นักศึกษาไทยเกือบ 1 ใน 3 เครียดสูง เสี่ยงฆ่าตัวตายเพิ่ม !

เหตุพฤติกรรมเสี่ยงรอบด้าน กระตุ้นจิตตกซึมเศร้า ไบโพลาร์ พุ่ง 40%  เครือข่ายการศึกษา พัฒนานวัตกรรม “เพื่อนช่วยเพื่อน Health-me Buddy” ระบบฐานข้อมูล เฝ้าระวัง สร้างสุขภาวะเชิงรุกในรั้วมหาวิทยาลัย

วันนี้ (30 พ.ย. 2565) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยข้อมูล โรคซึมเศร้าโดยองค์การอนามัยโลก ซึ่งพบว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 พบคนทั่วโลกเป็นโรคซึมเศร้า 300 ล้านคน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสถิติการฆ่าตัวตายเฉลี่ย 6 คนต่อประชากร 1 แสนคน สูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากยุโรป  อีกทั้งช่วงวิกฤตโควิดยิ่งทำให้มีแนวโน้มความเครียดสะสมสูงขึ้น อว. สานพลัง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมครั้งนี้ เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย 15 แห่ง ขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาวะที่ดีตามบริบทมหาวิทยาลัยอย่างเป็นรูปธรรมช่วยบรรเทาปัญหาด้านสุขภาพจิตในกลุ่มเสี่ยง

พงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สสส.) กล่าวว่า ในวัยเรียนระดับมหาวิทยาลัย ที่กำลังจะเข้าสู่วัยทำงาน หากขาดการจัดการความสมดุลระหว่างชีวิตประจำวันและการเรียน มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ สาเหตุนำไปสู่ความเครียดสะสม ซึมเศร้าหากไม่ได้รับการฟื้นฟูจิตใจที่เหมาะสม อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว เสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องเร่งสานพลังความร่วมมือขับเคลื่อน 2 แนวทาง 

  1. ระบบฐานข้อมูลสถานการณ์ด้านสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในไทย 
  2. แนวทางเฝ้าระวังหรือป้องกันแบบเชิงรุก พัฒนานวัตกรรมกลไกเพื่อนช่วยเพื่อน (Health-me Buddy) ที่ผ่านการอบรมจากผู้เชี่ยวชาญด้านร่างกายและจิตวิทยา มุ่งผลักดันนโยบายสุขภาวะในระดับอุดมศึกษาไทยให้เกิดเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การเป็นสถานศึกษาต้นแบบองค์กรสุขภาวะ

ศิริเชษฐ์ สังขะมาน ที่ปรึกษาโครงการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลสำรวจ 7 พฤติกรรมสุขภาพของนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรี 9,050 คน จากมหาวิทยาลัย 15 แห่งทั่วประเทศ

  1. พฤติกรรมเนือยนิ่งและการบริโภคอาหารไม่เหมาะสม 1 ใน 4 คน เผชิญกับภาวะผอมและมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ 
  2. พฤติกรรมการใช้ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบสูบบุหรี่ภายในมหาวิทยาลัย 40% ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ่อยครั้ง 9% ขับขี่ยานพาหนะขณะมึนเมา 15%
  3. พฤติกรรมทางเพศใช้ถุงยางอนามัย 46.6% ไม่ป้องกัน 5%
  4. ภาระทางการเงิน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ 40% มีภาระหนี้สินค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ค่าที่พักอาศัย 
  5. ความรุนแรงและการล่วงละเมิด พบนักศึกษาที่เคยโดนทำร้ายจิตใจ10% อยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีสัดส่วนสูงสุด 
  6. ปัจจัยที่มีผลต่อการเรียน พบความเครียดสูงสุดถึง ร้อยละ 20% รองลงมาคือ ปัญหาทางการเงิน 11.5% ความรู้สึกวิตกกังวล 10.7% คิดถึงบ้าน 9.3% ปัญหาการนอนหลับ 7.9% ไม่มีสมาธิ ร้อยละ 7.7% เสพติดสื่อสังคมออนไลน์และเกม 5%
  7. ประเด็นสุขภาพจิต รู้สึกซึมเศร้าบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา 30% ในจำนวนนี้เป็นโรคไบโพลาร์ 40% โรคซึมเศร้า 4.3% ที่น่ากังวลคือ คิดฆ่าตัวตายบ่อยครั้ง 4% ลงมือทำร้ายร่างกายแล้ว12% ลงมือทำร้ายร่างกายตนเองบ่อยครั้งถึงตลอดเวลาถึง 1.3% 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active