ชาวบ้านคลิตี้ ยอมรับ แก้มลพิษข้ามแดน ซับซ้อนกว่า ย้ำปัญหาการฟื้นฟู คนทำไม่เชี่ยวชาญ ใช้เวลานาน ใช้งบฯ มหาศาล ย้อนช่องโหว่ รัฐปล่อยผู้ก่อมลพิษลอยนวล จนต้องใช้เงินงบฯ จากภาษีประชาชนจัดการ ขณะที่ กป.พอช.เหนือ จี้ นายกฯ – ครม. ตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาแม่น้ำกกปนเปื้อนสารพิษส่วนหน้า จ.เชียงราย
ตามที่คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.ภาคเหนือ) ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 /2568 เรื่อง แม่น้ำกกปนเปื้อนสารพิษกำลังฆ่าประชาชน โดยย้ำถึง สถานการณ์แม่น้ำกกปนเปื้อนสารพิษอยู่ในขณะนี้ เป็นผลมาจากการทำเหมืองข้ามพรมแดนที่ปลดปล่อยสารพิษลงสู่แม่น้ำ ผลกระทบมิอาจประเมินการได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยต้องลุกขึ้นปกป้องผู้คน ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม มิให้โดนทำลาย สูญเสียเพราะสารพิษที่ปนเปื้อน
โดย กป.พอช.ภาคเหนือ เรียกร้องต่อรัฐบาลไทย ว่า
- เร่งแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาแม่น้ำกกปนเปื้อนสารพิษส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย โดยมีคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี หรือมติ ครม. โดยมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานศูนย์แก้ไขปัญหาแม่น้ำกกปนเปื้อนสารพิษส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย
- แต่งตั้งคณะกรรมการทุกคณะ ต้องมีสัดส่วนของผู้ได้รับผลกระทบ องค์กรภาคประชาสังคม และภาคส่วนอื่น ๆ
ย้อนบทเรียนฟื้นพิษตะกั่ว ‘ห้วยคลิตี้’
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าว Thai PBS ศูนย์ข่าวภาคเหนือ ระบุถึงเสียงสะท้อนของชาวบ้านคลิตี้ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ที่ชี้ให้เห็นบทเรียนการแก้ไขปัญหา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในลำห้วยคลิตี้ จากการทำเหมืองแร่ตะกั่วในอดีต
“ผลกระทบจากเหมืองคลิตี้ปัจจุบันยังไม่จบไม่สิ้น จนกระทั้งปัจจุบันตัวเองอายุ 30 กว่าแล้ว เรื่องนี้เกิดขึ้นสมัยตัวเองยังอยู่ในท้องแม่”

เสียงสะท้อนของ ธนกฤต โต้งฟ้า ชาวบ้านคลิตี้ ที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิตัวเองที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ตะกั่ว เขาเล่าว่า ปัญหาเหมืองแร่ คือ สิ่งที่ชาวบ้านจะต้องพิสูจน์ท้าทายมากจากข้อจำกัดด้านภาษา และความรู้ รวมถึงการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ก็มีความยากลำบากที่จะต้องใช้ชีวิตในแต่ละวันจากสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ กลับต้องมาพิสูจน์อะไรกับสิ่งที่ชาวบ้านต้องเจอทุกวัน เป็นสิ่งที่ยากมากที่ศาลบอกว่า ชาวบ้านต้องพิสูจน์ บริษัทที่กระทำผิด
- รับชมเพิ่มเติม : “คลิตี้” Gen ใหม่ ทวงชีวิตไร้พิษ “ตะกั่ว”
ธนกฤต ยังระบุว่า ถึงแม้จะมีนักวิชาการ นักกฎหมาย หรือนักกิจกรรมเพื่อสังคมเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านจนสามารถพิสูจน์ได้ โดยต้องมีคนรองรับ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องเป็นคนที่มีอำนาจและความเชี่ยวชาญเฉพาะ
“กรณีคลิตี้ หาคนรับรองว่ามีตะกั่วยากมาก ๆ จนมีหมอคนหนึ่งรองรับว่าได้รับสารพิษจากตะกั่ว เมื่อรองรับไปแล้วอนาคตการทำงานเสียไปด้วย จึงไม่ค่อยมีใครกล้าที่จะรับรอง ไม่มีใครกล้ามายืนยันในกระบวนการพิสูจน์”
ธนกฤต โต้งฟ้า
การพิสูจน์ของชาวบ้านนอกจากจะต้องใช้เวลา ยังต้องใช้เงินและความรู้หลายหลายอย่าง ส่วนในเรื่องของความรับผิดชอบ กรณีคลิตี้ หาคนรับผิดชอบที่แท้จริงตามกฏหมายไม่ได้ และสุดท้ายการเรียกร้องในเรื่องของสุขภาพของชาวบ้านที่ต้องเผชิญจากพิษสารตะกั่ว จากสารพิษเมื่อ 30 ปีที่ปล่อยทุกวันไม่มีวันไหนที่หยุด ในช่วงการพิสูจน์ มีการการอ้างเรื่องของฝนตกทำให้ถังกักเก็บสารพิษแตกลงไปลำห้วยทั้งที่มีการแต่งแร่ริมน้ำ

ปัญหาเหมืองแร่คลิตี้ ช่วงแรก ๆ ที่ชาวบ้านส่งเสียงไปหลายปี เสียงไม่ถูกสะท้อนออกไปสู่สังคม จนกระทั่งมีสื่อมวลชน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน เข้าไป เสียงของชาวบ้านจึงค่อย ๆ ดังขึ้นมา หน่วยงานต่าง ๆ จึงค่อยค่อยขยับเหมือนไฟรนก้น
ขณะเรื่องของการฟื้นฟูระยะยาว ธนกฤต มองว่า ประเทศไทยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการฟื้นฟู อาจจะมีผู้เชี่ยวชาญนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีชนิดต่าง ๆ แต่ไม่มีใครมีความสามารถเฉพาะด้านในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งในน้ำและดิน หรือต่อให้มีเครื่องมือก็ไม่มีใครสามารถใช้นวัตกรรมที่ฟื้นฟูได้จริง
ปัญหาการฟื้นฟูที่ใช้เวลานาน และมีการใช้งบประมาณสูง กรณีเหมืองแร่คลิตี้ ไม่สามารถไม่เรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ก่อมลพิษได้ มีการฟ้องศาลปกครอง กับหน่วยงานความรับผิดชอบควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็เป็นองค์กรรัฐ แม้จะชนะ งบประมาณที่ใช้หลายร้อยล้านบาท หรือเป็นพันล้านบาท ที่ประเมินไว้ก็เป็นภาษีของประชาชนที่ต้องจ่ายตรงนี้ คนก่อสารพิษล้มละลายและหนีหายไม่รับผิดชอบ
ปัญหาระหว่างการฟื้นฟูก็มีมากไม่เสร็จสิ้น เฟสแรกงบประมาณ 450 ล้านบาทก็มีเฟสสองและเฟสอื่น ๆ ซึ่งระหว่างการฟื้นฟูผลกระทบที่ชาวบ้านรับมาหลายปี ต้องกลับมารับผลกระทบจากกระบวนการฟื้นฟูอีกครั้ง

ธนกฤต ย้ำว่า ความท้าทายของแม่น้ำกก มีความซ้ำซ้อนมากกว่าบ้านคลิตี้ เพราะเป็นปัญหาข้ามพรมแดน อาจจะต้องมีการทำงานที่หลากหลายขึ้น และปัญหาก็มีความซับซ้อนด้วย
“ไม่ว่ารัฐบาลหรือองค์กรภาคประชาสังคมจะต่อสู้แค่ไหน สิ่งที่คาดหวังให้คนพื้นที่ประสบภัย สิ่งแรกที่ต้องคิดถึง คือ ชุมชนให้เขามีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษอย่างนี้ได้”
ธนกฤต โต้งฟ้า