หลังร้านยาขนาดเล็กขอผ่อนผัน อ้างปัญหาเภสัชกรมีไม่เพียงพอ พร้อมชงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลเข้มงวด ตามประกาศ “วิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมฯ” ขณะที่ข้อมูลสภาเภสัชกรรม ชี้แต่ละปีจะมีเภสัชกรที่จบใหม่ 1,700 – 1,800 คน ยืนยันมากเพียงพอ
จากกรณีที่ ร้านขายยาขนาดเล็กร้องเรียนขอความเป็นธรรมยกเลิกการผ่อนผันตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดให้ร้านขายยาจะต้องมีเภสัชกรอยู่ประจำร้าน และเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2565 โดยอ้างว่าปัญหาคือจำนวนเภสัชกรไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ประกอบการร้านขายยาไม่สามารถดำเนินการตามระเบียบดังกล่าวได้นั้น
วันนี้ (27 ตุลาคม 2565) ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานอนุกรรมการด้านอาหารยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า การบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การกำหนดเกี่ยวกับสถานที่ อุปกรณ์ และวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชนในสถานที่ขายยาแผนปัจจุบันตามกฎหมายว่าด้วยยา พ.ศ. 2557 อย่างเข้มงวด จะทำให้ผู้บริโภคได้รับบริการด้านยาอย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ส่งความเห็นและข้อเรียกร้องถึงกระทรวงสาธารณสุข สภาเภสัชกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยย้ำว่า ผู้บริโภคต้องได้รับความปลอดภัยจากการใช้ยา เรียกร้องร้านยาให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมเสนอให้รัฐเร่งกวดขันให้เภสัชกรอยู่ทำหน้าที่ตามกฎหมายอย่างแท้จริงและกำหนดนโยบายส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล
“ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ดังกล่าวถูกประกาศใช้ตั้งแต่ 30 กันยายน 2557 แต่มีการผ่อนผันเป็นระยะเวลา 8 ปีสำหรับร้านยาที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ก่อนมีประกาศ เพื่อให้เวลาเตรียมตัวและปรับตัว ดังนั้นเมื่อครบตามกำหนดผ่อนผันแล้ว ก็ควรบังคับใช้ประกาศดังกล่าวอย่างเข้มงวดเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับแนะนำในการใช้ยาที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นมาตรฐานเดียวกัน”
ประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ระบุ
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสภาเภสัชกรรม ปัจจุบันมีเภสัชกรมากกว่า 45,000 คนกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยในแต่ละปีจะมีเภสัชกรที่จบการศึกษาจาก 19 สถาบันถึงปีละ 1,700 – 1,800 คน จึงเป็นข้อยืนยันว่ามีเภสัชกรเพียงพอ
สำหรับความเห็นและข้อเรียกร้อง ที่สภาองค์กรของผู้บริโภคส่งไปถึงกระทรวงสาธารณสุข และสภาเภสัชกรรม และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มี 4 ข้อ ดังนี้
1) ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคจากการใช้ยาเป็นสำคัญ ทั้งการส่งมอบยา การแนะนำ และการติดตามผลจากการใช้ยา ดังนั้น จึงไม่ควรปล่อยให้มีการส่งมอบยาโดยผู้ที่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยา เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงกับผู้บริโภค
2) ขอให้หน่วยงานภาครัฐเร่งดำเนินการให้ร้านยาเป็นแหล่งกระจายยาอย่างเหมาะสม รวมทั้งพัฒนาให้เป็นสถานบริการด้านยาในชุมชน เชื่อมร้อยกับระบบประกันสุขภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลของรัฐบาล
3) ขอให้แสดงความจริงจังในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยทางด้านยา โดยเร่งกวดขันให้เภสัชกรอยู่ทำหน้าที่ตามกฎหมายอย่างแท้จริง
4) เรียกร้องร้านยาให้ความสำคัญกับคุ้มครองผู้บริโภค โดยดำเนินการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การกำหนดเกี่ยวกับสถานที่ อุปกรณ์ และวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชนในสถานที่ขายยาแผนปัจจุบันตามกฎหมายว่าด้วยยา พ.ศ. 2557 ที่กำหนดให้ร้านขายยาจะต้องมีเภสัชกรอยู่ประจำร้าน เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับบริการด้านยาอย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน