เจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกครั้งที่ 5 เสียงแตก ชี้ พลาสติกเป็นแค่การจัดการขยะเท่านั้น

สนธิสัญญาพลาสติกฯ เสียงแตก! ไม่ได้ข้อสรุป มองการจัดการพลาสติกเป็นเพียงการจัดการขยะเท่านั้น ภาคประชาสังคม เผย ผิดหวัง เหตุแนวโน้มพลาสติกสูงขึ้น แต่ไร้มาตราการจัดการที่ปลอดภัย 

วันนี้ (3 ธ.ค. 2567) สรุปภาพรวมการประชุมของคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Negotiating Committee: INC) ในการจัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเล” ครั้งที่ 5 หรือ INC-5  เรียกอย่างเข้าใจง่ายคือ การเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลก ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่  25 พ.ย. – 1 ธ.ค. 2567 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย ก่อนจัดตั้งมาตรการทางกฎหมายขึ้น พบว่าการเจรจามีความเห็นที่หลากหลาย เนื่องจากมีตัวแทนจากบางกลุ่มประเทศมุ่งให้สนธิสัญญาพลาสติกกลายเป็นเพียงการจัดการขยะเท่านั้น ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าเรื่องพลาสติกเป็นปัญหามลพิษที่ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก และไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแต่ยังส่งผลกระทบไปถึงปัญหาด้านสุขภาพด้วย 

มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) รายงานว่า ร่างสนธิสัญญาที่เปิดเผยในวันสุดท้ายของการเจรจาได้ตัดมาตราที่ว่าด้วย “สารเคมีที่น่ากังวล” หรือสารเคมีอันตรายที่ควรต้องเลิกใช้ออกไปทั้งมาตรา รวมถึงตัดเรื่องการควบคุมปริมาณการผลิตพลาสติกออกไปทั้งหมด เหลือเพียงการกล่าวถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติก ที่ยังมีเนื้อหาเบาและมีรายละเอียดหลายอย่างที่ตกลงกันไม่ได้ ส่งผลให้ร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ถูกลดความสำคัญและวิกฤติการณ์ของ “มลพิษจากพลาสติก” ในภาพใหญ่ให้เหลือเพียง “การจัดการขยะพลาสติก” เท่านั้น

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ระบุว่า  ผิดหวังกับผลการเจรจาในรอบปูซานครั้งนี้ เนื่องจากการผลิตและการบริโภคพลาสติกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดเวลา นั่นทำให้ขยะจากพลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่แก้ไขได้ยากในหลาย ๆ ประเทศ ปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่มองว่า การรีไซเคิลพลาสติกเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง อย่างไรก็ดี การรีไซเคิลไม่สามารถยับยั้งวิกฤติการณ์ทางสิ่งแวดล้อมของโลกที่รุนแรงขึ้นได้ หากไม่มีการควบคุมการผลิตตั้งแต่ต้นทางและยกเลิกสารอันตรายบางประเภทในการผลิตพลาสติกด้วย

“สำหรับประเทศไทยเอง ยังต้องคอยเฝ้าระวังการขยายตัวของโรงงานรีไซเคิลที่ไม่ได้มาตรฐานและกระทำผิดกฎหมาย กิจการรีไซเคิลก่อปัญหามลพิษที่อันตรายสูงกว่าที่เราจะเข้าใจได้ และประเทศไทยกลายเป็นเป้าหมายของการลงทุนอุตสาหกรรมรีไซเคิลทั้งจากทุนไทยและทุนต่างชาติ โดยที่เรายังไม่มีมาตรการจัดการสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษให้เข้มงวด ซึ่งต่อไปเราจะต้องเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนรุนแรงขึ้น หากเราไม่จริงจังกับการแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติก”

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ

ความเห็นต่างที่เกิดขึ้นจากการเจรส่งผลทำให้คณะกรรมการเจรจาที่มาร่วมประชุมกันรวม 178 ประเทศ ไม่สามารถบรรลุสาระสำคัญที่จะนำไปสู่การเป็นสนธิสัญญาพลาสติกโลกได้ในการประชุมครั้งนี้ 

อย่างไรก็ดี ก่อนปิดการประชุม INC-5 ประธานการเจรจาที่เมืองปูซาน ได้สรุปในวันสุดท้ายว่า ผลการเจรจามีความคืบหน้า แต่ยังติดปัญหาสำคัญบางประการที่ยังตกลงกันไม่ได้ และยังมีความเห็นต่างกัน จึงจำเป็นที่จะต้องมีการขยายเวลาการเจรจาออกไปเป็น INC-5.2 ซึ่งคาดว่าจะเป็นกลางปีหน้า 

ด้านกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันกลุ่มเล็ก ๆ ที่นำโดยซาอุดิอาระเบียที่ส่งเสียงคัดค้านเป็นหลัก และแย้งว่า เรื่องนี้ต้องใช้เวลาค่อย ๆ คิดและพิจารณา ทั้งยังวิจารณ์ว่า การกำหนดเวลาให้มีการประชุมอีกในกลางปีหน้า ถือว่ารวดเร็วเกินไป

INC-5เมินเฉยต่อข้อเรียกร้องลดการผลิตพลาสติกและการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม

มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) ซึ่งเกาะติดสถานการณ์การเจรจาครั้งนี้ รายงานว่า พบข้อสังเกตเรื่องความโปร่งใสในการสร้างการมีส่วนร่วมในการเจรจา INC-5 เนื่องจากห้องประชุมไม่มีพื้นที่เพียงพอที่จะรองรับผู้สังเกตการณ์ หรือกระทั่งรัฐสมาชิก ความจุห้องบางห้องอนุญาตให้มีผู้สังเกตการณ์เพียงร้อยละ 3 ของจำนวนที่ลงทะเบียนเท่านั้น ส่งผลให้ภาคประชาชนที่มาสังเกตการณ์การประชุมนับร้อยคนไม่ได้มีส่วนร่วมในการเข้าฟังการเจรจาของผู้แทนรัฐบาลและไม่มีส่วนในการแสดงความเห็น รวมถึงกลุ่มที่มีข้อเรียกร้องสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ อย่างสภาชุนชนพื้นเมือง (Indigenous Peoples Caucus) ด้วย

เส้นทางการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกสู่การยุติมลพิษพลาสติก

การเจรจาระหว่างรัฐบาลเพื่อจัดทำสนธิสัญญานี้เริ่มมาตั้งแต่ INC-1 ที่กรุงปุนตาเดลเอสเต ประเทศอุรุกวัย เมื่อปี 2565 จนถึง INC-5 การประชุมที่กรุงปูซาน ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 25 พ.ย. – 1 ธ.ค. 2567 

โดยในการเจรจาถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มอย่างชัดเจน ได้แก่ กลุ่มประเทศที่เรียกตนเองว่า ผู้สนับสนุนสนธิสัญญา ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป รวมอังกฤษ กลุ่มประเทศส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกา กลุ่มประเทศละตินอเมริกา และกลุ่มประเทศแคริบเบียน 

และอีกหนึ่งกลุ่ม คือ กลุ่มประเทศที่แสดงจุดยืนในเชิงคัดค้าน ซึ่งเรียกตนเองว่า “ประเทศที่มีความคิดเหมือนกัน” ประกอบด้วยกลุ่มประเทศอ่าวและกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน ที่มีซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน รัสเซีย รวมถึงอินเดีย และยังประกอบด้วยสหรัฐอมริกาและจีน ด้วย 

ขณะที่ท่าทีในการประชุมครั้งนี้ 2 ประเทศมหาอำนาจใหญ่มีความเอนเอียงที่จะยอมรับสนธิสัญญาฉบับดังกล่าวได้มากขึ้น โดยเฉพาะจีนพร้อมทั้งแสดงจุดยืนว่าประเทศของตนจะให้ความร่วมมือในการเจรจาครั้งต่อไป เพื่อให้เกิดสนธิสัญญาพลาสติกโลกฯ เพื่อปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์

จากงานวิจัยหลายชิ้น พบว่า พลาสติกแทรกซึมอยู่ในทุกที่ตั้งแต่ในมหาสมุทรจนถึงยอดเขาที่สูงที่สุด และในปัจจุบันเรายังพบพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในร่างกายมนุษย์ ตามรายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติประจำปี ค.ศ. 2023 ระบุว่า สารเคมีที่น่ากังวลในพลาสติกมีมากกว่า 3,200 ชนิด ซึ่งระบุว่าผู้หญิงและเด็กมีความเสี่ยงต่อพิษของสารเคมีเหล่านี้เป็นพิเศษ อีกทั้งการผลิตพลาสติกมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าภายในปี ค.ศ. 2050 ในขณะที่มีการพบไมโครพลาสติก ทั้งในอากาศ ผลิตผลสด และแม้แต่ในน้ำนมแม่ของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ข้อตกลงในการรับมือกับปัญหามลพิษพลาสติกที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย จึงได้มีการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกเพื่อจัดตั้งสนธิสัญญาพลาสติกโลกสู่การยุติมลพิษพลาสติก

อ้างอิง : มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active