ภาคีเครือข่ายเปิดพื้นที่ส่งต่อโมเดลห้องเรียนสู่ฝุ่น ดันครูเข้าใจปัญหา สร้างความรู้ก่อนป้องกันเด็กจาก PM 2.5 รองฯ ศานนท์ ชี้ กทม. เข้มงวดในการแก้ปัญหา เตรียมขยายงบฯ สร้างห้องปลอดฝุ่น สู่ 437 โรงเรียน
ภาคีเครือข่ายร่วมโครงการยกระดับองค์ความรู้สำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อการตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพในพื้นที่เสี่ยงต่อปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กสู่นโยบายสาธารณะ กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “ห้องเรียนสู่ฝุ่น” เปิดพื้นที่อบรมครูในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร สร้างองค์ความรู้เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่ขณะนี้เข้าสู่ฤดูของฝุ่นแล้ว โดยมีครูจากโรงเรียนในสังกัดกทม. เข้าร่วมทั้งในวันที่ 4 และ 5 ธ.ค. ที่ผ่านมาโดยมี ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครร่วมกิจกรรม
ศานนท์ บอกกับ ไทยพีบีเอส ว่า ทาง กทม.มีความเข้มงวดในการจัดการปัญหาฝุ่นมาโดยตลอด โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางอย่าง เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ
ในส่วนของเด็กเล็กที่มีการผลักดันงบประมาณตั้งแต่ปี 2566 แต่ก็ตกไปในชั้นสภาฯ จึงมีการผลักดันอีกรอบในปีนี้จนได้รับงบประมาณมา ดังนั้น โรงเรียนทั้ง 437 โรงเรียน จะได้ห้องปลอดฝุ่นให้กับเด็ก 100%
“เราไม่ได้ดูดมลพิษอย่างเดียว แต่เราสร้างมลพิษด้วย” การมีหน้ากาก การทำห้องปลอดฝุ่นอย่างเดียวอาจไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมด แต่ต้องทำให้คนรู้ด้วยว่า เขาเอง ถ้าขับรถ ถ้ามีการเผา จุดเชื้อเพลิง เขาเองก็เป็นที่สร้างฝุ่นเหมือนกัน
ห้องเรียนสู้ฝุ่น 30 โรงเรียนนำร่อง สิ่งนี้ไม่ได้ทำแค่เรื่องของการเตือน แต่ทำเรื่องเนื้อหา ที่ทำให้เด็กตระหนักว่าการแจ้งเตือน การเผา ฯลฯ มีอะไรบ้าง ซึ่งทางกทม.จะเอาเนื้อหาทั้งหมดนี้ มาสร้างเป็นสิ่งแวดล้อมศึกษา มีหลักสูตรหลายที่ที่จะสามารถนำมาปรับใช้ได้
กิจกรรมครั้งนี้มีขึ้นเพื่ออบรมครูเป็นหลัก โดยครูจากโรงเรียนต้นแบบก็จะมาแบ่งปันข้อมูลให้ครูจากโรงเรียนต่าง ๆ ที่ยังไม่เข้าใจ ฉะนั้น การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างครูจึงสำคัญ ซึ่งตนได้สั่งการให้สำนักการศึกษาให้มีทีมสื่อสารนิเทศให้รวบรวมหลักสูตรของทุกคนให้กลายมาเป็นหลักสูตรกลาง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดทำอยู่ คิดว่าในปีการศึกษา 2568 หลักสูตรน่าจะแล้วเสร็จ เพื่อให้ครูได้นำวางแผนการสอนได้ทัน
ด้าน พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร บอกว่า โครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นเริ่มมาจาก 30 โรงเรียนนำร่อง ตอนนี้ขยายครบแล้วเป็น 437 โรงเรียน โดยที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. เรื่องอุปกรณ์ตรวจสอบ (Sensor) ส่วนกทม.สนับสนุนตัวกล่อง ซึ่งถือเป็นความร่วมมือกันที่ดี เมื่อทุกโรงเรียนเข้าถึงอุปกรณ์แล้วก็สามารถตรวจสอบค่าฝุ่นได้แบบ Real time
เมื่อเด็ก ๆ ได้เห็นอุปกรณ์แล้วก็จะให้ความสนใจมากขึ้น มีความตระหนักและตื่นตัวเรื่องฝุ่นมากขึ้น สิ่งนี้เป็นเรื่องระยะยาว เพราะเมื่อเรียนจบไปก็จะยังเป็นองค์ความรู้ติดตัว และการทำห้องปลอดฝุ่นก็เป็นการปกป้องสุขภาพเด็กอย่างชัดเจน ดังนั้น 2 มิตินี้จึงสำคัญ ต้องขอขอบคุณทางโครงการที่ช่วยผลักดันให้เกิดขึ้น
ผศ.นิอร สิริมงคลเลิศกุล ที่ในกิจกรรมนี้ได้มายื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย ถือว่าเป็นตัวของภาคประชาสังคม 3 ประเทศร่วมกัน คือ ลาว ไทย และ เมียนมาร์ โดยมีข้อสรุปในภาพรวมโดยเฉพาะในมิติหมอกควันข้ามแดน คือ ต้องการให้มีการพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ ไม่ใช่เฉพาะระหว่างรัฐกับรัฐ แต่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคม
ต่อมาคือ ต้องการให้เกิดพื้นที่นำร่องในการทำงานที่เป็นการ Action ร่วมกัน โดยเสนอให้จังหวัดเชียงรายเป็นที่ที่มีการดำเนินการร่วมกันระหว่างประเทศ จะไม่ใช่แค่ข้อตกลงในกระดาษ หรือแค่การลงสัตยาบัน แต่เป็นศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางภาควิชาการ ภาคกฎหมาย หรือการเรียนรู้พื้นที่ต้อนแบบร่วมกัน
ได้กำหนดให้ว่าเรื่องราวเหล่านี้อาเซียนจะต้องจริงจัง อยากให้เป็นความร่วมของทั้งภูมิภาคถูกยกระดับขึ้นไป และอยากให้มีแพลตฟอร์มกลางระหว่างอาเซียน ระหว่างลุ่มแม่น้ำโขง ที่ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไปสามารถเพิ่มข้อเสนอเชิงนโยบายได้อย่างปลอดภัย
สุดท้ายระหว่างประเทศเอง ควรมีการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้แลกเปลี่ยนในมิติวัฒนธรรม และเชิงวิชาการสู่การศึกษา โดยเฉพาะกรณีของห้องเรียนสู้ฝุ่นควรจะถูกเผยแพร่ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างประเทศ ทั้งห้องเรียนสู้ฝุ่นประเทศลาว กัมพูชา เมียนมาร์ และไทย แล้วเราจะได้กำลังของพลเมืองใหม่ร่วมกันทั้งภูมิภาค เพื่อเขาเหล่านี้จะได้อยู่ในโลกที่เกิดภาวะวิกฤตได้อย่างปลอดภัย
โดยข้อเสนอเหล่านี้เคยยื่นให้กับรัฐสภา นำเสนอในที่ประชุมมิติของหมอกควันข้ามแดนมาแล้ว 1 ครั้ง ส่วนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่ได้ยื่นให้กับไทยพีบีเอส และตัวแทนคณะทำงานในพรบ.อากาศสะอาด และต่อไปจะมีการเผยแพร่เป็นสาธารณะ