เตรียมปรับ ศบค. กทม. เป็นศูนย์เฝ้าระวังภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุข

“บอร์ด สปสช.” หนุน “ผู้ว่าฯ กทม.” รุกนโยบายดูแลสุขภาพ พร้อมทุ่มงบฯ เพิ่มหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ ยันกลไกกองทุนบัตรทองพร้อมรองรับ  

วันนี้ (26 ก.ค. 2565) ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 27/2565 แจ้งว่า จะมีการเปลี่ยนแปลง​ศบค.กทม. เป็นศูนย์เฝ้าระวังภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขกรุงเทพมหานครซึ่งการมีศูนย์ฯ นี้ในภาวการณ์ฉุกเฉินเป็นการส่งเสริมนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในเรื่องปฐมภูมิที่ กทม.จะทำ SANDBOX ในอนาคต โดยมีเครือข่ายด้านสาธารณสุขและภาคประชาสังคมร่วมเป็นคณะทำงาน เนื่องจากกรุงเทพมหานครไม่สามารถดูแลคนทั้งหมดได้ 100% ในภาวะการระบาดของโรค จึงต้องประสานขอความร่วมมือกับหน่วยงานและเครือข่ายต่าง ๆ โดยใช้องคาพยพเหล่านี้ในการเสริมความร่วมมือ เพื่อให้การปฏิบัติงานและเกิดช่องว่างให้น้อยลง

ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 

ในส่วนของการประชุม ขอให้เป็นการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า โดยให้แต่ละหน่วยงานรายงานถึงปัญหาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และข้อขัดข้องที่ไม่สามารถดำเนินการได้ รวมทั้งการประเมินสถานการณ์ด้านต่าง ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบในช่วงสัปดาห์หน้าที่จะมาถึง 

นอกจากนี้ ยังขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนแจ้งปัญหาในการเข้ารับบริการ ต้องรู้ว่าปัญหาของเราคืออะไร และอยู่ในข้อจำกัดของเราหรือไม่ นำเสนอในที่ประชุมเพื่อไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้น และทำให้มีข้อจำกัดที่น้อยลง รวมถึงการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่หน่วยงานได้วิเคราะห์มานั้น ควรแยกประเด็นออกเป็นเรื่องที่หน่วยงานคิดว่าสามารถทำได้ และเรื่องที่หน่วยงานต้องการขอความร่วมมือ เพื่อเป็นประหยัดเวลาและให้การประชุมมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ด้าน พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น ทั้งประชากรในพื้นที่และประชากรแฝง มีจำนวนกว่า 7.8 ล้านคน จากข้อมูลระบบสุขภาพพบว่า เป็นผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) มากที่สุด จำนวน 3.59 ล้านคน รองลงมาเป็นสิทธิประกันสังคม 3.4 ล้านคน สิทธิข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ 6.4 แสนคน และสิทธิสวัสดิการพนักงานส่วนท้องถิ่น 6.7 พันคน แม้ว่าจะมีความครอบคลุมในสิทธิประกันสุขภาพแล้ว แต่การเข้าถึงบริการโดยเฉพาะในระดับปฐมภูมิยังค่อนข้างจำกัด ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 

พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)

ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงมีข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและจัดการบริหารกองทุนบริการปฐมภูมิในพื้นที่ กทม. ที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการให้ประชาชน โดยได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ที่มี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ซึ่งได้รับทราบและเห็นชอบดำเนินการ โดยข้อเสนอเพื่อพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิฯ มีดังนี้ 

ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) วันที่ 4 กรกฎาคม 2565

ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิใน กทม. ที่เป็นข้อสรุปจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 8-9 มิถุนายน 2565 ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ สปสช. โดยให้ บอร์ด สปสชสนับสนุนงบประมาณและออกแบบระบบการเงินที่ส่งเสริมศักยภาพของระบบบริการปฐมภูมิ ที่มุ่งเน้นบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค พร้อมพัฒนารูปแบบการจ่ายเงินผู้ให้บริการอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

ข้อเสนอจากคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ ได้แก่ 

  • การจัดเครือข่ายบริการให้คลินิกชุมชนอบอุ่น โรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชนสามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการประจำ
  • การปรับงบสนับสนุนบริการปฐมภูมิ ทั้งในส่วนของงบบริการผู้ป่วยนอก งบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค งบค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับบริการระดับปฐมภูมิ ให้จ่ายตามกิจกรรมบริการแก่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ผ่านเกณฑ์การขึ้นทะเบียนทุกแห่ง 

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอจากคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่(อปสข.) กทม. ในการเพิ่มบทบาทการพิจารณาเห็นชอบการจ่ายงบประมาณบัตรทองในพื้นที่ กทม. ได้แก่ 

  • บริการผู้ป่วยนอกทั่วไป (OD) 
  • บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระดับพื้นที่  (PPA) 
  • บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบริการพื้นฐาน ( P&P Basic service )

“บอร์ด สปสช.ได้มีมติรับทราบข้อเสนอการบริหารกองทุนบริการปฐมภูมิ เขตพื้นที่ กทม. ข้างต้นแล้ว พร้อมกันนี้ได้มอบให้ สปสช. เร่งกระบวนการขยายหน่วยบริการทุกรูปแบบ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการให้ประชาชน และประสาน กทม. ในการขับเคลื่อนระบบบริการปฐมภูมิ อีกทั้งกำกับควบคุมคุณภาพบริการ เพิ่มกลไกและเร่งรัดการตรวจสอบการจ่าย” 

พญ.ลลิตยา กล่าวต่อว่า จากนโยบายของทางผู้ว่าฯ กทม. สปสช.จะมีการปรับกลไกการเบิกจ่ายเพื่อ สนับสนุนการจัดบริการปฐมภูมิให้กับคน กทม. ซึ่งจากที่ได้พิจารณาในหลายๆ ประเด็นพบว่าระบบการจ่ายค่าบริการของ สปสช. มีความสอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. และดำเนินการได้เลย สำหรับส่วนของการสนับสนุนการเพิ่มหรือขยายศักยภาพศูนย์บริการสาธารณสุขต้องมีการหารือกันอีกครั้ง

“ที่จริงเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เป็นข้อสังเกตของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แล้วก็กระทรวงการคลังมานานแล้ว สำหรับงบประมาณว่าจะทำยังไงให้ประชาชนใน กทม. เข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้มากที่สุด เพราะ กทม. มีคนเกือบ 8 ล้านคน อย่างไรก็ตามในส่วนของ สปสช. เองเราเชื่อมั่นว่า ระบบที่เราออกแบบการจ่ายตามประกาศ สปสช. เพียงพอต่อการขับเคลื่อนระบบปฐมภูมิ กทม. ภายใต้ทิศทางการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิกทม. และพร้อมจะมีการปรับรูปแบบการจ่าย เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการของประชาชน กทม. เพิ่มมากขึ้น ภายใต้ความร่วมมือกับ กทม. และทุกภาคส่วน”

รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS