นักวิชาการ ย้ำ หากเป็น ‘สารหนูละลายน้ำ’ ต่อให้สร้างฝาย สร้างเขื่อน ก็หยุดมลพิษปนเปื้อนไม่อยู่ จำเป็นต้องแก้ปัญหาที่เหมือง แหล่งกำเนิด เชื่อ อุปสรรคอยู่ที่ไทยยังไร้ข้อมูล ระบุ หากรัฐบาลยังไม่เปลี่ยนท่าที ไม่ยกระดับการเจรจาต่อรองจริงจัง วิกฤตมลพิษข้ามพรมแดน จะไร้ควบคุม
วันนี้ (22 พ.ค. 68) รศ.ธนพล เพ็ญรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้สัมภาษณ์ Thai PBS ถึงแนวคิดของการแก้ปัญหาสารปนเปื้อนในแหล่งน้ำผิวดินในลำห้วย หรือแม่น้ำ จากกรณีปนเปื้อนจากเหมืองแร่ในอุตสาหกรรม โดยมองว่า วิธีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนที่ถูกต้องทำได้ คือ การหยุดการปลดปล่อยการรั่วไหลจากแหล่งกำเนิดถ้าสามารถทำได้ควรทำสิ่งนี้ก่อน เช่น กรณี บ.คลิตี้ จ.กาญจนบุรี ก็เริ่มหยุดจากแหล่งกำเนิดเหมืองแร่ให้ได้ก่อน
“กรณีแม่น้ำกก ถ้าต้นน้ำมาจากทางเมียนมา ต้องหยุดการปลดปล่อยหรือรั่วไหลให้ได้ก่อน ถ้าจะสร้างอะไรกักเก็บต้องไปสร้างในฝั่งเมียนมา ควรสร้างบริเวณต้นน้ำใกล้เหมืองไม่ให้ไหลเข้าสู่ประเทศไทยและมากักที่ไทยถ้ามองตามหลักวิชาการ สิ่งที่ไหลปนเปื้อนในแหล่งน้ำก็ต้องมีวิธีการจัดการ”
รศ.ธนพล เพ็ญรัตน์

รศ.ธนพล บอกด้วยว่า วิธีการแก้สารพิษในแม่น้ำ หรือ ลำห้วย มี 2 วิธี คือ 1. การครอบตะกอนปนเปื้อนไว้ใต้ดิน 2. การทำตัวดักตะกอน โดยสามารถทำได้ทั้ง 2 แบบ
อย่างกรณีเหมืองคลิตี้ เป็นการปนเปื้อนปล่อยของลงมาตามลำห้วยมี ตะกั่ว 20,000 – 40,000 ตัน และเมื่อมาผสมกับตะกอนดินจะมีปนเปื้อนรวมมากกว่า 200,000 ตัน ประเด็นในตอนนั้นบ่อแร่ของคลิตี้ยังรั่วหรือไม่ ถ้ายังรั่ว สารตะกั่วก็ยังมีต่อทำให้มีฝายดักตะกอน แต่ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพเพราะยังปนเปื้อนไปเรื่อยๆ
“ประเด็นของฝายดักตะกอน คือ การออกแบบ ถ้าเทคโนโลยีไม่สามารถทำงานได้ ก็ต้องออกแบบให้ถูก”
รศ.ธนพล เพ็ญรัตน์
กรณี บ.คลิตี้ใช้การออกแบบฝายดักตะกอนขนาดใหญ่ทั้งหมดทั่วไป ซึ่งตะกอนที่รั่วมาจาก บ.คลิตี้เป็นตะกอนขนาดเล็กมากในระดับไมคอน ทำให้ฝายไม่สามารถตักได้ทั้งหมด ทำให้ตะกั่วเล็ก ๆ หลุดมาได้และเกิดการปนเปื้อน เมื่อเกิดน้ำหลาก ตะกอนที่โดนดักไว้สามารถฟุ้งกระจายได้และการดูดก็ไม่สามารถ ดูดตะกอนได้ทันเวลาเมื่อตั้งงบประมาณมาดูดตะกอนก็ไม่สามารถดูดได้ตามระยะเวลาจึงมีการแพร่กระจายของตะกอนสารพิษเกิดขึ้น
“คำถามฝายของคลิตี้ ดักตะกอนได้หรือไม่ คำตอบ คือ ดักได้ แต่อาจจะดักได้เป็นตะกอนขนาดใหญ่และขนาดกลาง แต่ขนาดเล็กที่มีตะกั่วปนเปื้อนสูง ก็หลุดรอดมาตามลำห้วยได้”
รศ.ธนพล เพ็ญรัตน์

ถ้าเป็น ‘สารหนูละลายน้ำ’ ต่อให้สร้าง ฝาย – เขื่อน ก็ช่วยไม่ได้
ส่วนกรณีการสร้างฝายดักตะกอนในแม่น้ำกกนั้น รศ.ธนพล ตั้งถามว่า เป็นสารหนูละลายน้ำ หรือ สารหนูเป็นอนุภาค ถ้าเป็นสารหนูที่เป็นอนุภาคขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ เป็นข้อมูลที่ยังขาดอยู่ในตอนนี้ ถ้าเป็นตะกอนที่เป็นอนุภาคสารหนูอนุภาคขนาดใหญ่ อาจใช้ฝายดักตะกอนดักได้ แต่ถ้าเป็นขนาดเล็กระดับไมครอนต้องเป็นฝายขนาดใหญ่ และต้องออกแบบดี ๆ ให้สามารถดักได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ถ้าเป็นสารหนูละลายน้ำ ตรงนี้จบเลยไม่สามารถดักสารหนูได้เลย หรือจะทำคล้าย ๆ ฝายดูดซับสารหนู ที่สามารถกรองได้ ถ้าเป็นตัวที่ละลายน้ำ ที่สำคัญสุดต้องออกแบบให้ถูกให้เหมาะสมกับขนาดพื้นที่ด้วย ปัญหาที่ บ.คลิตี้ ไม่มีการออกแบบคำนวนทางวิศวกรรม ประสิทธิภาพจึงไม่ดีทำให้ฝายดักตะกอนทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพหรือไม่สามารถแก้ปัญหาได้”
รศ.ธนพล เพ็ญรัตน์
ส่วนกรณีภาครัฐเสนอการสร้างเขื่อน รศ.ธนพล เห็นว่า เสนอเป็นแนวคิดได้ แต่ต้องเทียบเรื่องของการออกแบบเขื่อนตัวนี้ สามารถตักได้ขนาดไหน แต่ถ้าเป็นสารหนูที่ละลายน้ำยืนยันว่าเขื่อนไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ หรือเป็นสารหนูที่มีขนาดเล็กมากเขื่อนก็ไม่สามารถช่วยดักสารพิษเหล่านี้
ชี้รัฐบาลไร้แผนแก้พิษข้ามแดน – ‘ฝาย’ ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ
สอดคล้องกับ สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แสดงความกังวลถึงแนวทางที่รัฐบาลไทยใช้ในการรับมือกับปัญหามลพิษข้ามพรมแดนจากแม่น้ำกกและแม่น้ำสายในจังหวัดเชียงราย โดยชี้ว่ามาตรการของรัฐเป็นเพียงการตั้งรับ และยังขาดความมุ่งมั่นในการแก้ไขที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง
โดยรัฐบาลเสนอแผนแก้ปัญหาใหญ่ 2 แนวทาง คือ ปรับปรุงเหมืองในประเทศเมียนมาให้ได้มาตรฐาน และ สร้างเขื่อนกรองสารพิษในแม่น้ำ แต่ สืบสกุล ตั้งข้อสังเกตว่า ทั้ง 2 แนวทางเป็นเพียงวาทกรรมเชิงนโยบาย ที่พยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยยอมรับว่าปัญหานี้ซับซ้อนเกินไป ที่จะแก้ไขผ่านการเจรจา ซึ่งสะท้อนถึงความไม่กล้าตัดสินใจและขาดเจตจำนงทางการเมืองในการเข้าจัดการต้นตอปัญหา

ต้นตอเหมือง ใครคือผู้ก่อมลพิษตัวจริง ?
สืบสกุล ย้ำว่า การทำเหมืองต้นน้ำในฝั่งเมียนมาเกิดขึ้นโดยไร้การควบคุม ไม่ชัดเจนว่าเป็นฝีมือของเมียนมา กลุ่มชาติพันธุ์ หรือกลุ่มทุนใด แต่มีข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมชี้ว่า บริษัทจากจีน มีบทบาทสำคัญ โดยเริ่มจากรัฐคะฉิ่น แล้วค่อย ๆ ย้ายฐานการผลิตลงสู่รัฐฉานซึ่งติดกับพรมแดนไทย
ทั้งนี้จีนเคยประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมจากเหมืองแร่ภายในประเทศ และเมื่อรัฐบาลจีนเข้มงวดกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น บริษัทต่างๆ จึงย้ายฐานไปยังประเทศที่กฎหมายหลวมกว่า และมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ – อย่างเมียนมา
“เมื่อจีนไม่อยากทำแล้ว เหตุใดไทยจึงหวังจะให้จีนหรือเมียนมาปรับปรุงเหมืองให้ได้มาตรฐาน ?”
สืบสกุล กิจนุกร
‘เขื่อน’ กรองพิษ แค่นวัตกรรมบนกระดาษ
ส่วนแนวคิดสร้าง เขื่อนกรองสารพิษ หรือ ฝายดักตะกอน ที่รัฐไทยเสนอ ยังไม่มีต้นแบบหรือนวัตกรรมที่ชัดเจนว่าใช้ได้จริง แม้จะฟังดูดีในทางทฤษฎี แต่ไทยเองก็มีบทเรียนจากการทำเหมือง เช่น กรณีเหมืองทองคำ ที่ยังสร้างผลกระทบแม้จะมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด
ตัวอย่างจาก ลำห้วยคิตตี้ จ.กาญจนบุรี แสดงให้เห็นว่า แม้จะมีการขุดตะกอนปนเปื้อนกว่า 40,000 ตัน แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการได้ดี คล้ายกับสถานการณ์ในลำน้ำกก และแม่น้ำสาย ซึ่งมีสารโลหะหนักปนเปื้อนตลอดแนวยาวกว่า 100 กิโลเมตร แต่กลับไม่มีแผนการจัดการสารพิษเหล่านี้อย่างเป็นระบบ

ขาดข้อมูลสำคัญอุปสรรคการเจรจาระดับนานาชาติ
สืบสกุล ยังเน้นว่า รัฐบาลไทยยังขาดข้อมูลพื้นฐาน 3 ด้านหลัก ที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหาและการเจรจา คือ ข้อมูลพื้นที่เหมืองและชนิดของแร่ ภาพถ่ายดาวเทียมจากจิสด้า แม้จะแสดงพื้นที่เหมือง แต่ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเป็นแร่ชนิดใด และปล่อยสารพิษอะไรออกมาบ้าง ข้อมูลห่วงโซ่แร่ ต้องรู้ว่าใครเป็นผู้ขุด ใครส่งออก ใครนำเข้า เส้นทางแร่เดินทางไปประเทศใด เพื่อระบุตัวผู้รับผิดชอบต่อผลกระทบ
ข้อมูลการนำเข้าแร่ผ่านไทย เช่น แร่ตะกั่ว และแมงกานีสที่ผ่านด่านแม่สาย หากสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าแร่มาจากแหล่งใด และมีสารปนเปื้อนตรงกับที่พบในลำน้ำ ก็จะเป็นหลักฐานสำคัญในการเจรจากับประเทศต้นทาง
ส่วนการขุดแร่ Rare Earth และแร่โลหะหนักเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสีเขียว กลับก่อมลพิษข้ามพรมแดน ซึ่งขยายตัวอย่างเงียบ ๆ ทั้งในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง ส่งผลต่อหลายประเทศในภูมิภาคอุษาคเนย์
“นี่ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะเมียนมา แต่มันกลายเป็นปัญหาระดับโลก”
สืบสกุล กิจนุกร
สืบสกุล ย้ำว่า ไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนจากการตั้งรับ เป็นการเจรจาเชิงรุกกับทั้งเมียนมา จีน และประเทศที่เกี่ยวข้อง พร้อมเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส และเปิดใจกว้างต่อการร่วมมือทุกฝ่าย รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีบทบาทในพื้นที่ หากรัฐบาลไทยยังไม่เปลี่ยนท่าที และยกระดับการเจรจาต่อรองอย่างจริงจัง วิกฤตมลพิษข้ามพรมแดนนี้จะยิ่งทวีความรุนแรง และส่งผลกระทบในระดับภูมิภาคอย่างไม่อาจควบคุมได้