกเริ่มอ่อนล้า และต้องการกำลังสนับสนุนมากกว่าที่เป็นอยู่ จึงเร่งประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย เพื่อเพิ่มการใช้กำลังทหารสอดคล้องกับสถานการณ์ และเป็นไปเพื่อการใช้จ่ายงบประมาณอย่างเกิดประโยชน์ โดยตนได้ประสานไปยังแม่ทัพภาค ที่ 3 แล้ว เพื่อขอกำลังทหารเข้าไปช่วยเขตป่าอุทยานแห่งชาติและป่าสงวนแห่งชาติมากขึ้น

ทว่า จังหวัดเชียงใหม่ยังไม่สามารถประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน กรณีฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้ เพราะเป็นภัยที่ไม่มีระเบียบกระทรวงการคลังรองรับการใช้จ่ายงบประมาณ แต่เพื่อให้อำเภอและจังหวัด สามารถดูแลประชาชน กลุ่มเปราะบางในพื้นที่ประสบภัย ได้อย่างเต็มที่ จังหวัดจึงได้เชิญส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันหารือถึงวิธีการปฎิบัติแล้ว

May be an image of 1 person, dais and text that says '#MedCMU 31 าม 2567'
นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

อย่างไรก็ดี ทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เคยให้สัมภาษณ์ผ่านรายการสนามข่าว Online ช่อง 7 เมื่อวันที่ 4 เมษยน 2567 ไว้ว่า ค่าฝุ่นเชียงใหม่แทบไม่เคยเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย ตนติดตามดูค่าฝุ่นทุกวัน จะเห็นเป็นบางชั่วโมงเท่านั้นที่เชียงใหม่ขึ้นเป็นอันดับ 1 และอันดับจะตกลงมาด้วยการระบายฝุ่นออก ย้ำทุกคนต้องฟังให้จบ อ่านหนังสือให้แตก ในเมื่อเชียงใหม่ไม่ได้เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย แล้วจะเป็นที่ 1 ของโลกได้อย่างไร

อาลัย 4 อาจารย์ มช. เสียชีวิตจากมะเร็งปอด ผลศึกษาชี้ PM2.5 สัมพันธ์ต่อมะเร็ง

รศ.นพ.เฉลิม ลิ่วศรีสกุล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์และอาจารย์ประจำหน่วยวิชาระบบการหายใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือสะสมมายาวนานกว่า 10 ปีและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จากการเปรียบเทียบอัตราการตายของ ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ตั้งแต่ปี 2553 – 2564 ระหว่าง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ พบว่าภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ และลำปาง มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดสูงที่สุด

งานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ มช. ได้ทำการศึกษาผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองในพื้นที่ อ.เชียงดาว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีค่า PM2.5 สูงอันดับต้น ๆ ของ จ.เชียงใหม่ โดยการขูดเซลล์บริเวณกระพุ้งแก้มของผู้ป่วยถุงลมโป่งพองไปตรวจ เปรียบเทียบกันระหว่างช่วงที่มีฝุ่น PM2.5 สูงและช่วงที่มีฝุ่น PM2.5 ต่ำ ผลปรากฏว่าในช่วงที่มีฝุ่น PM2.5 สูง เซลล์กระพุ้งแก้มของผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลง บ่งบอกว่ายีนมีความผิดปกติ ซึ่งจะส่งผลในระยะยาว จนกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ในอนาคต 

งานวิจัยยังพบว่า ค่าเฉลี่ย PM2.5 รายวันที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 10 ไมโครกรัม/ลบ.เมตร จะสัมพันธ์กับการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นของประชากรเชียงใหม่ 1.6% ในอีก 6 วันต่อมา ด้าน รศ.นพ.เฉลิม ย้ำว่าการลดปริมาณฝุ่น ได้แก่ ลดการเผาในพื้นที่การเกษตร ควบคุมฝุ่นควันข้ามแดนนั้นมีความสำคัญมากต่อการรักษาคุณภาพชีวิตประชาชน ส่วนประชาชน เมื่ออยู่กลางแจ้งควรใส่หน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้คือ หน้ากากมาตรฐาน N-95, KN-95 หรือ FFP2 และใช้ระยะเวลาในการออกนอกอาคารให้สั้นที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการสูด PM2.5 เข้าไปในร่างกายในปริมาณมาก ๆ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและในระยะยาวได้

อาจารย์บางส่วนของ มช. จึงออกมาเรียกร้องขอให้เร่งแก้ปัญหา และส่งเสียงเตือนภัยอันตรายจากฝุ่น PM2.5 โดยตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปีนี้ มีอาจารย์ มช. เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดแล้ว 4 คน ได้แก่

  • เดือน มี.ค. 2565 รศ.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • เดือน ก.ย. 2566 รศ.มงคล รายะนาคร ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มศึกษาฝุ่นพิษมาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งประเด็น PM2.5 ยังไม่มีการตระหนักรู้มากเท่าปัจจุบัน
  • เดือน ธ.ค. 2566 นพ.กฤตไท ธนกฤตสมบัติ อาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • และล่าสุดเดือน เม.ย. 2567 ศ.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขณะที่เมื่อวาน (6 เมษายน 2567) เป็นการบำเพ็ญกุศลวันสุดท้ายก่อนพร้อมอุทิศร่างเป็นอาจารย์ใหญ่ใช้ศึกษาทางการแพทย์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active