ผู้ใหญ่บ้านโคกสว่าง อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร ยอมรับ ชาวบ้านกังวล ขายวัวไม่ได้ กระทบค่าใช้จ่ายรับเปิดเทอม ปัญหาหนี้สิน เรียกร้องส่งเจ้าหน้าที่ดูแลสุขภาพจิตคนในพื้นที่ พร้อมเร่งสรุปที่มาที่ไปการติดเชื้อ กำหนดวันประกาศพื้นที่ปลอดภัยให้ชัดเจน ขณะที่ นักมานุษยวิทยา ชี้ เรื่อง ‘วัว’ ต้องมองให้ครบทั้งห่วงโซ่ กระทบความมั่นคงในชีวิตทุกมิติ แนะ เข้มกลไกความร่วมตรวจสอบ สร้างความปลอดภัยร่วมกัน
วันนี้ (11 พ.ค. 68) ทัศนเทพ รักษ์พิทักษ์กุล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 บ้านโคกสว่าง ต.เหล่าหมี อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร เปิดเผยกับ The Active ถึงความคืบหน้าหลังสิ้นสุดระยะเฝ้าระวังโรคแอนแทรกซ์ในพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่า ตอนนี้ผู้ที่ตรวจพบการติดเชื้อ 3 คน พ้นระยะการรักษาที่โรงพยาบาล และกลับมาอยู่บ้านใช้ชีวิตปกติแล้ว ส่วนชาวบ้านที่อยู่ในกลุ่มคลัสเตอร์เสี่ยงสัมผัสโรคต่างสบายใจขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังไม่คลายกังวลซะทีเดียว โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว และอยู่ในวงสัมผัสใกล้ชิดพื้นที่ชำแหละวัว ซึ่งทางสาธารณสุขยังให้เฝ้าระวังระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะปอดต่อไปให้ครบ 60 วัน เนื่องจากอาจมีการสูดเอาเชื้อเข้าไปในปอด ทำให้ชาวบ้านกลุ่มนี้ยังเครียดและวิตกกังวลอย่างมาก


ขายวัวไม่ได้! กระทบค่าใช้จ่ายรับเปิดเทอม
และที่เกิดความเครียดกังวลหนักในตอนนี้ คือ เรื่องภาระหนี้สินที่ตามมาในช่วงเปิดเทอม เพราะถึงแม้ตอนนี้มีสัญญานที่ดีเพราะยังไม่มีวัวตายเพิ่ม แต่ก็ขายวัวไม่ได้ ซึ่งปกติชาวบ้านจะอาศัยขายวัวที่เลี้ยงมาเป็นค่าใช้จ่ายในช่วงนี้ แต่เมื่อเกิดปัญหาพบคนเสียชีวิตและเชื้อแอนแทรกซ์ ทำให้ไม่สามารถขายวัวได้ จึงต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ซึ่งทางปศุสัตว์เข้ามาควบคุม และห้ามเคลื่อนย้ายวัวในระยะ 5 กิโลเมตร ราวๆ 1,200 ตัวออกจากพื้นที่ ไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ และยังไม่มีความชัดเจนว่า จะยืดยาวไปอีกถึงเมื่อไร ทั้งนี้หากเข้าสู่ภาวะปกติแล้วคำถามสำคัญคือ จะขายวัวได้ไหม เพราะกลายเป็นวัวที่อยู่ในพื้นที่ที่มีรอยโรค ก็มีความกังวลของคนที่จะรับซื้อด้วย ตอนนี้ชาวบ้านจึงลำบากมาก
“ปกติในช่วงเวลานี้ จะเป็นช่วงที่ชาวบ้านจะขายวัว 1-2 ตัว เพื่อที่จะเป็นเงินใช้จ่ายในการรับช่วงเปิดเทอม แต่ตอนนี้ชาวบ้านก็ต้องยอมรับสภาพในการที่จะไปกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่ายไปก่อนก็ส่งผลกระทบอย่างมาก”
ทัศนเทพ รักษ์พิทักษ์กุล


จี้หน่วยงานสรุปต้นตอเกิดโรคให้ชัดเจน
ผู้ใหญ่บ้านโคกสว่าง ยังระบุว่า จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีหน่วยงานทางด้านสุขภาพจิตเข้ามาประเมินและดูแลผลกระทบจากความเครียดของชาวบ้านในชุมชน จึงอยากให้เข้ามาดูแลในส่วนนี้ด้วย รวมถึงการติดตามให้คำแนะนำดูแลกลุ่มที่มีโรคประจำตัว และต้องเฝ้าระวังปอดไปอีก 60 วันอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้สิ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่ต้องการมากที่สุด คือ การสรุปสาเหตุที่เป็นต้นตอ หรือการพบเชื้อครั้งนี้ให้ชัดเจน รวมถึงการประกาศว่าพื้นที่บ้านโคกสว่างปลอดโรคตัวนี้หรือยัง และจะปลอดภัยเมื่อไร ตอนนี้กระทบชีวิตไปหมด

“คือตอนนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่สรุปว่ามันเกิดจากอะไรมาจากไหน ชาวบ้านเขาก็สงสัยนั่นแหละ ว่าทำไมตอนนี้ไม่สรุป ทำไมไม่แถลงข่าวว่าโรคนี้มันมาจากไหน รู้แค่ว่าตรวจดินก็ดินเป็นบวก แต่ที่มาที่ไปที่ชัดเจนก็ยังไม่ยืนยัน ทำให้ชาวบ้านยังคงกังวล คือถ้าประกาศยืนยันเมื่อไร ชาวบ้านจะได้โล่งอก มีความมั่นใจในการทำงานในการดำรงชีวิตประจำวันมากขึ้น”
ทัศนเทพ รักษ์พิทักษ์กุล
เพราะเรื่องของ ‘วัว’ กระทบความมั่นคงทั้งห่วงโซ่
จิราพร เหล่าเจริญวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาวิจัย “ภูมิศาสตร์สัตว์ ร่องรอยและเรื่องราวฝูงวัวข้ามแดน” ให้ความเห็นกับ The Active ต่อกรณีที่เกิดขึ้น ว่า เรื่องนี้ไม่ได้กระทบแค่การมีผู้เสียชีวิตเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อมิติความมั่นคงต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ กระทบต่อคนเลี้ยงวัวเจ้าอื่น ๆ ที่วัวของเขาไม่ได้เป็นโรค ที่ปฏิบัติถูกต้องมีการแจ้งปศุสัตว์มีการฉีดวัคซีนตลอดแต่ก็กระทบกันหมด และแน่นอนไม่ได้กระทบแค่พื้นที่เล็ก ๆ แต่ก็กินวงกว้างไปกระทบกับคนที่อยู่ในจังหวัดใกล้เคียงจังหวัดมุกดาหารด้วย และความมั่นคงทางเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่จะตามมาชัดเจน สำคัญคือ จะทำยังไงให้คนกลับมาเชื่อมั่นอีกครั้ง ว่า วัวหรือเนื้อสัตว์ที่จะกินปราศจากโรค
นอกจากนี้ยังโยงกับเรื่องรายได้คนตัวเล็กตัวน้อย ตั้งแต่คนเลี้ยงวัว คนปลูกหญ้า คนขับรถขนวัว พ่อค้าคนที่รับซื้อวัว คือกระทบทั้งหมดทั้งห่วงโซ่ จึงต้องเห็นถึงความสำคัญความสัมพันธ์ของสัตว์ที่มันมีผลต่อความมั่นคงต่อคนอื่น ๆ ด้วย รวมไปถึงเมืองชายแดนที่เชื่อมไปมาหาสู่กัน คนลาวข้ามมาฝั่งไทย คนไทยก็ข้ามไปฝั่งลาว อยากให้มองเรื่องนี้เป็นบทเรียนจากสถานการณ์นี้
“คือไม่อยากให้มองเรื่องที่มันเป็นแค่เรื่องการกิน การเชือดสัตว์ และเกี่ยวข้องกับโรคระบาดมันไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น แต่มันกระทบกับชีวิตของคนอื่น ๆ เศรษฐกิจความมั่นคงของมนุษย์ที่เราต้องมาตั้งคำถามกับมันอีกเยอะมาก กระทบห่วงโซ่ทั้งระบบเลย ไม่ได้มีแค่ตัวแสดงเดียว เช่น กรมปศุสัตว์ แต่รวมถึงสาธารณสุข หรือหมอที่ต้องมาตรวจมาส่งห้องแลป ฟาร์มเลี้ยงวัวอีก คนเลี้ยงวัวแถวมุกดาหารที่เขาทำมาถูกต้อง แล้วเขาอาจจะต้องมาเสี่ยงกับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับกรณีเหตุการณ์ครั้งนี้ คือมันเชื่อมโยงกันหมด เพราะว่าตอนนี้กำลังจะเปิดเทอมคนที่เลี้ยงวัวมา ก็อาจจะจำเป็นที่จะมาขายเป็นรายได้เป็นค่าเทอมให้ลูก บางคนก็เอาวัวที่เลี้ยงมาขายผ่อนบ้านผ่อนรถ แต่พอเกิดกรณีนี้แล้วจะทำอย่างไร”
จิราพร เหล่าเจริญวงศ์
ในเชิงด้านสุขภาพ ที่มักจะได้ยินคำว่า One health ซึ่งจริง ๆ อาจจะไม่ใช่ One health ของมนุษย์อย่างเดียว เพราะต้องรวม health ของสังคมสุขภาพ สุขภาวะของเศรษฐกิจ สุขภาวะของสัตว์ด้วย เวลาเรากินตัวมัน ก็ต้องคำนึงถึงสุขภาวะของวัวด้วย ความเป็นอยู่ของมัน สิ่งแวดล้อมที่มันอาศัย ชีวิตความเป็นอยู่ก่อนที่มันจะมาเป็นอาหารเรา มันมีความเป็นอยู่ที่ดีไหม จริง ๆ มันไม่ใช่เรื่องไกลตัวด้วย
“ยกตัวอย่างสถานการณ์โรงฆ่าสัตว์ ที่เอาสัตว์มาต่อแถวกัน แล้วมันก็ต้องเห็นเพื่อนมันโดนเชือด มันก็จะมีความเครียดไม่เป็นผลดี เราก็อาจจะต้องคิดถึงเรื่องมีที่พักก่อนไหม ก่อนที่จะเอามันมาฆ่าที่โรงฆ่า และถูกสุขลักษณะไหม มันไม่ใช่ One health ที่เป็น health เดียวของตัวเรา แต่มันเกี่ยวข้องทั้งหมด สิ่งแวดล้อมด้วย ของเสียของมัน สิ่งที่เหลือจากตัวมันถูกส่งต่อไปไหน ต้องจัดการอย่างถูกต้องปลอดภัยอย่างไร ไม่ให้ส่งผลเสียกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย”
จิราพร เหล่าเจริญวงศ์
จิราพร ยังชี้ว่า ถ้าเรากินแล้วเห็นความเชื่อมโยงทั้งหมด ก็จะทำให้เข้าใจว่าไม่ใช่แค่เรื่องของสุขภาพ หรือว่าเรื่องแพทย์ที่มันเกี่ยวกับสุขภาพของคน แล้วมันก็จะนำมาถึงสุขภาพวะของสัตว์ด้วย ถ้าสัตว์ปลอดภัย เราก็ปลอดภัย สิ่งแวดล้อมดี เราก็ดีไปด้วย
มองสาเหตุโรคแอนทรกซ์ พื้นที่ ‘มุกดาหาร’ อาจเชื่อมโยง ‘วัวข้ามแดน’
จิราพร ยังชี้ว่า เส้นทางวัวข้ามแดน เริ่มจากจากปากีสถาน เมียนมา เข้าไทย และปลายทางก่อนส่งเข้าลาว ไปยังเวียดนาม และจีน ก็คือที่ด่านสำคัญที่ จ.นครพนม และมุกดาหาร แต่จริง ๆ แล้วเข้ามาตรงจุดนี้ไม่นาน เพื่อที่จะขอออกข้ามไปลาว และเวียดนาม คือข้ามออกไปแล้วไปเลยไม่ได้อยู่ในพื้นที่ด่านมุกดาหารนานนัก

“จะต้องบอกและยืนยัน ว่า ถ้าส่งออกไปแล้ว วัวจะย้อนกลับมาไม่ได้ คือออกไปแล้วออกเลย แค่รถขับออกไปจากด่านชายแดนไทย ก็กลับมาไม่ได้แล้ว ถ้าจะกลับมาต้องขออนุญาตใหม่ ซึ่งขั้นตอนเยอะมาก ส่วนใหญ่ก็จะทำตามกฎระเบียบขององค์กรระหว่างประเทศที่บังคับมา ถ้าคุณจะต้องการจะส่งออกแล้วมันก็เห็นว่าคู่ค้าเขาก็ทำตามกฎกันอยู่แล้ว และต้องทำตามกฎระเบียบขององค์กรระหว่างประเทศ”
จิราพร เหล่าเจริญวงศ์
แต่ถ้าถามว่าเป็นไปได้ไหมสำหรับพื้นที่ชายแดนที่จะมีการไหลของวัวอีกวงนึงอย่างวัวที่เรียกว่า “วัวกี้” วัวตัวเล็ก ๆ ที่เขาเลี้ยงปล่อยแถวลาวให้เล็มหญ้าเดินไปเดินมา ซึ่งพอถึงจังหวะที่มันโตแล้วได้ที่ ก็อาจจะมีการขายหรืออาจจะมีการเชือดมาจากฝั่งลาวแล้วมาขายก็ได้ หรือว่าเอาตัวเป็น ๆ กลับมาก็ได้ เพราะว่าราคาไม่สูงมาก เป็นเศรษฐกิจชายแดนแบบนึงและอาจจำนวนน้อย ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยเป็นโรคเลย แต่แจคพอตเมื่อปีที่แล้วที่มีวัวตายที่ลาวจำนวนมาก
“อาจตั้งข้อสังเกตการเชื่อมโยงตรงที่ปีที่แล้ว มีวัวตายที่ลาวจำนวนเยอะมาก แต่ไม่มีการระบุสาเหตุชัดเจนว่ามาจากอะไร ดังนั้นวัฒนธรรมการกินจะต้องคู่กับวัฒนธรรมการตรวจสอบไปด้วย ที่ต้องเข้มงวดมีมาตรฐานด้วย รัดกุมต้องช่วยกันทุกฝ่าย ก็จะลดความเสี่ยงลงได้ ทั้งคนเชือดวัว คนกิน และเศรษฐกิจโดยใหญ่ด้วย”
จิราพร เหล่าเจริญวงศ์
แนะ ‘วัฒนธรรมการกิน’ อาจต้องเท่าทันโลกสมัยใหม่
จิราพร ยังย้ำว่า เข้าใจในวัฒนธรรมการกิน โดยเฉพาะเวลาที่มีงานบุญ มีการล้มวัวมาแล้วมาแจกจ่ายกัน แต่ในปัจจุบันที่มีโรคระบาด อาจจะต้องมีการแจ้งปศุสัตว์ว่า วัวตัวนี้ได้ซื้อมาจากคนไหน คือให้มีการแจ้ง เพราะว่าจะต้องมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ มันก็จะช่วยในการตรวจสอบเพิ่มเติมได้อีกทางหนึ่ง
สำคัญคือยิ่งถ้าในจังหวะที่มีโรคระบาด ก็จะต้องมีการกินปรุงสุก และสัตว์ที่มีการตายมาก่อน ไม่ควรเอาไปชำแหละและไม่ควรเอามากิน เพราะว่ามันอาจจะมีความเสี่ยงนำเชื้อโรคหรือแพร่เชื้อโรคมาสู่คน สู่สิ่งแวดล้อม หรือถ้าหากจะมีการฆ่า ต้องเอาไปในที่ที่มีการจัดการที่ดีถูกสุขลักษณะ เอาไปเชือดในโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง เพื่อให้มีการตรวจสอบมากขึ้น ก็จะเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น
“วัฒนธรรมการกินไม่ได้ผิดไปซะทั้งหมด แต่วัฒนธรรมการกินอาจจะต้องเท่าทันในโลกสมัยใหม่ เพราะมันมีความเสี่ยงทั้งคนที่เชือด และคนที่กินด้วย ถ้ายิ่งเป็นโรคระบาดอย่างโรคแอนแทรกซ์ คนทำก็ยิ่งลำบากอย่างมาก เป็นกลุ่มเสี่ยงอันดับหนึ่ง เราต้องตระหนักถึงความเสี่ยงและผลที่จะต้องตามมา มันไม่ใช่ว่าที่เราเคยทำ ทำมาแล้วจะทำได้ในโลกปัจจุบันทั้งหมด จังหวะที่รู้ว่าวัวเราก็ตาย ก็ต้องเฝ้าระวังกลัววัวของเพื่อนบ้านตายด้วย จะต้องมีการตรวจสอบก่อนตระหนักในสุขภาพอนามัยและโรคระบาดมากขึ้นด้วย”
จิราพร เหล่าเจริญวงศ์