นักวิชาการ เสนอใช้ AI รวบรวมปัญหา ความต้องการของสังคม เพื่อออกแบบนโยบายสาธารณะที่ตอบโจทย์ประชาชนมากยิ่งขึ้น
ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) ปัจจุบันได้ถูกพัฒนาและมีความฉลาดเกือบเทียบเท่ามนุษย์มากขึ้น ทำให้มีส่วนช่วยในการทำงานของผู้คนให้มีความสะดวกสบาย จนกลายเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ณ ตอนนี้ แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ หากจะนำ เอไอ มาช่วยในการออกแบบนโยบายสาธารณะ เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายหรือภาครัฐ เข้าใจถึงปัญหาของสังคม และเพิ่มประสิทธิภาพของนโยบายที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน
เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 67 ในเวทีเสวนา PolicyWatch Showcase : นวัตกรรมเชื่อมนโยบายกับประชาชน ภายใต้งาน “AI Horizons: The Future of Media” เมื่อโลกของสื่อ..ต้องพลิกโฉมด้วยพลัง AI ของไทยพีบีเอส ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล นักวิชาการและนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า AI สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการกำหนดนโยบายสาธารณะได้ คือ
- นำไปใช้จับสัญญาณความต้องการของประชาชน และปัญหาทางสังคม ช่วยลำดับความสำคัญที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการ
- รวบรวมข้อมูลสร้างแบบจำลองนโยบายหลาย ๆ ทางเลือกให้รัฐบาลตัดสินใจ
- ช่วยเพิ่มโอกาสให้นโยบายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จากการรวบรวมข้อมูลในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้นโยบายที่ทำออกมาตรงตามความต้องการของประชาชน
- ช่วยสร้างผลตอบรับว่านโยบายที่ทำแล้วคนรู้สึกอย่างไร และรัฐบาลสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปปรับปรุงนโยบายที่ทำอยู่ได้
ผศ.ธีรพัฒน์ ยังยกตัวอย่างในต่างประเทศว่ามีเว็บไซต์ที่ใช้ AI ติดตามนโยบายและการวิเคราะห์ เช่น Policy-Insider.AI และ Plural โดยทั้ง 2 เว็บไซต์มีจุดเด่นที่เหมือนกัน คือ จะติดตามนโยบายและอัปเดตข้อมูลแบบเรียลไทม์บนเว็บไซต์ สร้างเนื้อหาสรุปย่อของภาพรวมนโยบาย ดึงฐานข้อมูลจากสำนักข่าวและงานวิจัยจากที่ต่าง ๆ เพื่อสร้างฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือ จากนั้นนำข้อมูลมาสร้างบทวิเคราะห์ ทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของนโยบาย และดึงผู้คนให้มามีส่วนร่วมกับเว็บไซต์ ด้วยการเล่าเรื่องผ่านรูปภาพ คลิปวิดีโอ และวิชวลไลซ์ (visualize)
อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยออกมาว่า AI ไม่สามารถสร้างนโยบายที่น่าเชื่อถือ และไม่มีประโยชน์ในทางปฏิบัติ และโน้มน้าวไม่ได้ ทั้งนี้ในโลกของนโยบายทางสังคมมีความซับซ้อนอย่างมาก จึงต้องมีคนคอยควบคุม AI ดูเรื่องจริยธรรม การตีความข้อมูล เพื่อนำมาตัดสินใจ
“ในโลกนโยบายสาธารณะเราต้องคิดแล้วว่าทำอย่างไรให้เราใช้ประโยชน์จาก AI ได้ คือ หนึ่ง เราต้องวางสถานะของตัวเองในการทำงานเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น ใช้ AI เป็นเครื่องมือ และคนคอยดูแลเรื่องประเด็นทางจริยธรรม การเชื่อมต่อกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การออกแบบการใช้ AI และท้ายที่สุดใช้ AI เป็นตัวตั้งต้น กวาดสัญญาณ ทำข้อสรุป ทำให้เห็นรูปแบบที่ซ่อนอยู่ แต่คนจะต้องเป็นคนวิเคราะห์และตีความ แปลความการใช้งานนั้น”
ผศ.ธีรพัฒน์ แนะนำว่า สิ่งที่รัฐบาลจะนำ AI มาปรับใช้กับนโยบายได้ก็คือ ใช้ AI รวบรวมปัญหาของประชาชน และจัดลำดับความสำคัญของข้อมูล เพื่อจะได้รู้ว่าเรื่องอะไรที่ควรต้องแก้ไขก่อน ช่วยตัดสินใจกำหนดนโยบายที่มีแนวโน้มประสบความสำเร็จและตอบโจทย์ประชาชน สุดท้ายช่วยประเมินผล โดยให้ AI รวบรวมผลตอบรับจากประชาชนแบบเรียลไทม์ ว่า ประชาชนชอบนโยบายที่ทำออกมาหรือไม่ มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง และนำข้อมูลเหล่านั้นมาปรับปรุงในการทำนโยบายได้
ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่ใช้ประโยชน์จาก AI ที่ช่วยค้นหาปัญหาทางสังคมที่บางครั้งก็เกินศักยภาพที่คนจะมองเห็นได้ ตนคิดว่ารัฐบาลอาจจะไม่สามารถออกแบบนโยบายที่ตอบโจทย์ประชาชน และแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้
เอกภพ สิทธิวรรณธนะ ผู้ประสานงานโครงการชุมชนกรุณาเพื่อการอยู่และตายดี (Peaceful Death) ระบุว่า โครงการชุมชนกรุณาเพื่อการอยู่และตายดี จะทำงานในเชิงครอบครัวให้มีความพร้อมที่จะดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย จากเดิมทำในระดับชุมชน และขยายมาเป็นระดับโรงพยาบาล โดยแพลตฟอร์ม Policy Watch ได้ช่วยเป็นกระบอกเสียงให้กับข้อเรียกร้องของพวกเราให้ปรากฏในสื่อมวลชน สื่อสารไปถึงเครือข่าย และผู้บริหารนโยบาย ซึ่งที่ผ่านมาก ข้อมูลเหล่านี้มีจำนวนมหาศาลและกระจัดกระจาย ซึ่ง AI ได้เข้ามาช่วยจัดระเบียบข้อมูล จนสามารถนำออกมาสื่อสาร เพื่อให้มีความเหมาะสมลงใน Policy Watch และทำเป็นสมุดปกขาวเสนอต่อผู้กำหนดนโยบายด้วยข้อมูลที่น่าเชื่อถือ
ทั้งนี้ AI ยังคงเป็นส่วนเล็ก ๆ ในการทำงานเท่านั้น เพราะโครงการชุมชนกรุณาฯ ยังคงต้องใช้กำลังคนลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากโรงพยาบาลและชุมชน ซึ่งถ้าหากนำข้อมูลเหล่านี้ให้ AI วิเคราะห์และจัดระเบียบ ก็จะกลายเป็นข้อมูลที่นำไปใช้อ้างอิงได้
สัญญา เศรษฐพิทยากุล ผู้ช่วยรองอธิการบดี สำนักดิจิทัลการศึกษาและบริการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มองว่า AI ทำงานร่วมกับคนได้ ช่วยให้สามารถทำงานได้หลายอย่างมากขึ้น หรือลดระยะเวลาการทำงานบางอย่างได้ เพราะ AI ในปัจจุบันเก่งมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในแง่ของการใช้งานจริงจากประสบการณ์ส่วนตัว คือ
- งานแบบแรก ช่วยเตรียมเอกสารงาน ข้อเสนอโครงการวิจัย โครงการขอทุน และโครงการศึกษา
- งานแบบที่สอง ใช้ AI เพิ่มการมีส่วนร่วมในการเรียน โดยให้วิเคราะห์ว่าเด็กสนใจการเรียนมากแค่ไหนจากการจับภาพพฤติกรรมในห้องเรียน
- งานแบบที่สาม ให้เด็กทำงานร่วมกับ AI ซึ่งอาจารย์จะต้องให้โจทย์ที่เด็กจะต้องคิดให้สูงขึ้นและสร้างสรรค์มากขึ้น
- งานแบบที่สี่ การทำงานร่วมกับภาครัฐ ทั้งการเตรียมนโยบาย การวิเคราะห์เหตุการณ์ หรือกระตุ้นนักวิเคราะห์นโยบายในหน่วยงานภาครัฐว่า AI สามารถช่วยในการออกแบบนโยบายได้
ทั้งนี้ ตนเคยจัดกิจกรรมเวิร์กช็อป (Workshop) กับหน่วยงานภาครัฐแห่งหนึ่ง ให้ลองถาม AI ว่า ถ้าเราเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อะไรที่เป็นปัญหาของผู้สูงอายุบ้าง ปรากฏว่าผลวิเคราะห์ของ AI มีทั้งเรื่องการเข้าถึงบริการ การเดินทางในกรุงเทพฯ เป็นต้น รวมถึงยังสามารถวิเคราะห์การแก้ปัญหา ข้อเสนอ และร่างยุทธศาสตร์ หรือแม้กระทั่งออกแบบทำสรุปข้อมูลทุกอย่างให้อยู่ในหน้าจอ (Dashboard) ดังนั้น อย่ากลัวที่ใช้จะ AI แต่ควรจะต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้สามารถทำงานร่วมกับ AI ได้ เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีและรวดเร็วกว่าเดิม
สำหรับงาน “AI Horizons: The Future of Media” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28–30 พ.ย. 67 ณ SCBX NEXT TECH ชั้น 4 สยามพารากอน เพื่อแสดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของไทยพีบีเอส และสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับ AI และสื่อในอนาคต โดยนอกจากเวทีเสวนาอัปเดตเทรนด์เทคโนโลยี AI และแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการใช้ AI จากวงการสื่อทั้งไทยและต่างประเทศ ยังมี Interactive Exhibition นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการของไทยพีบีเอสที่พัฒนาจากเทคโนโลยี AI
โดยในวันที่ 30 พ.ย. ซึ่งเป็นวันสุดท้าย เวทีเสวนาภายใต้ธีม The Future with AI Power อาทิ Future of Organization บริหารองค์กรยุคใหม่ ปรับอย่างไรเมื่อ AI เข้ามา, ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยี, Update Trend and Next Generative AI 2025, SCBX AI-first Organization Journey and FinTech Industry Changing, From Good to Great: Leveraging AI to Skyrocket Your Business Performance พลิกธุรกิจสู่ความสำเร็จ: เร่งการเติบโตและเพิ่มประสิทธิภาพด้วยพลัง AI และ Generative AI in Virtual World AI กับการพัฒนาสื่อในโลกเสมือนจริง ติดตามรายละเอียดและข่าวสารทุกความเคลื่อนไหวเทคโนโลยี AI จาก “ไทยพีบีเอส” ได้ที่ www.thaipbs.ai