หลังจากไม่พบผู้ป่วยโรคนี้มานานหลายปี คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ สั่งเตรียมพร้อมรับมือ ย้ำเร่งรัดให้วัคซีนโปลิโอในเด็กอย่างครอบคลุม พร้อมแต่งตั้งอนุกรรมการขับเคลื่อนการกวาดล้างโรคโปลิโอ หัดและหัดเยอรมัน
วานนี้ 21 ธันวาคม 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจาก อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธาาณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 10/2565 โดยมี นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และกรรมการโรคติดต่อจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
โดยขณะนี้เริ่มมีรายงานพบผู้ป่วยโรคโปลิโอ ซึ่งทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกเฉียบพลันในหลายประเทศ หลังจากไม่พบผู้ป่วยโรคนี้มาเป็นระยะเวลานานหลายปี ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขกำลังจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพราะเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังลำดับที่ 21 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558
ทั้งนี้ มีรายงานพบผู้ป่วยโปลิโอสายพันธุ์ธรรมชาติ จำนวน 30 คน ในปากีสถานอัฟกานิสถาน และโมซัมบิก และผู้ป่วยโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนกลายพันธุ์ จำนวน 577 คนใน 22 ประเทศ รวมถึงอินโดนีเซียที่พบผู้ป่วย 4 คนทำให้ประเทศไทยต้องเร่งรัดการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ แม้ว่าเราจะไม่มีผู้ป่วยโรคโปลิโอมานานกว่า 25 ปีแล้ว โดยรายสุดท้ายคือในปี 2540
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าการประชุมในวันนี้ได้พิจารณาและเห็นชอบ 3 เรื่อง คือ 1. ข้อเสนอมาตรการเร่งรัดการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศไทย เมื่อมีความเสี่ยงจากการระบาดของโรคโปลิโอในต่างประเทศ ให้ทุกจังหวัดเร่งรัดความครอบคลุมการได้รับวัคซีนในเด็ก ประชาสัมพันธ์ฉีดกระตุ้น ประเมินความเสี่ยง ซักซ้อมแผน รณรงค์การให้วัคซีนเสริมในพื้นที่เสี่ยงและผลักดันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาวัคซีนดำเนินการจัดหาวัคซีน IPV
2. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการกวาดล้างโรคโปลิโอ การกำจัดโรคหัดและหัดเยอรมัน ระดับชาติ เพื่อให้การดำเนินงานกวาดล้างโปลิโอของไทยมีความเข้มแข็ง รวมถึงการกำจัดโรคหัดและหัดเยอรมัน และต้องมีการขับเคลื่อนมาตรการอย่างต่อเนื่อง และ 3. เห็นชอบการยกเว้นการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรณีโรคโควิด-19 ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2566