สานพลัง กทม. วางระบบสังคม ชุมชน เข้าใจวิถี ‘อยู่ดีและตายดี’

ปักหมุดนโยบาย Palliative Care ด้าน ผอ.รพ.จุฬาฯ ชี้ หลักสูตรดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ต้องเป็นวิชาบังคับนักศึกษาแพทย์ ลดขัดแย้ง ญาติ ครอบครัว

วันนี้ (10 ต.ค. 65) โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ จัดเสวนานโยบาย “ปักหมุด Palliative Care ใน กทม.” แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสนอแนะปัญหา และแนะนำการขับเคลื่อนงานการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดขึ้นกับทุกช่วงเวลาของชีวิต

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ในเมืองใหญ่ มีความท้าทายในปัจจุบัน เพราะบริบทใน กทม. ประชาชนมีสิทธิการรักษาซับซ้อนและหลายรูปแบบ ปัจจัยสำคัญคือ การดูแลผู้ป่วยตั้งแต่ต้นจนจบ เน้นการเข้าถึงชุมชนและบ้าน ที่ต้องมีสถานบริการสาธารณสุข หรือ Primary Care เป็นหน่วยงานหลัก แต่ใน กทม. ยังมีไม่ครอบคลุม ทำให้ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง จึงเสนอให้สร้างเครือข่ายในชุมชน และเสริมกำลังให้ผู้ป่วยระยะท้าย ได้รับการดูแลแบบประคับประคองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีจากครอบครัวและชุมชน และผลักดันให้เกิดการวางโครงสร้างที่เหมาะสมรองรับกับสถานการณ์นี้ เช่น สร้างโรงพยาบาล หรือสถานที่ดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะ

“การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย จะต้องอาศัยความรู้ของประชาชน งานวิชาการ และแพทย์เฉพาะโรคนั้น ๆ โดยต้องวางระเบียบ กฎหมาย งบประมาณ โครงสร้างพื้นฐานที่ดีและเหมาะสม หลักการสำคัญคือ ต้องบรรจุให้อยู่ในหลักสูตรภาคบังคับของนักศึกษาแพทย์ ให้ได้เรียนรู้และเห็นแนวทางปฏิบัติว่า นี่คือส่วนหนึ่งของการรักษา ไม่ใช่การทอดทิ้ง แต่เป็นการเพิ่มคุณค่าการดูแล ที่ให้ผลลัพธ์ดีขึ้นตามสิทธิผู้ป่วย และต้องทำให้สังคมเห็นว่า การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองเป็นหน้าที่ของทุกคน”

รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล หัวหน้าศูนย์การุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะนายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ระบบบริการสุขภาพของ กทม. ยังไม่มีรูปแบบโซนนิ่งการส่งต่อ หรือเครือข่ายชัดเจนเหมือนต่างจังหวัด ทำให้การเยี่ยมบ้านผู้ป่วยระยะท้าย และการให้ยามอร์ฟีนยังไม่แข็งแรงพอ ที่จะนำไปใช้กับคนไข้ที่บ้าน รวมถึงสังคมและวัฒนธรรมใน กทม. เป็นครอบครัวเดี่ยว ไม่เหมือนต่างจังหวัด ที่อยู่กันแบบเครือญาติ

“การจะทำให้ Palliative Care เกิดขึ้นใน กทม. ได้ ควรทำโซนนิ่งให้โรงพยาบาลเป็นแม่ข่าย หรือให้ศูนย์สาธารณสุขแต่ละพื้นที่เป็นพี่เลี้ยง ทำหน้าที่เยี่ยมบ้าน วางระบบยาให้คนไข้เข้าถึง และเติมความรู้ให้ศูนย์สาธารณสุขที่ทำหน้าที่เยี่ยมบ้าน เช่น การใช้ยามอร์ฟีน การจัดการอาการปวด การดูแลคนไข้ใกล้เสียชีวิตให้อยู่สุขสบาย รวมถึงการใช้วิธีสื่อสารเพื่อดูแลคนไข้ระยะท้าย ให้รักษาตัวที่บ้านได้จนกว่า จะเสียชีวิต รวมถึงการมีสถานบริบาลเพื่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Hospice) ทำหน้าที่รับส่งต่อคนไข้จากโรงพยาบาล มาดูแลต่อจนกว่าเขาจะเสียชีวิต หากไม่สามารถดูแลและเสียชีวิตที่บ้านได้”

ญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า “คำว่า ‘เพื่อนตาย’ หมายถึงบุคคลที่แวดล้อมผู้ป่วย ในการช่วยดูแลผู้ป่วยในระยะท้าย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในครอบครัว เป็นเพื่อน เป็นอาสาสมัคร ที่ช่วยแบ่งเบาภาระให้กับบุคลากรสาธารณสุขที่มีจำกัด โดยมีหน้าที่ในการสนับสนุนให้เกิดปัจจัยแวดล้อมที่เกื้อหนุนให้เกิดการประคับประคองในชุมชน กทม. ได้ เพราะในสังคมกรุงเทพฯ อยู่กันเป็นปัจเจก การเข้าถึง Palliative Care จึงแตกต่างจากระบบในต่างจังหวัด

อย่างแรกคือการทำให้ผู้ป่วยตระหนักและเข้าใจการไม่ยื้อชีวิต เข้าใจการดูแลแบบประคับประคอง เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตจนถึงระยะท้าย รู้สิทธิ์ในการแสดงเจตนาเลือกวิธีการรักษาตัวเองในช่วงสุดท้ายของชีวิต (Living Will) สองคือ ต้องมีความชัดเจนในเรื่องการผลักดันนโยบาย Palliative Care อย่างเป็นระบบ และสามคือ ความร่วมมือของโรงพยาบาลในทุกสังกัด ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ที่หลายโรงพยาบาลมีบริการการดูแลแบบประคับประคองแล้ว แต่จะออกแบบอย่างไรให้สามารถนำการดูแลนี้ไปใช้กับผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือไม่ได้รักษาตัวในโรงพยาบาล โดยทำพื้นที่นำร่องเหมือนในต่างจังหวัดที่มีระบบอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยระยะท้าย รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของครอบครัว ชุมชน และอาสาสมัคร สร้างชุมชนเล็กๆ ที่จะดูแลกันเอง

“สิ่งสำคัญคือ เมื่อบุคลากรทางการแพทย์มีความเข้าใจในการสื่อสารกับครอบครัวผู้ป่วย และตัวผู้ป่วยเองได้รับรู้ว่าคุณภาพของชีวิตระยะท้ายไม่จำเป็นต้องจบที่โรงพยาบาล แต่สามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้หากมีความพร้อม ผู้ป่วยก็จะสามารถใช้ชีวิตในระยะท้ายอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้”

ศ.พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการบริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กล่าวว่า ได้สนับสนุนการเสริมทักษะ ความรู้ ความเข้าใจ เรื่องการอยู่ดีและตายดี ให้กับบุคลากรสาธารณสุขและประชาชน อย่างโครงการห้องเรียนชีวิต “วิชาเพื่อนตาย” ที่จัดอบรมให้บุคลากรสาธารณสุขมาแล้ว 2 ปี โดยอยากให้บุคลากรทางการแพทย์ เข้าใจเรื่องสิทธิของผู้ป่วย ไม่ใช่แค่รักษาอย่างเดียว แต่การสื่อสารที่ดี จะช่วยลดความขัดแย้ง ข้อพิพาท หรือข้อข้องใจของผู้ป่วยและญาติ ที่อยู่ในวาระท้ายได้

“หาก Palliative Care ใน กทม. เกิดขึ้นจริง โดยมีศูนย์ดูแลในโรงพยาบาลหรือชุมชน ที่ร่วมมือกันระหว่างโรงพยาบาลหรือองค์กรต่างๆ คนกลุ่มเปราะบางจะเข้าถึงเรื่องนี้ได้ และช่วยประหยัดงบประมาณของภาครัฐอีกทางหนึ่ง เชื่อว่าการเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคองในผู้ป่วยระยะท้าย เป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ในมุมหนึ่ง หากทุกคนมีความเข้าใจ และร่วมกันขับเคลื่อน”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active