อาการประหลาด ปลาแม่น้ำกก แค่ ‘ปรสิต’ หรือส่งสัญญาณ ภัยเงียบจากสารหนู ?

กรมประมง ชี้ชัด ‘ปรสิตไดจีน’ ตัวการตุ่มแดงในปลาแค้ แต่คำถามเรื่องสารหนู จากเหมืองแร่ต้นน้ำในรัฐฉาน ยังไร้คำตอบ ขณะที่งานวิจัยนานาชาติยืนยัน สารหนู ทำให้ปลาอ่อนแอ เปิดทางให้ปรสิตโจมตี สอดคล้องกับอาการที่พบในแม่น้ำกก

ภาพของปลาน้ำจืดตัวเขื่อง อย่าง ปลาแคร่ หรือ ปลาแค้ ที่จับจากแม่น้ำกก ซึ่งพบลักษณะความผิดปกติ มีตุ่มเนื้อสีแดง ตะปุ่มตะป่ำทั่วตัว จนชาวบ้านหลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า “นี่คือโรค หรือสัญญาณจากมลพิษ ?” ในช่วงเวลาที่พบ สารหนู ปนเปื้อนในแม่น้ำกก จนยิ่งทำให้ข้อสงสัยนั้นเกิดขึ้นทวีคูณ

เมื่อไม่นานมานี้ หน่วยงานราชการได้เผยผลวิเคราะห์เบื้องต้นชี้ว่า ต้นเหตุของตุ่มเนื้อบนตัวปลา น่าจะมาจาก “ปรสิต” และ “แบคทีเรียฉวยโอกาส” ทว่าคำตอบนี้เพียงพอแล้วหรือยัง สำหรับพื้นที่ของการปนเปื้อนสารหนู ที่ทั้งคน ปลา และสิ่งแวดล้อม ตกอยู่ในความเสี่ยง

ผลตรวจชี้ ‘ปรสิต’ ตัวการ แต่คำถามยังไม่จบ

เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 68 ณัฐรัฐ พรเดชอนันต์ ประมงจังหวัดเชียงราย แถลงผลการตรวจสอบปลา ความยาว 20 เซนติเมตร น้ำหนัก 85 กรัม ที่จับได้จากแม่น้ำโขงบริเวณปากแม่น้ำคำ บ้านสบคำ ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยระบุว่า ตัวอย่างปลาดังกล่าวมีตุ่มเนื้อแดงตามครีบ หาง หนวด และรอบปาก ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเชียงราย ระบุว่า

  • พบ ปรสิตกลุ่มไดจีน (Digenea) จำนวนมากในตุ่มเนื้อ

  • พบ แบคทีเรีย Aeromonas hydrophila ในบางจุด ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มักแสดงอาการเมื่อปลาอ่อนแอหรือภูมิคุ้มกันต่ำ

  • พยาธิวิทยา พบ ความผิดปกติในหลายอวัยวะ เช่น ตับ ไต ม้าม และเหงือก

โดยสรุปเบื้องต้น คือ การติดเชื้อปรสิต ร่วมกับแบคทีเรียฉวยโอกาส เป็นสาเหตุของตุ่มเนื้อ ไม่ได้เกิดจากมลพิษทางสารเคมีตามข้อสงสัยในชุมชน

แม้ผลตรวจนี้จะอธิบายได้ในระดับชีววิทยา แต่นั่นไม่ได้ตอบคำถามเรื่อง สิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำกก ที่กำลังเผชิญความไม่แน่นอนจาก ต้นน้ำ ที่ไหลมาจากฝั่งเมียนมา โดยเฉพาะรัฐฉาน ที่พบการทำเหมืองแร่ เหมืองทองอย่างต่อเนื่อง และถูกตั้งข้อสังเกต ว่า อาจเป็นต้นทางของการปนเปื้อนสารหนูในแม่น้ำ

งานวิจัยชี้ ‘สารหนู’ กระทบระบบภูมิคุ้มกัน และเนื้อเยื่อปลา

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา ประมงจังหวัดเชียงราย เปิดเผยผลตรวจตัวอย่างปลาในแม่น้ำกก จ.เชียงราย เป็นครั้งแรก ว่า พบสารหนูไม่เกินค่ามาตรฐาน โดยผลตรวจพบสารหนูพบ 0.13 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งในตัวปลา สารหนู ไม่ควรเกินค่าค่ามาตรฐาน 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ถือว่ายังต่ำอยู่เมื่อเทียบกับค่ามาตรฐาน 

ขณะที่ นักพิษวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมนานาชาติ ระบุว่า สารหนูสามารถส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน และเนื้อเยื่อของปลา เช่น ตับ เหงือก และผิวหนัง ทำให้เกิดตุ่มเนื้อหรือแผลเรื้อรัง โดยพบหลักฐานจากงานวิจัยในอินเดียและบังกลาเทศที่ตรวจพบการสะสมของสารหนูในปลาน้ำจืดใกล้แหล่งเหมืองทอง (Sarkar et al., 2016; Rahman et al., 2012)*

ทว่า ในกรณีประเทศไทย แม้มีการตรวจวัดระดับสารหนูในปลาตัวอย่าง โดยตรง แต่ยังไม่มีการวิเคราะห์แหล่งที่มาอย่างครบถ้วน ทำให้ข้อสันนิษฐานนี้ยังคงเป็น “ข้อสงสัยทางวิทยาศาสตร์” ที่ไม่ได้รับการคลี่คลาย หรือฟันธงชัด ว่า สาเหตุมาจากสารหนูหรือไม่ 

ขณะที่หน่วยงานประมง ตอบโต้ต่อข้อกังวลในระดับ “ชีววิทยาของปลา” แต่ในเชิง “พิษวิทยาและนิเวศวิทยา” ยังไม่มีการเปิดเผยแผนตรวจวัดสารเคมีตกค้างในปลา หรือตรวจสอบปริมาณโลหะหนักในแม่น้ำกกช่วงต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ

การตรวจพบปรสิต และแบคทีเรียเป็นเพียงมิติหนึ่งของความจริง ในขณะที่ข้อสงสัยเรื่องการปนเปื้อนสารหนู ยังไม่ถูกพิสูจน์ หรือหักล้างโดยวิธีวิทยาศาสตร์ที่เข้มข้นพอ

หลายภาคส่วนยังคงตั้งคำถามว่า “หากต้นน้ำของแม่น้ำกกมีแหล่งปนเปื้อนจากเหมือง แล้วสัตว์น้ำจะแสดงอาการชัดเพียงใด ?” และจากนี้ เราควรเฝ้าระวังอะไรเพิ่มเติมเพื่อป้องกันไม่ให้มลพิษเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร  นอกจากนั้น หน่วยงานรัฐมีความโปร่งใส และพร้อมมากพอหรือยัง กับการสื่อสารความเสี่ยง ?


อ้างอิง

1. Sarkar, A., et al. (2016).

Title: Effect of arsenic exposure on freshwater fish: A review

Journal: Ecotoxicology and Environmental Safety, Volume 125, Pages 93–103

DOI: 10.1016/j.ecoenv.2015.11.022

เนื้อหา: สารหนูทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางจุลพยาธิวิทยาในตับ ไต และผิวหนังของปลา รวมถึงอาการอักเสบ การเกิดแผล และระบบภูมิคุ้มกันที่ถูกรบกวน

2. Hossain, Z., et al. (2009).

Title: Effect of arsenic on the gill of freshwater fish, Channa punctatus (Bloch): scanning electron microscopic study

Journal: Journal of Environmental Science & Health, Part A, Volume 44(12), Pages 1281–1287

DOI: 10.1080/10934520903140091

เนื้อหา: อธิบายการที่สารหนูสะสมในน้ำและเนื้อเยื่อปลา ทำให้เหงือกของปลาเสื่อม บวม และผิวหนังเป็นแผล

3. Mandal, B.K. and Suzuki, K.T. (2002).

Title: Arsenic round the world: a review

Journal: Talanta, Volume 58, Issue 1, Pages 201–235

DOI: 10.1016/S0039-9140(02)00268-0

เนื้อหา: รายงานกรณีการปนเปื้อนสารหนูในหลายพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงผลกระทบต่อสัตว์น้ำ โดยเฉพาะใกล้แหล่งเหมือง

4. Rahman, M. A., et al. (2012).

Title: Accumulation of arsenic in tissues of freshwater fish (Anabas testudineus) and its histopathological effects

Journal: Ecotoxicology and Environmental Safety, Volume 86, Pages 96–103

DOI: 10.1016/j.ecoenv.2012.08.017

เนื้อหา: ศึกษาการสะสมของสารหนูในตับ ไต และกล้ามเนื้อของปลา และพบว่าทำให้เกิดพยาธิสภาพในหลายระบบ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active