นักวิชาการ ชี้ ภาษาไทยวิวัฒนาการไปตามยุคสมัย สิ่งใดไม่นิยมสุดท้ายจะตายไปเอง ผู้รับ-ส่งสารต้องเข้าใจบริบทของอีกฝ่าย การยอมรับภาษาที่เกิดขึ้นใหม่ หมายถึงการยอมรับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จำเป็นปรับตัวเข้าหากัน
29 กรกฎาคม วันภาษาไทยแห่งชาติ ถูกประกาศใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2542 จากความห่วงใยในการใช้ภาษาไทยและการสร้างคำศัพท์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ในช่วงเวลานั้นเอง ผู้มีบทบาทในประเทศมีแนวคิดว่าภาษาไทยมีความร่ำรวยอยู่แล้ว ไม่ควรมีการตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยากอีกต่อไป แต่หากต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่ ควรทำเฉพาะคำที่จำเป็นเท่านั้น
ผ่านมาแล้ว 25 ปี คำศัพท์ใหม่ ๆ ยังคงถูกสร้างขึ้นมาใช้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดผ่านทั้งสังคมออนไลน์และในชีวิตจริง หลายคำถูกใช้ต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี บางคำเป็นการผลิตซ้ำความหมายเดิม แต่เพิ่มเติมหรือลดทอนอารมณ์ของผู้พูด เช่น ตุย ขิต จะเครซี่ หรือบางคำกลายเป็นการแสดงความหมายคู่ตรงข้ามเพื่อแสดงความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ (เช่น ดีอยู่ = ไม่ดีเท่าไหร่)
ท่ามกลางข้อเถียงของคนต่างเจเนอเรชันถึงระดับและความเหมาะสมของการใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะการติดต่อสื่อสารระหว่างเด็กรุ่นใหม่ใช้กับครูอาจารย์ อ.พงษ์กรณ์ วีรพิพรรธน์สาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่าภาษาคือการแสดงออกเชิงอำนาจ การปรับตัวทั้ง 2 ฝ่าย เข้าใจบริบทของแต่ละคนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
“ภาษาต้องมีวิวัฒนาการอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ แม้ตอนนี้ ภาษาที่วัยรุ่นใช้จะห่างไกลจากภาษาในแบบแผนหลักไปมาก แต่การยอมรับเรื่องภาษาที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ หมายถึงการยอมรับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว”
อาจารย์สาขาวิชาภาษาไทยระบุว่า ในหลักสูตรการเรียนการสอนมีเรื่องความเหมาะสมในการใช้ภาษา รวมถึงแบบแผนการเขียนอีเมลหรือติดต่อสื่อสารกับผู้ใหญ่หรือองค์กรอยู่แล้ว หากมีความผิดพลาดเรื่องการใช้ภาษาในเด็ก ผู้ใหญ่ควรบอกกล่าวหรือแนะนำมากกว่าการติเตียนหรือแขวนประจาน
“ภาษามีความเกี่ยวพันกับเรื่องอำนาจหลายมิติ หากเราอยากให้คนนับหน้าถือตาว่าเรามีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เราอาจจะเรียกร้องให้อีกฝ่ายใช้ระดับภาษาหรือวิธีการสื่อสารบางแบบตามที่ตัวเองต้องการ หากอีกฝ่ายไม่ได้มีการแสดงออกที่ตรงตามความคาดหวัง การตำหนิติเตียนออกไปก็อาจยิ่งตอกย้ำความคิดที่ว่าตัวเองมีอำนาจเหนือกว่าอีกฝ่ายเช่นกัน”
พงษ์กรณ์ยังเน้นย้ำอีกว่า ลืมไปว่าตอนเป็นเด็ก เราแทบทุกคนเคยใช้ภาษาไทยผิดพลาด ขาดกาลเทศะเหมือนกัน แต่พอโตมากลับยึดติดกับการที่ต้องใช้ภาษาไทยตามแบบแผน ผู้ใหญ่บางคนเปิดรับภาษาใหม่ ๆ เพราะเป้าหมายในการสื่อสารไม่ได้ผิดไป แต่ผู้ใหญ่บางคนอาจรู้สึกว่าไม่เหมาะสม สิ่งสำคัญคือสองฝ่ายต้องคำนึงว่าผู้รับสารเป็นใคร
“มันคือความคาบเกี่ยวทั้ง 2 ฝ่าย เด็กควรเรียนรู้เรื่องความเหมาะสม ส่วนผู้ใหญ่เองควรค่อย ๆ สอนแบบแผนที่ถูกต้องมากกว่าการตำหนิติเตียนเพราะเขายังอยู่ในช่วงแห่งการเรียนรู้ และตอนนี้เราอยู่ในยุคสมัยที่คนต้องเข้าหากัน มีช่องว่างตรงไหน ควรไปแก้ตรงนั้นให้เข้าใจตรงกันมากขึ้น”
ด้านการบัญญัติศัพท์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น บางคำมาจากภาษาต่างชาติ หรือบางคำมาจากศัพท์ทางวิชาการ พงษ์กรณ์มองว่าการรับคำจากต่างประเทศมาใช้ทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ทางภาษาไทยจริง แต่ปัญหาคือหากแปลงคำจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยจะกลายเป็นคำที่ยาก ประชาชนก็ไม่นำไปใช้ สุดท้าย คำศัพท์คำนั้นก็จะตายไปในที่สุด
คำศัพท์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์หลายคำที่ราชบัณฑิตสร้างออกมา สุดท้ายก็ไม่มีใครนำไปใช้เพราะมันยาก ดูแปลกประหลาดและไม่เป็นธรรมชาติ ส่วนคำศัพท์ในแวดวงวิชาการที่มีนิยามลึกซึ้ง หากแปลเป็นภาษาไทยก็อาจไม่ครอบคลุมความหมายและทำให้เข้าใจยากขึ้นไปอีก
“ภาษาที่สื่อสารได้ดี ควรเป็นภาษาที่อยู่คู่กับชีวิตประจำวันได้ ผมคิดว่าควรเดินคนละครึ่งทาง อาจลองใช้คำภาษาไทยที่ถูกบัญญัติไว้ก่อน หากมันไม่นิยม สุดท้ายก็จะหายไปเอง และอย่าลืมว่าภาษาเป็นเรื่องของการสื่อสาร 2 ฝ่ายอย่างเหมาะสมต่อกันมากกว่า”
ท้ายที่สุดแล้ว พงษ์กรณ์ มองว่า ภาษาไทยเป็นภาษาที่ลื่นไหลและมีเสน่ห์ แต่หลายครั้งคนมักรู้สึกว่าภาษาไทยน่าเบื่อ เพราะนั่นเป็นความรู้สึกที่ติดมาจากในห้องเรียน การเรียนการสอนแบบเดิม ๆ ที่อาจไม่เหมาะกับยุคสมัย ครูอาจารย์จำเป็นต้องปรับตัวด้วยความเข้าใจ เพราะนี่คือช่วงเวลาแห่งการปรับตัวเข้าหากัน ทุกฝ่ายต้องคำนึงว่าผู้ส่งสาร-ผู้รับสารเป็นใครและสื่อสารอย่างเหมาะสม
ในส่วนของศัพท์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในทุกยุคสมัยเป็นเรื่องปกติของมนุษยชาติในการผลิตเครื่องมือที่ใช้ในสื่อสาร หากคำใดที่ใช้งานได้ดี มีประโยชน์ ก็จะได้รับการยอมรับและถูกผลิตซ้ำไปเรื่อย ๆ แต่หากไม่ได้รับความนิยมก็จะถูกลดทอนลงและหายไปตามวันเวลาในที่สุด