กทม.เล็งจับมือ รพ.ราชวิถี 2 ทำ Sandbox ระบบสุขภาพ โซนกรุงเทพฯเหนือ

มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มองครบ 100 วันระบบสุขภาพ กทม. ยังไม่ต่างจากเดิม แนะยกระดับ ศบส. เป็น รพ.ขนาดเล็กมีแพทย์ประจำ 24 ชม.​ นพ.อานนท์ เสนอต้องตั้งตัวชี้วัดความสำเร็จ  คนไข้ทุกสิทธิรับบริการได้ทุกหน่วยปฐมภูมิ  

เมื่อวันที่ 9 ก.ย.​ 2565 ผศ.ทวิดา​ กมลเวช​ รองผู้ว่าราชการ​ แถลงผลงาน 99 วันนโยบาย 3ดี คือปลอดภัยดี สุขภาพดี และบริหารจัดการดี โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสุขภาพดี ได้ดำเนินการเปิดคลินิกวันเสาร์จัดการโรคโควิด 19 การฉีดวัคซีนกลุ่ม 608 เชิงรุก และคลินิกลองโควิดใน 9 โรงพยาบาล 

ขณะที่ศูนย์บริการบัตรคนพิการแบบเบ็ดเสร็จเปิดใช้แล้วทั้งหมด 9 แห่งเพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิได้สะดวกรวดเร็ว ขึ้นทะเบียนคนพิการได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังเปิดคลินิกความหลากหลายทางเพศในศูนย์บริการสาธารณสุข 6 แห่งใน 6 โซนและ 5 โรงพยาบาล

ส่วนนโยบายสำคัญที่ถือว่าทำสำเร็จในการทำ sandbox ระบบสุขภาพปฐมภูมิทั้ง 2 แห่งครอบคลุมพื้นที่ 9 เขตคือ ดุสิตโมเดล และราชพิพัฒน์​แซนบอกซ์นั้นรองผู้ว่าราชการกทม. เปิดเผยด้วยว่า เล็งจะทำ sandbox ระบบสุขภาพในโซนกรุงเทพเหนือ ซึ่งได้มีการพูดคุยกับทาง สปสช. จะขอความร่วมมือโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข คือโรงพยาบาลราชวิถี 2 ซึ่งอยู่บริเวณรอยต่อ กทม. – ปทุมธานี ในพื้นที่เทศบาลรังสิต เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย 

ทั้งนี้ในพื้นที่โซนกรุงเทพเหนือ ไม่มีโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร เมื่อตรวจสอบดูแล้วพบว่าส่วนใหญ่มีแต่โรงพยาบาลเอกชนหากเป็นโรงพยาบาลของรัฐ เช่น โรงพยาบาลภูมิพลก็สังกัดกองทัพอากาศและโรงพยาบาลทัณฑสถานก็อยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ 

“จะสังเกตว่า​Sandbox ระบบสุขภาพ ทั้งสองแห่งที่นำร่องไป แล้วมีโรงพยาบาลแม่ข่ายเป็นโรงพยาบาลในสังกัด กทม. แต่ในโซนกรุงเทพเหนือ ไม่มีโรงพยาบาลสังกัด กทม. อยู่เลยนับเป็นความท้าทาย” 

เมื่อถามว่า​ ตัวชี้วัด​ Sandbox​ ระบบสุขภาพ​ กทม.​ คืออะไร​ ผศ.ทวิดา ตอบว่า วัดจากจำนวนผู้เข้าใช้บริการ และการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่เพิ่มมากขึ้น ปลายทางคือลดอัตราการเจ็บป่วยของประชาชนซึ่งหมายความว่าต้องส่งเสริมการป้องกันโรคเชิงรุก​ ไม่เพียงเฉพาะระบบการส่งต่อเพื่อเข้ารับการรักษาเท่านั้น 

ด้าน แสงศิริ ตรีมรรคา หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่าในภาพรวมซึ่งตนไม่ได้อยู่ในพื้นที่นำร่อง มองว่าก็ไม่ต่างจากเดิม ในเชิงการเข้าถึงระบบเนื่องจากประชากรจำนวนหลายล้านคน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือน้องที่ทำงานติดโควิด-19 ไปรับบริการที่หน่วยปฐมภูมิบัตรทองแต่ถูกศูนย์บริการสาธารณสุขแห่งหนึ่งปฏิเสธ เนื่องจากเป็นสิทธิบัตรทองที่ไม่ได้อยู่ใน กทม. 

“อย่างไรก็ตาม ก็เห็นความพยายามของ กทม. ในการหาจุดอ่อนในเรื่องของปฐมภูมิ และอยากที่จะหาวิธีการจัดการ ด้วยระบบสาธารณสุขที่ซับซ้อน โรงพยาบาลหลายสังกัด ดังนั้นการเชื่อมต่อกันในกรุงเทพฯ จะเป็นปัญหา และเห็นว่ามีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแต่ยังไม่เห็นความคืบหน้าเป็นรูปธรรม อาจจำเป็นต้องมีการสรุปบทเรียน” 

แสงสิริ ระบุว่ามีข้อสังเกต  3 ประเด็น 1. ระบบสุขภาพไม่ได้อยู่ที่การจัดการของ กทม. ได้แต่เพียงอย่างเดียว  2. มีเรื่องของกองทุนสุขภาพที่เป็นผู้ซื้อบริการ และ 3. การควบคุมคุณภาพสถานบริการจากกระทรวงสาธารณสุข ถ้ากรุงเทพมหานครสามารถทลายกำแพงทั้ง 3 อย่างนี้ก็เชื่อว่าระบบสุขภาพ sandbox ในที่ต่าง ๆ จะเกิดเร็วขึ้น 

สุขภาพดีไม่ได้ผูกติดอยู่กับวิชาชีพแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องส่งเสริมชุมชนให้จัดการตัวเองเห็นตัวอย่างจากโควิด 19 ที่ชุมชนสามารถสร้างศูนย์ศูนย์พักคอยเพื่อจัดการวิกฤตกับโรคระบาดได้ 

กรุงเทพฯอาจเจอกับดักในเรื่องบริบทชุมชน ที่เป็นชุมชนที่ยังไม่ได้จัดตั้งหรือชุมชนบ้านจัดสรร และนิติบุคคลคอนโด อสส.จะเข้าไปอย่างไร ทางออกอาจอยู่ที่ 1. การส่งเสริมชุมชนมีแขนขาเชื่อมโยงกับระบบ  2. ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่า กับโรงพยาบาลขนาดเล็ก มีหมอประจำ 24 ชั่วโมง เพิ่มกำลังคน เพิ่มขีดความสามารถ รักษาได้มากกว่าที่เป็นอยู่ 

“ถ้าหากต้องการจะลดภาระการส่งต่อไม่ให้หนาแน่นในในโรงพยาบาลทุติยภูมิก็ต้องทำให้ศูนย์บริการสาธารณสุข ให้บริการได้มากกว่าเดิม” 

ด้าน นพ.อานนท์ กุลธรรมานุสรณ์  สํานักงานพัฒนานโยบาย สุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า Sandbox ระบบสุขภาพที่ทำอยู่ในขณะนี้ยังคงเน้นเรื่องการส่งต่อผู้ป่วยจากหน่วยบริการปฐมภูมิไปยังทุติยภูมิ แต่อีกอย่างที่ยังไม่ได้ลงน้ำหนักมากนักคือเรื่องของการป้องกันโรค ซึ่งเป็นงานของหน่วยบริการปฐมภูมิ

นอกจากนี้ ยังมองว่า sandbox ระบบสุขภาพทั้ง 2 แห่ง ต้องมีตัวชี้วัดความสำเร็จที่ชัดเจน ในพื้นที่นำร่องประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้นหรือไม่ ระยะยาวลดอัตราการป่วยได้จริงหรือไม่ และเร่งประสานความร่วมมือกับหน่วยบริการต่างๆเพื่อให้ประชาชนในกรุงเทพฯทั้งตามทะเบียนราษฎร์และประชากรแฝง รวมถึงผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active