ถอดรหัส 1 ปี นโยบายสถานชีวาภิบาล

คณะทำงานชีวาภิบาลชี้ กรอบทำงานไม่ชัดเจน บุคลากรไม่พอ ขาดองค์ความรู้ เงินกองทุนสนับสนุนชวนสับสน เสนอพัฒนา Nursing Home ให้มีบริการที่มีคุณภาพ บรรจุหลักสูตรการดูแลแบบประคับประคองในโรงเรียนแพทย์

กำลังจะครบ 1 ปี “นโยบายสถานชีวาภิบาล” ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายให้เข้าถึงการตายดี หลังนับหนึ่งจากการแถลงนโยบายรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ต่อเนื่องถึงการกำหนดให้เป็นนโยบายควิกวิน 100 วัน ของกระทรวงสาธารณสุข นับตั้งแต่ พ.ย. 2566

วันนี้ (23 ก.ย.67) ประเด็นเหล่านี้ถูกหยิบยกนำมาพูดคุยในวงเสวนา Policy Forum ครั้งที่ 20 : 1 ปี นโยบายชีวาภิบาล ความท้าทายสู่ “สิทธิการตายดี” ผ่านภาคส่วนคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายดังกล่าว เพื่อค้นหาจุดติดขัด และความไม่เข้าใจในการทำงาน โดยแบ่งคณะทำงานศูนย์ชีวาภิบาลออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ศูนย์ชีวาภิบาลในโรงพยาบาล สถานชีวาภิบาลในชุมชน และ เครือข่ายดูแลบ้านชีวาภิบาล

คณะทำงานกลุ่ม “ศูนย์ชีวาภิบาลในโรงพยาบาล” สะท้อนปัญหาที่พบ ได้แก่

  1. บุคลากรขาดแคลน ไม่มีคนมาทำงานด้านดูแลประคับประคองเต็มตัว บางคนอยากทำ แต่หัวหน้าไม่ให้ทำเพราะคนไม่พอ
  2. ไม่มีเงินสนับสนุนโดยตรง และเพียงพอกับการดูแล ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยระยะท้าย
  3. การตั้งสถานชีวาภิบาลในแต่ละพื้นที่ไม่ได้ตอบโจทย์ชุมชน จึงไม่ได้ถูกใช้อย่างเต็มที่ เพราะบางคนอยากตายดีที่บ้าน แต่บางคนกลับอยากตายที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะในครอบครัวผู้สูงอายุ การมีคนป่วยระยะสุดท้ายที่บ้านอาจดูแลไม่ไหว การทำงานจึงต้องเชื่อมกันระหว่าง โรงพยาบาลบ้าน และศูนย์ชีวาภิบาล
  4. Care Giver ได้รับเงินสนับสนุนดูแลผู้ป่วยน้อยจนไม่เพียงพอ และขาดความรู้ในการดูแลระยะท้าย
  5. แพทย์จบใหม่ก็ขาดความรู้เรื่องการดูแลแบบประคับประคอง

พร้อมกันนี้ทีมงานได้มีข้อเสนอ ได้แก่

  1. สธ.ควรมีนโยบายตั้งกลุ่มงานชีวาภิบาลโดยตรง ใน โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วไทย และกำหนดจำนวนคนชัดเจน (ไม่ใช่ระบบการยืมตัวแบบที่ผ่านมา) เพื่อให้มีหลักประกันว่างานนี้จะมีบุคลากรแบบ full-time ทำแน่นอน
  2. ควรพัฒนา nursing home ให้มีบริการที่มีคุณภาพ
  3. ควรบรรจุหลักสูตรการดูแลแบบประคับประคองในโรงเรียนแพทย์
  4. ควรผลักดันให้การวางแผนดูแลสุขภาพล่วงหน้า (Advance Care Plan) กลายเป็นวาระแห่งชาติ
  5. ปรับเงินเดือนให้ Care Giver ให้กลายเป็นอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง และมีศักยภาพในการทำงานตามมาตรฐาน
  6. มีการผลิตงานวิจัยที่ชี้ว่า การมีสถานชีวาภิบาลแล้วเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะท้ายสัมพันธ์ต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างไร เพื่อจูงใจให้ประเทศไทยจริงจังกับเรื่องนี้
  7. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และพม. ควรร่วมมือกัน ทั้งกำลังคน และการทำงาน

พญ.เดือนเพ็ญ ห่อรัตนาเรือง หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ประคับประคอง สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เสริมว่า นโยบายชีวาภิบาลไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยเสียทีเดียว เพราะไทยมีนโยบายเรื่องการดูแลแบบประคับประคองมาแล้วกว่า 10 ปี แต่เมื่อมีนโยบายชีวาภิบาล ทำให้เกิดสเกลการทำงานที่ใหญ่ขึ้น บูรณาการทั้ง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยระยะท้าย และผู้ป่วยประคับประคอง และเห็นด้วยกับการปรับโครงสร้างอัตรากำลังให้กับบุคลากร

พญ.เดือนเพ็ญ ห่อรัตนาเรือง
หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ประคับประคอง สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

“เรามีอัตรากำลังของบุคลากรในระบบการแพทย์ก็จริง แต่ไม่ได้มาจากโครงสร้างการทำงานที่ระบุว่าเป็นการทำงานแบบประคับประคองโดยตรง แปลว่า อาจต้องมีบุคลากรทางการแพทย์ที่ถูกเพิ่มภาระงาน  รัฐควรสนับสนุนอัตรากำลัง กรอบโครงสร้างงานที่ชัดเจน และเป็นระบบ”

ด้าน คณะทำงานกลุ่ม “สถานชีวาภิบาลในชุมชน” เช่น วัด และสถานบริการเอกชน สะท้อนปัญหาที่พบ ได้แก่

  1. ขาดความเข้าใจร่วมของคนกำหนดนโยบายกับคนทำงานจริง (คนทำนโยบายไม่เห็นหน้างาน)
  2. กังวลเรื่องความยั่งยืน เพราะนโยบายไม่ชัดเจน
  3. ไม่มีหน่วยงานภาครัฐไหนที่จะรับดูแลผู้ป่วยระยะท้าย

ข้อเสนอ

  1. ควรมีความยืดหยุ่นในการใช้งบประมาณ ทั้งค่าดูแล เครื่องมือ และค่าตอบแทนผู้ดูแลที่เหมาะสม
  2. สถานชีวาภิบาลมีมากมาย แต่ไม่มีใครรู้จริง ๆ ว่ากี่แห่ง ควรมีการสำรวจ ขึ้นทะเบียน 
  3. กรณี กุฏิชีวาภิบาล ควรเพิ่มศักยภาพ พระคิลานุปัฏฐาก หรือพระผู้ดูแล ให้ครอบคลุมได้ทุกมิติ กายใจ และพระธรรมวินัย

วรรณา จารุสมบูรณ์ ประธานกลุ่ม Peaceful Death ชี้ว่า กรณีของกุฏิชีวาภิบาลอาจตอบโจทย์นโยบายสถานชีวาภิบาลที่สุดเพราะมีโครงสร้างเป็นสถานที่อย่างเป็นรูปธรรม แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การมีแต่สถานที่ไม่เพียงพอ แต่ต้องการผู้เชี่ยวชาญ ระบบบริการ และงบประมาณในระยะยาวด้วย แต่ยังเป็นคำถามสำคัญว่ามีเพียงพอหรือไม่และนำมาจากส่วนไหน

“ตอนนี้วัดที่มีชื่อเสียง ไม่ขาดแคลนเพราะมีเงินบริจาค แต่วัดทั่วไปไม่ได้รับการสนับสนุน ก็ยังไม่รู้จะเอางบตรงไหน และไม่ใช่แค่ศาสนาพุทธ แต่ทั้งคริสต์ มุสลิม ว่าจะช่วยกันดูแลศาสนิกของตัวเองอย่างไร”

ด้าน คณะทำงานกลุ่ม “เครือข่ายดูแลบ้านชีวาภิบาล” ที่ประกอบด้วยสมาชิกจาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สะท้อนปัญหาที่พบ ได้แก่

  1. การถ่ายโอนอำนาจของ รพสต. ไปที่ อบจ. ทำให้มีงานเพิ่มขึ้น แต่ขาดคนทำงานและคุณภาพ และในบ้างพื้นที่ขาด Care Manager ไปเลยตลอดปี
  2. ควรมีระบบร้องเรียน เนื่องจาก เกิดปัญหา Care Giver ละเลยการดูแลคนไข้ ส่วนหนึ่งมาจากภาระงานในการทำเอกสารเพื่อเบิกเงิน
  3. มีงบประมาณจากกองทุนต่าง ๆ ที่ทับซ้อนกัน เช่น กองทุน Long Term Care และกองทุนคนพิการ ควรบูรณาการให้กองทุนเชื่อมกันให้เงินแต่ละกองทุนให้บริการผู้ป่วยทุกกลุ่ม และยืดหยุ่นให้คนในท้องถิ่นดูแลบริหารจัดการได้ อาจมีการใช้บัตรประชาชนใบเดียวเพื่อขอรับสิทธิ

รัชนี บุญเรืองศรี รองผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมืองและกลุ่มงานพันนาสุขภาวะผู้สูงอายุ กรมอนามัย ระบุว่า ปัญหาการถ่ายโอนอำนาจไปอบจ.และทำให้บุคลากรไม่เพียงพอเกิดจาก ผู้ปฏิบัติงานเลือกที่จะย้ายงาน จึงได้มีการจัดให้มีการอบรมท้องถิ่นเพิ่มเติมกว่า 7 พันคน

รัชนี บุญเรืองศรี
รองผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมืองและกลุ่มงานพันนาสุขภาวะผู้สูงอายุ กรมอนามัย

“เนื่องจากภาระงานที่หนัก เมื่อมีการโอนย้ายทำให้เจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งเลือกที่จะย้ายงานทำให้บุคลากรลดลง เราอบรมบุคลากรท้องถิ่นเพิ่มจำนวนมาก ไม่เพียงแต่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข แต่มีนักจิตวิทยา นักพัฒนาชุมชน ฯลฯ เพื่อแก้ปัญหาเบื้องต้น”

นอกจากนี้ยังมีการสร้างทักษะการออกแบบนโยบายให้แก่ผู้บริหารท้องถิ่น ได้แก่ สำนักงานท้องถิ่นจังหวัด ให้เรียนรุ้เรื่อง การดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง และดูแลแบบประคับประคองด้วย โดยกลุ่มนี้จะทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างนโยบายไปยังผู้ปฏิบัติการ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active