แพทย์ชี้ 60% ของผู้ป่วยฝีดาษวานร มีผื่นขึ้นอวัยวะเพศ แต่ยังไม่เข้านิยามของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ย้ำไม่ตีตรา “ชาย รัก ชาย” แต่ต้องยอมรับว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงติดโรค
วันนี้ (6 มิ.ย.2565) ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีการอบรมบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรับมือการระบาดของโรคฝีดาษลิง ซึ่งถือเป็นโรคอุบัติซ้ำ ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ กว่าพันคนแล้ว ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในฐานะหนึ่งในห้องปฏิบัติการที่นำตัวอย่างเคสชาวต่างชาติ ที่มีอาการเข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง คือมีตุ่มและฝื่นขึ้น โดยเดินทางมาจากประเทศเสี่ยง มาเข้าทางท่าอากาศยานนานาชาติ ยืนยันการตรวจสอบทั้ง 6 คน ไม่ใช่ฝีดาษวานรแต่เป็นโรคเริม
ทั้งนี้ หลังจากการเปิดประเทศแล้ว ไทยมีความเสี่ยงที่ฝีดาษวานร จะเข้ามาระบาด เนื่องจากมีการเดินทางจากยุโรป และอเมริกา ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จุดที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือกลุ่มชายรักชาย เนื่องจากเป็นกลุ่มแรกของการระบาดในการเทศกาลไพรด์จากประเทศสเปน เพราะต้องยอมรับว่ามีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสัมผัสใกล้ชิด มี Sexual contact เช่น การจูบ กอดโดย 60% ของผู้ป่วยมีฝื่นทางอวัยวะเพศ แต่ยังไม่เข้านิยามของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
“อยากสื่อสารว่า ชาย รัก ชาย ไม่เท่ากับฝีดาษวานร เพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นถูกตีตราคล้ายกับโรคเอดส์ แต่ต้องเตือนว่ามีความเสี่ยง คือมีพฤติกรรมเสี่ยง”
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ในส่วนของการป้องกัน การคงมาตรการแบบโควิด-19 และการเฝ้าระวังที่สนามบินช่วยได้มาก แต่การป้องกันในอนาคต คือการฉีดวัคซีนฝีดาษลิงนั้น ขณะนี้ยังไม่มี แต่ใช้วัคซีนฝีดาษคน หรือ ไข้ทรพิษแทนได้ ซึ่งสามารถป้องกันได้ 25% และจากกรณีที่องค์การเภสัชกรรม ได้แช่แข็งหัวเชื้อวัคซีนฝีดาษคนไว้ 40 ปี หากนำมาทำวัคซีน จะมีผลข้างเคียงมาก เพราะเป็นเชื้อตัวเต็ม ซึ่งมีรายงานว่าอาจทำให้สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ วัคซีนรุ่นใหม่จะดีกว่า โดยอาจเลือกฉีดวัคซีนกับ บุคลากรทางการแพทย์ ก่อนเป็นกลุ่มแรก
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อายุเกิน 42 ปี เคยปลูกฝีดาษมาแล้วที่ต้นแขน จะช่วยลดการรุนแรงของโรคฝีดาษลิงได้ ส่วนผู้ที่อายุน้อยกว่า 42 ปีไม่ใช่แผลปลูกฝีดาษ แต่แผลวัคซีนวัณโรค
พบไวรัสฝีดาษลิงกลายพันธุ์ 40 ตำแหน่ง
หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก ระบุว่า ยังต้องเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของไวรัสฝีดาษวานร เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบย้อนหลัง 4 ปีที่แล้ว พบว่าปัจจุบันมีการกลายพันธุ์ 40 ตำแหน่ง แต่ยังไม่มีงานวิจัยว่า ติดง่ายขึ้นหรือไม่ แต่ถือว่าเป็นการกลายพันธุ์ที่เร็วกว่าธรรมาติ ซึ่งตามปกติไวรัสจะกลายพันธุ์ 2 ตำแหน่งต่อปี
ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี นักวิจัยประจำศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก ให้ความมั่นใจว่าสามารถตรวจยืนยันได้รวดเร็ว เนื่องจากเป็นโรคอุบุติซ้ำ ที่พอมีข้อมูลรหัสพันธุกรรมพื้นฐาน สิ่งส่งตรวจมีการเก็บสะเก็ดที่แผล ตัวอย่างเลือด และการตรวจ SWAB