มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้นโยบายดี แต่มีจุดบอดยังแจกไม่ทั่วถึง กทม. พลาดสิทธิเพราะไม่มี กปท. เหมือนต่างจังหวัด ขณะที่ “เทศบาลเชียงรากน้อย” ประกาศตัวเป็นท้องถิ่นตัวอย่าง เร่งสำรวจเดินหน้าแจกจริง
จากกรณี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ( บอร์ดสปสช. ) มีมติเห็นชอบบรรจุผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับการขับถ่าย ให้เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบสิทธิบัตรทองสำหรับคนไทยทุกคน มีผลตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. 2565
เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งข้อสังเกตว่า สปสช.ยังไม่มีระเบียบปฎิบัติที่ชัดเจนถึงการได้รับสิทธิ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่-แผ่นรองซับ ที่แจกตามสิทธิบัตรทอง 3 ชิ้น/คน/วัน สำหรับผู้ป่วยติดเตียง และ ผู้ป่วยที่กลั้น อุจจาระ – ปัสสาวะไม่อยู่จนทำให้เกิดสารพัดคำถาม เช่น
สปสช.แจกจริงๆ ใช่มั้ย
ที่บ้านมีผู้ป่วย ผู้สูงอายุต้องใช้ อยากได้บ้างต้องทำอย่างไร
อยากทราบว่า 3แผ่น/คน/วัน ผู้ป่วยจะได้รับอย่างต่อเนื่องทุกวันมั้ยคะ
แจกกันที่ไหน ต้องติดต่อยังไง …
ถามไปที่ รพ.สต.กลับบอกของหมดทุกที
สอบถามหน่วยงานที่แจ้งให้ไปติดต่อแต่เจ้าหน้าที่บอกยังไม่ทราบรายละเอียด
ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับสิทธิคือคนไทยที่มีเลขประจำตัว 13 หลัก ครอบคลุมทุกสิทธิ ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม, ข้าราชการ และ สิทธิอื่น ๆ โดย สปสช. กำหนดงบประมาณไว้ที่ 232.66 ล้านบาทจำกัดวันแจกแค่ 153 วัน (ประมาณ 5 เดือน) เท่ากับว่าผู้ป่วยที่ต้องการได้รับสิทธิจากทั่วประเทศ มีจำนวนมากได้รับไม่ครบ ส่วนคนที่ได้รับแจกจะมีสิทธิได้จนครบ 153 วันหรือไม่
จากรายงานวิจัย การประเมินคุณภาพชีวิตและความคุ้มค่าของผ้าอ้อมผู้ใหญ่สําเร็จรูปสําหรับ ผู้ที่กลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่อยู่และหรือมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ในโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention andTechnology Assessment Program หรือ HITAP) คณะผู้วิจัยได้รับทุนสนับสนุนจาก สปสช. พบข้อมูลผู้ที่มีความยากลําบากในการช่วยเหลือตัวเองด้านการขับถ่าย ทําความสะอาดหลังการขับถ่ายในประเทศไทยมีจํานวนประมาณ 360,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้พิการและผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้น้อย
สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า จากข้อมูลของครอบครัวที่มีผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้บ้างถึงไม่ได้เลย ต้องมีคนช่วยดูแลหรืออยู่เป็นเพื่อน มีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจำนวนไม่น้อย เริ่มด้วย ค่าผ้าอ้อมผู้ใหญ่ถ้าเป็นแบบสวมเป็นกางเกง ราคากล่องละ 1,500-1,600 บาท เดือนละประมาณ 3 กล่อง ถ้าแบบติดกาวกล่องละ 1,200-1,300 บาท
ปัจจุบัน สปสช.เดินหน้าแจกไปแล้ว โดยต่างจังหวัดเริ่มก่อน แต่ข้อเท็จจริงในพื้นที่ชาวบ้านบอกว่า ไปถามไปที่ รพ.สต.กลับบอกของหมดทุกที ขั้นตอนก็ยุ่งยาก ต้องไปติดต่อลงทะเบียนตามหน่วยงานที่ สปสช.แจ้ง หลักการจะคัดเลือกอย่างไรให้เป็นธรรมกับผู้ที่ยื่นเรื่องขอใช้สิทธิ์เพราะต้องได้คะแนนความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน มีเกณฑ์วัดความโปร่งใสของเจ้าหน้าที่หรือไม่
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังได้ตรวจสอบ โครงการผู้อ้อมสำเร็จรูป ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่หรือท้องถิ่น (กปท.) เพื่อทำเรื่องขอผ้าอ้อมผู้ใหญ่ พบว่ามีขั้นตอนซับซ้อนพอสมควร โครงการผ้าอ้อมผ่านกองทุน กปท. เมื่อติดต่อลงทะเบียนสำเร็จ จะมีผู้จัดการดูแล (Care manager) ทำหน้าที่รวบรวมรายชื่อเข้าสู่ระบบ เพื่อทำโครงการขอรับงบประมาณจาก กปท. กว่าผู้มีสิทธิ์จะได้รับสิทธิจึงต้องใช้เวลานาน
ในส่วนของคนที่อยู่ใน กทม. ยังไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว เพราะไม่มี “กองทุนท้องถิ่น” โทรศัพท์สอบถาม สายด่วน สปสช. 1330 เมื่อ 24 ส.ค.65 เลขา สปสช. บอกว่า ต้องหารือ สำนักอนามัย กทม. เพื่อใช้ระบบลงทะเบียน แต่อาจต้องใช้เวลาเตรียมระบบไอที ให้พร้อมอีกประมาณ 1-2 เดือน
นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชี้แจงว่า ได้ประชาสัมพันธ์และจัดประชุมชี้แจงหลายครั้ง แต่ในบางพื้นที่อาจยังไม่ทราบข้อมูล จึงขอให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ต่อไป และท่านใดที่ไปสอบถามรายละเอียดแล้ว รพ.สต. หรือ อบต./เทศบาล ยังไม่ทราบรายละเอียดสามารถโทรศัพท์มาที่ สายด่วน สปสช. 1330 เจ้าหน้าที่จะช่วยติดต่อประสานงานหน่วยงานในพื้นที่
เทศบาลเชียงรากน้อย เดินหน้าใช้งบ กปท. แจกผ้าอ้อมผู้ใหญ่
ขณะ อภิสิทธิ์ อัครวรรธนกุล นายกเทศมนตรีตำบลเชียงรากน้อย ตัวอย่างท้องถิ่นที่ใช้งบ กปท. แจกผ้าอ้อมผู้ใหญ่และ ระบุว่า ประชากรในตำบลเชียงรากน้อยขณะนี้มีประชากรประมาณ 1 หมื่นคน โดยมีผู้สูงอายุราว 1,600 คน และผู้ที่มีภาวะติดบ้าน ติดเตียง ทั้งหมด 51 คน แต่ในส่วนที่จำเป็นต้องใช้ผ้าอ้อมมีจำนวน 23 คน โดยจากการสำรวจผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องใช้ผ้าอ้อมวันละ 3 ชิ้น และต้องใช้ทุกวัน ทำให้ในทุก ๆ ปีต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับผ้าอ้อมเฉลี่ย 1 หมื่นบาทต่อปี
ทั้งนี้ เมื่อก่อนตอนยังไม่มีชุดสิทธิประโยชน์ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ทางเทศบาลจะใช้วิธีแปลงงบประมาณ เพื่อให้สามารถจัดหาผ้าอ้อมผู้ใหญ่มาให้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ซึ่งบางครั้งต้องบอกว่าเดิมระเบียบการเบิกจ่ายของราชการไม่ค่อยสะดวกนัก
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันทาง สปสช. ได้ออกสิทธิประโยชน์ ซึ่งมีระเบียบการเบิกจ่ายผ่าน กปท. เพื่อมาใช้ในเรื่องผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับโดยเฉพาะ จึงช่วยให้สามารถการทำงานในส่วนนี้ไหลลื่นขึ้นและครอบคลุมผู้ที่ต้องการได้ทั้งหมด
ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวถึงขั้นตอนที่จะได้สิทธิตามที่กำหนดไว้คือ 1. ท้องถิ่น ต้องมีการสำรวจจำนวนประชาชนที่มีความต้องการ และจำนวนผ้าอ้อม แผ่นรองซับ หรือผ้าอ้อมทางเลือกที่ต้องการใช้ 2. นำมาเขียนแผนการดูแลรายบุคคล (care plan) โดยระเบียบกำหนดไว้ว่าไม่เกิน 3 ชิ้นต่อคนต่อวัน 3. ส่งต่อไปยังคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นเพื่อทำการอนุมัติ เมื่อได้รับการอนุมัติก็จะมีการส่งงบประมาณมาสมทบตามระเบียบของ กปท. เพื่อให้ดำเนินการจัดซื้อต่อไป