‘สนธิ คชวัฒน์’ ชี้ช่องกฎหมาย ยกระดับพื้นที่ประสบปัญหามลพิษ ให้เป็นพื้นที่พิเศษ รัฐทำได้ทันที ออกข้อกำหนดควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน ยุติกิจกรรมที่เพิ่มความเสี่ยง พร้อมใช้งบฯ ป้องกันความเสียหาย เชื่อ ‘ฝายดักตะกอน’ ชั่วคราว ช่วยกรอบโลหะหนักได้ ย้ำใช้โอกาสเวทีอาเซียน เจรจาเมียนมาจัดการต้นตอ
สนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ให้ความเห็นกับ The Active ถึงแนวทางกฎหมายในการรับมือปัญหามลพิษสารหนู และตะกั่วในแม่น้ำสาย และแม่น้ำกก ที่เชื่อมโยงกับการทำเหมืองทองคำในฝั่งรัฐฉาน ประเทศเมียนมา โดยบอกว่า การประกาศเขตควบคุมมลพิษตามกฎหมายไทยไม่สามารถใช้ได้ในกรณีนี้ เพราะแหล่งกำเนิดมลพิษอยู่ต่างประเทศ
“ถ้าใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ประกาศเขตควบคุมมลพิษไม่ได้แน่นอน เพราะตามหลักต้องควบคุมที่แหล่งกำเนิด ซึ่งในกรณีนี้อยู่ต่างประเทศ เราไม่มีอำนาจจัดการโดยตรง”
สนธิ คชวัฒน์

แนะมาตรการ ‘พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม’ แทนได้ แต่ต้องมีแผนชัดเจน
สนธิ ยังชี้ว่า เครื่องมือทางกฎหมายที่ไทยสามารถใช้ได้จริงในฝั่งของตัวเอง คือ การประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ซึ่งไม่ใช่การควบคุมแหล่งกำเนิด แต่เป็นการป้องกันผลกระทบในพื้นที่ที่ได้รับผลจากมลพิษ
“ถ้าจะให้รัฐไทยทำอะไรได้ในพื้นที่เราเอง ต้องใช้มาตรการประกาศ พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพราะการประกาศเขตควบคุมมลพิษทำไม่ได้ เนื่องจากแหล่งกำเนิดมลพิษอยู่ในเมียนมา”
สนธิ คชวัฒน์
พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม – เครื่องมือชั่วคราวที่ทำได้ทันที
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ยังอธิบายด้วยว่า การประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม เป็นการยกระดับพื้นที่ที่ประสบปัญหามลพิษให้เป็นพื้นที่พิเศษ ที่สามารถออกข้อกำหนดควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือการดำเนินกิจกรรมที่อาจเพิ่มความเสี่ยงได้ เช่น การห้ามใช้น้ำบริเวณที่ปนเปื้อน การย้ายประชาชนออกจากจุดเสี่ยง หรือแม้แต่การจัดการน้ำไม่ให้ไหลผ่านพื้นที่เกษตร
“อย่างที่ภูเก็ต เราห้ามสร้างบ้านบนเขาเกิน 35% ของพื้นที่ เพราะประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครอง เช่นกัน ถ้ารัฐประกาศพื้นที่คุ้มครองในตลาดสายลมจอย หรือแม่สาย เราจะสามารถขอให้คนอย่าเพิ่งใช้น้ำ หรือขอความร่วมมือให้ย้ายออกได้ แล้วใช้งบประมาณจากรัฐป้องกันความเสียหาย”
สนธิ คชวัฒน์
แม้มาตรการดังกล่าวไม่สามารถจัดการที่ต้นตอของปัญหาได้โดยตรง แต่ สนธิ ก็เห็นว่า นี่คือสิ่งที่รัฐสามารถทำได้ทันที เพื่อชะลอความเสียหายที่เกิดกับประชาชนในฝั่งไทย

การเจรจาข้ามแดน – ต้องเกิดขึ้นควบคู่
ขณะเดียวกัน สนธิ ยังย้ำว่า การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต้องมุ่งไปที่การเจรจากับเมียนมา โดยเฉพาะในบริบทของ มลพิษข้ามพรมแดน ซึ่งมีเครื่องมือในระดับภูมิภาคอย่าง กฎหมายมลพิษข้ามแดนของอาเซียน รองรับอยู่แล้ว
“อย่างกรณีฝุ่น PM2.5 เราใช้เวทีอาเซียนให้เลขาธิการแจ้งให้ประเทศต้นทางหยุดการเผา แบบเดียวกันนี้ รัฐบาลไทยสามารถขอให้เมียนมาหยุดปล่อยน้ำเสีย และบรรจุเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วนของอาเซียนได้”
สนธิ คชวัฒน์
แม้การเจรจาจะไม่ง่าย เพราะกิจกรรมเหมืองที่เป็นต้นตอของมลพิษในเมียนมานั้นหลายแห่งเป็น เหมืองเถื่อน และเกี่ยวข้องกับกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น เช่น กลุ่มว้า แต่ก็เชื่อว่า เวทีอาเซียน คือ โอกาสที่ไทยต้องใช้ให้เต็มที่
“เมียนมาก็เป็นเจ้าของประเทศ ถึงจะเป็นพื้นที่กลุ่มว้าก็ต้องรับผิดชอบ เราต้องเจรจา กดดัน หรือแม้แต่ใช้ประเทศมหาอำนาจอย่างจีนกดดันต่ออีกชั้น”
เห็นด้วยสร้าง ‘ฝายดักตะกอน’ – ป้องกันน้ำปนเปื้อนเข้าพื้นที่เกษตร
นอกจากแนวทางเชิงนโยบายและกฎหมาย สนธิ ยังเสนอแนวทางทางวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เช่น การสร้างฝายดักตะกอนสารพิษแบบชั่วคราว โดยอ้างอิงจากกรณีฝายที่ห้วยคลิตี้ จ.กาญจนบุรี ซึ่งเคยใช้จัดการกับสารตะกั่ว จากเหมืองคลิตี้ได้ผลในระดับหนึ่ง
“ตะกอนที่ไหลมาจากฝั่งโน้นมีสารหนูกับตะกั่วสูงมาก ถ้าเราทำฝายกรองตะกอนแบบง่าย ๆ ใส่อิฐ ทราย ผงถ่าน ขี้เถ้า เรียงกันเป็นชั้นไว้ในตะกร้าลวด น้ำที่ไหลผ่านก็จะลดโลหะหนักลงได้ถึง 80%”
สนธิ คชวัฒน์

นักวิชาการ ยังชี้ว่า ถึงแม้ระบบกรองจะไม่สามารถจัดการกับโลหะหนักที่อยู่ในรูปสารละลายได้ทั้งหมด แต่สามารถลดปริมาณโดยรวมและความเข้มข้นลงได้อย่างมาก และเมื่อต้นทางหยุดปล่อยมลพิษแล้ว ก็สามารถรื้อฝายออกได้ภายหลัง
ต่อเสียงวิจารณ์ว่ากรณีฝายที่ห้วยคลิตี้ไม่ประสบความสำเร็จนั้น สนธิ มองว่า เป็นความเข้าใจผิด เพราะในความเป็นจริงสามารถกรองตะกอนมลพิษได้ถึง 80% แม้จะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ถือว่าช่วยลดความเสียหายได้มาก
ทางเลือกการฟ้องร้อง – ทำได้ แต่ยังไม่รู้ตัวผู้กระทำ
เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ในการฟ้องร้องเอกชนผู้ก่อมลพิษในต่างประเทศ ตามแนวทางที่ไทยเคยใช้ในกรณีน้ำมันรั่วนั้น สนธิ มองว่า “เป็นไปได้ในหลักการ” แต่ติดที่ข้อเท็จจริงว่า ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าใครเป็นผู้ดำเนินการเหมือง เพราะหลายแห่งเป็นกิจการเถื่อน
“จากข้อมูลที่ได้ มีเหมืองถูกต้องตามกฎหมายเพียง 25 แห่ง อีกกว่า 60 แห่งเป็นเหมืองเถื่อนทั้งหมด เราไม่รู้เลยว่าใครอยู่เบื้องหลัง จึงฟ้องเอกชนไม่ได้ ถ้าจะฟ้องก็ต้องฟ้องพม่า ซึ่งต้องผ่านเวทีอาเซียนเท่านั้น”
สนธิ คชวัฒน์
พร้อมทั้งอธิบายว่า เหมืองในฝั่งเมียนมาส่วนใหญ่ใช้วิธี ชะแร่ ด้วยการฉีดสารเคมีเข้าสู่หิน แล้วแช่ด้วยเคมีเพื่อสกัดแร่ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำลายสิ่งแวดล้อมรุนแรง และไม่สามารถควบคุมได้หากอยู่นอกขอบเขตของรัฐไทย
ข้อเสนอเร่งด่วนก่อนประชุมที่ทำเนียบฯ
ก่อนการประชุมอนุกรรมการแก้ไขปัญหาน้ำปนเปื้อนที่จะมีขึ้นในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้ ณ ทำเนียบรัฐบาล สนธิ จึงแสดงความคาดหวังว่า รัฐบาลควรเร่งดำเนินการมาตรการป้องกันในพื้นที่ฝั่งไทยก่อน เช่น การออกแบบ ฝายชะลอน้ำ และเริ่มกระบวนการประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมในเขตที่ได้รับผลกระทบ