กรมสุขภาพจิต ส่งทีมนักจิตวิทยาลงพื้นที่เยียวยาจิตใจในพื้นที่ประสบเหตุ จ.หนองบัวลำภู เฝ้าระวังใกล้ชิด ให้ผ่านพ้นวิกฤตช่วงนี้ไปได้ แนะสังคมไม่ปล่อยใจไปกับความโกรธ จนเป็นการเติมความรุนแรงในสังคม
วันนี้ (7 ต.ค. 2565) กรมสุขภาพจิต จัดทีมเร่งด่วนเพื่อเยียวยาจิตใจ (MCATT) ทันทีหลังเกิดเหตุ เพื่อช่วยเหลือดูแลจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู โดยดำเนินการเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตทุกครอบครัวรวมทั้งสิ้น 88 คน โดยทุกคน ยังต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดเนื่องจากยังมีความเสี่ยงสูงจากภาวะปัญหาสุขภาพจิต
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยถึงปฏิบัติการเยียวยาที่สำคัญโดยใช้หลักการ ปฐมพยาบาลทางใจ (Psychological First Aid: PFA) เป็นกระบวนการสำคัญในการเยียวยาจิตใจอย่างใกล้ชิด ช่วยให้ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ ครอบครัว ญาติ และคนในพื้นที่ รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบในชุมชนใกล้เคียง ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไป
สำหรับการซักถามผู้ที่เผชิญเหตุการณ์ความรุนแรงนั้น หากเป็นลักษณะการถามที่มีลักษณะเจาะ เค้น ขุดคุ้ย จะเป็นการตอกย้ำภาพความรุนแรง ทำให้ เสียง บรรยากาศของความรุนแรงจะฉายวนอยู่ในจิตใจคนนั้น ๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกลายเป็นแผลลึก ทำให้เยียวยา คลี่คลายได้ยาก และหากจำเป็นต้องกระทำ ขอให้ทำโดยอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจความรู้สึกและข้อจำกัดตรงนี้ด้วย การถามต้องพร้อมรับฟังอารมณ์ ความรู้สึก ไม่สร้างคำถามที่ทำให้รู้สึกคุกคาม ทำให้ต้องกลับไปคิดวนซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ทำให้เขารู้สึกผิด หรือกล่าวโทษตอกย้ำ
กรณีการดูแลจิตใจกลุ่มเด็กและผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ที่กำลังอยู่ในสภาพของความหวาดกลัว ตระหนก ควรให้การดูแลอย่างเร่งด่วนที่สุด รู้สึกปลอดภัย อยู่ในสถานที่ที่รอดพ้นจากอันตรายแล้วทำให้รู้สึกได้รับการปกป้องทางร่างกายและความรู้สึกได้จากผู้ปกครอง คนที่คุ้นเคย โดยการรับฟัง และเข้าใจการแสดงออก ท่าทางของเด็ก ๆ
ทั้งนี้ ควรระมัดระวังไม่ควรสอบถาม ซักไซ้ ขุดคุ้ย ให้เล่าถึงเหตุการณ์ เพื่อให้ตอบคำถามถึงเหตุการณ์นี้ซ้ำ ๆ จะทำให้เกิดบาดแผลทางจิตใจที่ลึกและเรื้อรังยากต่อการเยียวยาและในกลุ่มญาติหรือผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเร่งเยียวยาผลกระทบสภาพทางอารมณ์ทันที ดูแลบาดแผลทางจิตใจให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันผลกระทบทางจิตใจระยะยาว
พญ.หญิงอัมพร กล่าวต่ออีกว่า ในการเยียวยาสร้างความเข้มแข็งทางใจในชุมชน ให้ผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤตในพื้นที่ สามารถใช้หลักการ
- Safe คือการสร้างบรรยากาศให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยกลับมาโดยเร็ว
- Calm การไม่กระจายข่าวลือหรือการ ส่งต่อข้อมูลจนเกิดการตื่นตระหนก
- Hope การสร้างความหวังให้กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่
- Care การใส่ใจดูแลในสังคมร่วมกัน
โดยทีม MCATT จะติดตาม ดูแลช่วยเหลือและเยี่ยมบ้านอย่างใกล้ชิดพร้อมจัดตั้งศูนย์เยียวยาจิตใจในพื้นที่ โดยกระจายตาม จุดต่าง ๆ ในพื้นที่ และสามารถเข้าถึงได้ง่าย และกับพัฒนาสังคมและตำรวจในพื้นที่เป็นต้น
สำหรับการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตประชาชนหลังประสบเหตุหรือที่เรียกว่าโรคเครียดภายหลังภยันตราย PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) ซึ่งจะมีอาการดังนี้ ตื่นกลัวทั้งทางร่างกายและจิตใจ มีอาการหวาดกลัว ตื่นตระหนกตกใจง่าย กระสับกระส่าย วิตกกังวล คิดมาก มองโลกและตนเองในแง่ลบ นอนไม่หลับ หงุดหงิด สมาธิแย่ลง บางรายอาจมีความรู้สึกผิด รู้สึกซึมเศร้า หดหู่ สิ้นหวัง หรือการคิดเรื่องทำร้ายตัวเอง
ดังนั้นจึงขอให้สำรวจความรู้สึกตัวเองว่า “โกรธ/ก้าวร้าว จนไม่สามารถจัดการได้หรือไม่” หากมีความรู้สึกดังกล่าวขอให้ตั้งหลัก หาทางออก เช่น ขอคำปรึกษาจากคนใกล้ตัวรับฟังและ ใส่ใจคนรอบข้าง หากไม่สามารถจัดการความรู้สึกตัวเองได้ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต หรือโทรสายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง
อธิบดีกรมสุขภาพจิต ยังกล่าวถึง ประเด็นดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับสังคมว่าจะเกิดกรณีเลียนแบบเช่นนี้อีก ซึ่งในความเป็นจริงเรื่องนี้ต้องอาศัยกลไกทางกฎหมายร่วมกับการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์หาสาเหตุเบื้องลึกในการก่อเหตุ
สิ่งที่จะขอให้ประชาชนที่กำลังประสบปัญหาความโกรธ เคือง โมโห หรือเจ็บแค้น อย่ารอให้ตัวเองเริ่มรู้สึกไม่ไหวแล้วค่อยแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง แต่ขอให้ค่อย ๆ ดูแลใจตนเองด้วยวิธีที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดพื้นฐานทางจิตใจที่ผลักดันให้เกิดการกระทำความรุนแรง
พญ.อัมพร ฝากถึงทุกคนที่เริ่มเกิดปัญหาความขัดแย้ง อย่ารีรอ ควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือหาทางออกที่สร้างสรรค์ กรณีที่คนกระทำความรุนแรงมักอ้างว่าตนเองเจ็บป่วยทางจิตนั้น ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างในการกระทำความรุนแรง แต่ถ้าหากเป็นผู้ป่วยจิตเวชก่อเหตุความรุนแรงขึ้นก็ต้องรับโทษทางกฎหมายและต้องได้รับการบำบัดรักษาควบคู่กัน ดังนั้นจึงไม่สามารถเอาความเจ็บป่วยทางจิตเป็นข้ออ้างในการก่อความรุนแรง