โค้งสุดท้าย INC-5 เจรจา ‘ร่างสนธิสัญญาพลาสติก’ ตัวแทนไทย ชี้ ยังไม่ใกล้เส้นชัย!

สะท้อนความท้าทาย จุดเปลี่ยนสำคัญ สู่การแก้ปัญหาวิกฤตพลาสติก แต่การเจรจายังล่าช้า ซับซ้อน เชื่อ มีอิทธิพลกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก ใช้อำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจเพื่อปกป้องผลประโยชน์

The Active ติดตามสถานการณ์ การประชุม INC-5 ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี โดยผู้ร่วมสังเกตุการณ์ และเจรจาของประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวแทนจากภาคประชาสังคม อย่าง มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิบูรณะนิเวศ และ กรีนพีซประเทศไทย เพื่อ ร่าง “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” หรือ Global Plastic Treaty ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา 

ความหวังสนธิสัญญาพลาสติกโลก เดินหน้าไปถึงไหน ?

ขณะที่เข้าสู่การเจรจารอบสุดท้ายเพื่อร่าง สนธิสัญญาพลาสติกโลก (Global Plastic Treaty) โดยคณะกรรมการการเจรจาระหว่างรัฐบาล (INC) ซึ่งจะพัฒนาข้อตกลงเพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติกทั่วโลก ด้วยเป้าหมายที่จะให้มีมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายในการจัดการมลพิษพลาสติก และสิ่งแวดล้อมทางทะเลภายในปี 2568

โดยที่ประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล ครั้งที่ 5 (INC-5) ยังคงเดินหน้าประชุมและเจรจาเพื่อร่างข้อตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งเนื้อหาเจรจาส่วนใหญ่พิจารณาจากเอกสารร่างเบื้องต้น (Non-Paper) เอกสารร่างที่รวบรวมไว้ก่อนหน้านี้ รวมถึงข้อเสนอจากรัฐสมาชิก  

เวทีพูดข้อเรียกร้อง ณ INC-5 เมืองปูซาน © Greenpeace / Sungwoo Lee

แม้การเจรจาจะเร่งรีบ แต่เนื้อหาที่ได้ยังคงมีความซับซ้อนและเต็มไปด้วยข้อขัดแย้ง ทำให้บางประเทศเรียกร้องให้กลับไปพิจารณาจาก Non-Paper ของประธานการประชุม นำไปสู่ความกังวลเกี่ยวกับกระบวนการร่างสนธิสัญญา ว่าจะสามารถดำเนินการได้ทันเวลา ผลที่อาจมาจากนักล็อบบี้จากภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีหรือภาครัฐที่มีแนวโน้มสนับสนุนภาคเอกชน 

“การประชุมครั้งนี้มีคนเข้าร่วมเยอะกว่าครั้งที่แล้ว มันอาจจะดูคึกคัก แต่มันก็ทำให้ตึงเครียดในคราวเดียวกัน” พิชามญช์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ลดพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวถึงการเจรจาครั้งนี้

“ประเด็นหลัก ๆ ที่เป็นข้อถกเถียงคือการลดการผลิต มีทั้งฝ่ายที่คำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อม อยากให้เกิดการลดการลดการผลิต แต่ก็จะมีอีกฝ่าย ที่อาจจะเป็นคนที่ได้ประโยชน์จากการผลิตพลาสติก เขาก็คงไม่ค่อยชอบการลดการผลิต ทำให้เกิดการสนทนาใหญ่มาก ต้องสู้กันเยอะ”

รางวัล “Spoiler of the Day” จาก POPLITE ในการประชุม INC-5 เพื่อให้เห็นความท้าทาย และซับซ้อนของการเจรจาระหว่างรัฐบาลครั้งนี้ POPLITE ได้ชี้ประเทศที่ขัดขวางการเจรจาร่างข้อตกลงมลพิษพลาสติก กลุ่มประเทศที่อาจจะอนุมานได้ว่า เป็นผู้ได้ประโยชน์จากการผลิตพลาสติก : วันแรก ซาอุดีอาระเบีย เริ่มใช้กลยุทธ์ถ่วงเวลาและลดขอบเขตข้อตกลง, วันที่สอง เกาหลีใต้ เจ้าภาพที่ล้มเหลวด้านการจัดการโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการประชุม, วันที่สาม กลุ่มอาหรับและรัสเซีย ที่ถ่วงเวลา และลดขอบเขตข้อเสนอในที่ประชุม, วันที่สี่ อินเดีย ลดความทะเยอทะยานของข้อตกลง อ้างการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาแต่ขัดขวางความคืบหน้า

ทั้งนี้การเจรจายังคงดำเนินต่อเนื่องถึงยามค่ำคืนของหลายวันที่ผ่านมา โดยทุกฝ่ายหวังว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ในที่สุด  

จุดยืนประเทศไทย ทำไม ? ถึงดู ‘สงวนท่าที’

ในการประชุมเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลก ตัวแทนรัฐบาลประเทศไทยได้รับคำชมจากภาคประชาสังคมว่า “ไม่ได้แย่” แต่ก็ยังมีโอกาสพัฒนาให้ดีกว่านี้ ภาคประชาสังคมชื่นชมการทำงานหนักของทีมผู้แทนไทยที่นำเสนอข้อมูลครบถ้วนและรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคม แต่พบข้อจำกัดในแง่การตัดสินใจที่ยังขาดความยืดหยุ่น  

ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์ นักรณรงค์อาวุโส และผู้จัดการโครงการพลาสติกระดับเอเชียอาคเนย์ มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) พูดถึงจุดยืนประเทศไทย “มีกลุ่มประเทศที่มีความทะเยอทะยานทั้งสูงและต่ำ ไทยเราอยู่กลาง ๆ ไม่ได้ดี ไม่ได้แย่”

ศลิษา ยังพูดถึงการทำงานของประเทศไทย โดยเฉพาะประเด็นการลดการผลิตพลาสติกที่มองว่าครอบคลุมดี อย่างไรก็ตาม ความยืดหยุ่นในการตอบสนองต่อสถานการณ์เจรจายังคงน้อยไป เนื่องจากรัฐบาลไทยมีกรอบการดำเนินงาน แผนที่กำหนดไว้อยู่แล้วล่วงหน้า  

“เราคิดว่า ก็ต้องขอบคุณประเทศไทยที่รับฟังภาคประชาสังคม แต่อยากให้เรามีอำนาจในการเจรจามากกว่านี้ ให้มีความยืดหยุ่นได้มากขึ้น”

ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์

ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์ นักรณรงค์อาวุโสและผู้จัดการโครงการพลาสติกระดับเอเชียอาคเนย์
มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF)

ตามระบบราชการประเทศ แม้ตัวแทนภาครัฐประเทศไทยจะมีจากทั้ง กรมควบคุมมลพิษ, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมที่สาธารณรัฐเกาหลี แต่ยังขาดตัวแทนจากอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมลพิษพลาสติก อย่างเช่น กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงมหาดไทย หรือ กรมอนามัย ทำให้อาจขาดมุมมองจากทุกภาคส่วน หรือการตัดสินใจก็จะไม่เด็ดขาด

ในประเด็น ระบบราชการ ตัวแทนไทยในที่ประชุมไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจประเด็นต่าง ๆ ในทันที ต้องนำข้อมูลกลับไปพิจารณาในระดับ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ข้อจำกัดนี้ทำให้การแสดงจุดยืนของไทยในบางประเด็นสำคัญเป็นไปอย่างล่าช้า เมื่อเทียบกับบางประเทศที่ส่งตัวแทนที่สามารถตัดสินใจได้ ณ ที่ประชุมเลย อย่างไรก็ตาม การสงวนท่าทีก็มีข้อดี ช่วยให้ไทยไม่เร่งตัดสินใจในเรื่องที่อาจส่งผลกระทบ เป็นกรอบที่รัดแน่นเกินไปในระยะยาว  

ฐิติกร บุญทองใหม่ ผู้จัดการแผนงานของเสียและมลพิษอุตสาหกรรม มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ขยายประเด็นนี้ว่า “ด้วยวัฒนธรรมและประเพณีของคนไทย รวมถึงระบบการบริหารงาน โครงสร้างการบริหารประเทศ มันมีหลายขั้นตอน หลายชั้น ทำให้ทีมประเทศไทยเหมือนเป็นแค่ผู้นำสารสู่ที่ประชุม และนำสารกลับไปสู่ผู้ที่มีอำนาจจริง ๆ” 

อีกประเด็นที่ตัวแทนภาคประชาสังคมเรียกร้องจากตัวแทนภาครัฐ คือ การสนับสนุนการทำงานในลักษณะทีมเดียวกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวและผลักดันประเด็นสำคัญในเวทีโลก  

ในช่วงโค้งสุดท้ายของการประชุมนี้ ทิศทางของไทยจึงยังต้องถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด แม้ว่าในวันท้าย ๆ ประตูห้องประชุมจะปิดให้แต่ผู้เจรจาระดับสูงเข้าก็ตาม

“หลังจากนี้จะเป็นการเจรจาที่ผู้สังเกตุการณ์อยากพวกเราไม่ได้มีส่วนเข้าไปคุย เป็นการพูดคุยภายใน ส่วนภาคประชาสังคมได้เข้าแค่ช่วงเย็น เราก็ต้องลุ้นว่าในห้องประชุมที่เราไม่ได้เข้า มันจะมีทิศทางไปในรูปแบบไหน”

พิชามญช์ รักรอด

ได้ร่างสนธิสัญญาแรก…ก็เก่งแล้ว

เป็นประโยคที่ ฐิติกร เล่าถึงความหวังจากการประชุมครั้งนี้ “เราคิดว่า ได้ดราฟท์แรกที่น่าจะเบามาก ๆ ออกมาก็เก่งแล้ว เรากลัวว่าดราฟท์แรกก็จะไม่ได้ เหมือนเอาประเทศมานั่งทะเลาะกันแล้วก็กลับบ้าน”

เสียงจากห้องประชุม สะท้อนให้เห็นการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลก (Global Plastics Treaty) ซึ่งถูกคาดหวังให้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการแก้ปัญหาวิกฤตพลาสติก กลับต้องเผชิญกับความท้าทายที่ทำให้ความคืบหน้าเป็นไปอย่างล่าช้าและซับซ้อนกว่าที่ควรจะเป็น

พิชามญช์ ยังเผยว่าการประชุม INC ครั้งล่าสุดมีความล่าช้าอย่างเห็นได้ชัด การอภิปรายเพียงครึ่งทางแรกกลับไม่มีความคืบหน้าสำคัญใด ๆ 

“บางประเทศใช้กลยุทธ์อธิบายยืดยาว ซึ่งเป็นการถ่วงเวลาอย่างชัดเจน แม้แต่ในช่วงพักกลางวันก็ยังมีบางประเทศพูดต่อ ทำให้เกิดความล่าช้าโดยไม่จำเป็น”  

พิชามญช์ รักรอด

พิชามญช์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ลดพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย

เหตุการณ์นี้ย้ำให้เห็นถึงอุปสรรคทางการเมืองและท่าทีที่ในการเจรจาระหว่างรัฐบาลครั้งนี้ ขณะที่ตัวแทนรัฐจากกลุ่มประเทศบางส่วนเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจ ให้ความสำคัญ และจริงจังกับการพูดคุยมากขึ้นได้แล้ว  

การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมถูกลดความสำคัญ ทั้งที่กลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญในพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ โดย ศลิษา ระบุว่า “บางครั้งต้องต่อแถวเข้าห้องเพื่อหาพื้นนั่งฟัง นี่ไม่ควรเกิดขึ้นจากการประชุมเจรจาที่สำคัญขนาดนี้หรือเปล่า คนสังเกตุการณ์ได้พูดให้ข้อมูลน้อยมาก”  

หวั่นผลกระทบต่อสุขภาพ ถูกมองข้าม

ฐิติกร ระบุถึงเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพจากพลาสติกและสารเคมีที่เกี่ยวข้องเป็นอีกประเด็นใหญ่ที่ถูกมองข้าม โดยชี้ว่า ภาคอุตสาหกรรมอ้างว่าผลกระทบต่อสุขภาพยังไม่มีการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน ทำให้ประชาสังคมต้องออกมาแสดงหลักฐานและตีแผ่ข้อมูลผ่านงานแถลงข่าวกะทันหัน 

“ถ้าจะบอกว่า ต้องรอยืนยันว่าสารเคมีในพลาสติกกระทบร่างกายมนุษย์ เราต้องรอให้แก่ ให้เป็นโรคก่อนหรือ มันเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ ถ้าเขาป้องกันแต่แรกก็ไม่ต้องมาเสียเงิน ไม่รวมถึงสุขภาพประชาชนที่จะเสียไป บางพื้นที่เสียโอกาส เสียอาชีพ เสียชีวิต เพราะมลพิษทางสิ่งแวดล้อม พลาสติกก็ไม่ต่างกัน เมื่อเราได้ผลกระทบจากพลาสติกแล้ว เกิดโรคแล้ว แล้วใครจะมารับผิดชอบเรา”

ฐิติกร บุญทองใหม่

ฐิติกร บุญทองใหม่ ผู้จัดการแผนงานของเสียและมลพิษอุตสาหกรรม มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)

ฐิติกร ยังยอมรับด้วยว่า การเจรจาเต็มไปด้วยอิทธิพลของภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกและมักใช้อำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจเพื่อปกป้องผลประโยชน์

“อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นอุตสาหกรรมหลักของโลก และหลายประเทศก็เลือกสนับสนุนพวกเขาเพราะมองเห็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระยะสั้นมากกว่าผลกระทบระยะยาวต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ”  

ฐิติกร บุญทองใหม่

ความล่าช้าและความไม่เป็นเอกภาพในการเจรจาทำให้หลายฝ่ายมองว่าสนธิสัญญาอาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายสำคัญ ในขณะที่โลกกำลังรอคำตอบว่าการเจรจาจะส่งผลออกมาในทิศทางใด

ขั้นตอนผลิตพลาสติก ประเด็นที่ยังต้องถกเถียง

การเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกกำลังเข้าสู่ช่วงที่มีการหารือประเด็นสำคัญอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะเรื่องการลดการผลิตพลาสติก การควบคุมสารเคมีอันตราย และการจัดการกลไกทางการเงินและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่ยังไม่มีฉันทามติชัดเจน  

หนึ่งในหัวข้อที่มีความขัดแย้งสูงที่สุด คือ ขั้นตอนของการผลิตพลาสติก ฝ่ายที่มุ่งเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม และภาคประชาสังคม สนับสนุนมาตรการลดการผลิตอย่างเข้มงวด โดยชี้ว่าเป็นทางออกสำคัญในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ในทางกลับกัน ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลาสติก และกลุ่มประเทศที่พึ่งพาเศรษฐกิจปิโตรเคมี มองว่า การลดการผลิตพลาสติกอาจกระทบห่วงโซ่อุปทานและเศรษฐกิจโดยรวม  

“ประเด็นที่ขัดแย้งมากที่สุดคือมาตรการต้นน้ำ 3 เรื่อง เรื่องการผลิต เรื่องสารเคมี และเรื่องพลาสติกที่ไม่จำเป็น เราต้องยกเลิกอะไรบ้าง อะไรต้องโดนแบน อันไหนปลดระวาง อันไหนค่อย ๆ ลด”

ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ คือ การสนับสนุนกลไกทางการเงินและเทคโนโลยีเพื่อการเปลี่ยนผ่าน หลายประเทศกังวลว่าจะไม่ได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอในการปรับตัวต่อข้อกำหนดใหม่ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา สะท้อนให้เห็นภาพเดียวกับการประชุม COP29 ที่ผ่านมา ที่มุ่งเน้นเรื่องกองทุนสีเขียวต่าง ๆ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้คำสัญญาเรื่องยอดเงินถึงตามเป้า 

ประเด็นเหล่านี้อาจจะทำได้ยากขึ้นเมื่อผู้นำบทสนทนาเหมือนจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและกลุ่มผู้ผลิตพลาสติก ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการหาฉันทามติ

“กลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน ปิโตรเคมี มีอำนาจในการต่อรองเจรจาเชิงเศรษฐกิจค่อนข้างสูง ทำให้ยากที่จะเจรจาให้ได้ถึงขั้นการลด เลิก ห้าม ประเทศที่ค้านก็คือกลุ่มน้ำมัน ประเทศที่มีโรงงานโพลีเมอร์ พลาสติก”

ฐิติกร บุญทองใหม่

การออกแบบร่างที่ 1 ของสนธิสัญญาพลาสติกโลก ยังคงต้องอาศัยการประนีประนอมในหลายประเด็น เพื่อหาความสมดุลระหว่างการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์ทั้งสำหรับมนุษย์และโลกใบนี้ในระยะยาว

ธง #WeAreWatching ณ INC-5 เมืองปูซาน © Greenpeace / Sungwoo Lee

สำหรับการประชุม INC-5 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 โดยการประชุม INC เพื่อร่างสนธิสัญญาพลาสติกโลก มีพื้นฐานมาจากการตัดสินใจในที่ประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEA) เพื่อสร้างข้อตกลงระดับโลกในการจัดการปัญหาขยะพลาสติก เป็นความกดดันว่าสนธิสัญญาฉบับที่ 1 ควรจะตกลงกันให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ หรืออย่างช้าคือสิ้นปีนี้ เพื่อให้ทันเป้าหมายการกำหนดมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายภายในปี 2568

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active