แม้ ‘ฝุ่น’ วิกฤต แต่หลายชีวิตไม่มี WFH  

ภาคประชาชน เรียกร้อง กทม. – ท้องถิ่นทั่วประเทศ จัดงบฯ ส่งเสริมป้องกันโรค ซื้อหน้ากาก N95 แจกประชาชน ใช้ป้องกันตัวเองจาก PM 2.5 เรื่องด่วนเฉพาะหน้าที่ต้องรีบคิด หวังช่วยคนหาเช้ากินค่ำ กลุ่มเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อย  

The Active ลงพื้นที่สำรวจชีวิตประจำวันของผู้คนในกรุงเทพฯ ท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่วิกฤตอย่างหนัก แม้ กทม. ขอความร่วมมือให้ Work from home แต่หลายคนก็ยังจำเป็นต้องเดินทาง และทำงานนอกสถานที่ จึงเป็นไปได้ยากที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบจากฝุ่น โดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำ

ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา, ประชาชนเดินทาง, พ่อค้า, วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกัน ว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 กระทบต่อสุขภาพของพวกเขา ตอนนี้เริ่มหายใจไม่ค่อยสะดวก แสบตา แสบจมูก แน่นหน้าอก จึงทำให้ต้องพยายามป้องกันด้วยการใส่หน้ากากอนามัยเท่าที่มี

เมื่อถามถึงการแก้ปัญหาของภาครัฐตอบโจทย์หรือไม่ ? หลาย ๆ คนสะท้อนไปในทิศทางเดียวกันว่า ยังไม่ค่อยตอบโจทย์ เนื่องจาก มาตรการ Work from home ไม่สามารถทำได้ทุกคน อย่างการขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง, รถสามล้อ หรือพ่อค้า แม่ค้า ที่ขายของริมทาง เป็นต้น และก็ยังคงพบผู้ขับขี่ที่ใช้รถปล่อยควันดำอยู่มากเช่นกัน 

สำหรับคนค้าขาย สิ่งที่ต้องการให้ กทม. และภาครัฐช่วย ก็คือ การทำความสะอาดพื้นที่บ่อย ๆ เพื่อลดฝุ่น บางคนบอกว่า ต้องอาศัยการฉีดพ่นน้ำแบบละอองฝอย เพื่อชะล้างฝุ่นในอากาศ

วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่เราพูดคุยด้วย ยอมรับว่า ในฤดูกาลฝุ่นแบบนี้ เป็นช่วงที่แย่ที่สุด เนื่องจากทุกเช้าต้องออกมาทำงานบรรยากาศไม่ดี ห็นฝุ่นฟุ้งเต็มไปหมด เห็นในระยะใกล้ด้วยตาเปล่า อีกทั้งในช่วงค่าฝุ่นสูง ทำให้ไม่ค่อยมีผู้โดยสารเพราะไม่มีใครอยากเดินทาง จึงส่งผลกระทบต่อรายได้

จี้ กทม.-ท้องถิ่น แจกหน้ากาก N95 ประชาชน

ในฐานะของภาคประชาชน ที่ขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพ นิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เรียกร้องให้รัฐบาล กทม. รวมถึงทุกท้องถิ่นที่เผชิญปัญหาฝุ่นเวลานี้ ให้พิจารณามาตรการช่วยเหลือเฉพาะหน้า อย่าง การแจกหน้ากากอนามัย N95 ให้กับประชาชน หรืออาจจะเน้นไปที่กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย คนเปราะบาง คนหาเช้ากินค่ำ ที่ยังจำเป็นต้องออกจากบ้านไปทำงาน

“เราเน้นป้องกันเอดส์ ด้วยการแจกถุงยางอนามัย แจกหน้ากากอนามัยให้กับประชาชนช่วงโควิด ก็ทำมาแล้ว แล้วนี่คือมลพิษทางอากาศที่ต้องหายใจทุกวัน ก็ยิ่งต้องแจกเครื่องป้องกันตัวเองให้กับประชาชน ต้องเป็นหน้ากาก N95 เพราะคนมีรายได้น้อยบางคนไม่มีใช้ ไม่มีเครื่องฟอกอากาศที่บ้าน หนีไปอยู่ต่างจังหวัดก็ไม่ได้ ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ รัฐจึงต้องดูแล ซึ่งคิดว่าใช้งบฯ ส่งเสริมป้องกันโรคของท้องถิ่นสามารถทำได้ จริง ๆ หน้ากาก N95 สำหรับคนหาเช้ากินค่ำ คนเปราะบางแล้ว จำเป็นมากกว่าการไปสร้างห้องปลอดฝุ่นเสียอีก เพราะเขาจะได้ใส่ทำมาหากิน”

นิมิตร์ เทียนอุดม

นิมิตร์ ยังระบุด้วยว่า การมีอากาศไม่บริสุทธิ์ จะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพระยะยาว เพราะฉะนั้นรัฐต้องป้องกันไม่ให้คนมีความเสี่ยง ต้องมองเป็นเรื่องป้องกันโรค ใช้งบฯ ส่งเสริมป้องกันโรค เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชน ต้องแจกจ่ายให้ประชาชนเลย จัดหาจัดวางให้ประชาชนถึงบ้านก็ยังได้

แนะสร้างระบบเหมือนช่วงโควิด เน้นดูแลกลุ่มเปราะบางในชุมชน

สอดคล้องกับ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ ย้ำว่า รัฐต้องลงมาดูแลปัญหานี้อย่างเป็นระบบ ถ้าทำได้แบบโควิดจะดีมาก ต้องรู้ข้อมูลว่าแต่ละชุมชน บ้านไหนมีกลุ่มเปราะบาง ต้องรีบเข้าไปดูแลเร่งด่วน คนมีฐานะมีห้องแอร์ มีเครื่องฟอกอากาศ แต่คนเปราะบางไม่มีที่ให้หลบฝุ่น ดังนั้นจึงต้องให้ข้อมูลว่าเมื่อคุณภาพอากาศขนาดนี้ จะต้องป้องกันตัวเองยังไง

“นี่คือภัยพิบัติทางธรรมชาติ รัฐต้องเร่งดูแลเลย กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง จะทำอย่างไร ที่เชียงใหม่ มีมุ้งสู้ฝุ่น เอาไปดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง ต้องมีเซฟโซนเป็นจุด ๆ ในชุมชน เช่น ที่ศูนยเด็กเล็ก จำเป็นต้องมีห้องกันฝุ่น ต้องดูแล ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ต้องมีข้อมูลให้ชัดเจน เพื่อช่วยเหลือเฉพาะหน้า ระยะยาวค่อยว่ากันอีกเรื่อง”

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ

ปธ.สภาลมหายใจเชียงใหม่ ยังมองว่า จริง ๆ แล้วจำเป็นต้องเร่งประกาศเขตภัยพิบัติ จะได้ให้หน่วยงานรัฐสามารถใช้งบฯ ได้อย่างคล่องตัวเพื่อเอามาแก้ไขปัญหา แต่ก็ติดเรื่องเงื่อนไข หลักเกณฑ์การประกาศ นี่คือปัญหาใหญ่ของ จ.เชียงใหม่ ที่สู้เรื่องนี้มาตลอด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active