เลขาธิการ สปสช.” หารือ “ผู้ว่าฯ กทม.” พร้อมให้หน่วยบริการสังกัด กทม. บริการส่งเสริมป้องกันโรคประชาชนนอกสิทธิบัตรทอง ระหว่างรอความชัดเจนข้อกฎหมาย ม. 5, 9 และ 10 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ
วันนี้ (29 ธ.ค. 2565) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การเพิ่มศักยภาพศูนย์บริการสาธารณสุข ถือเป็นนโยบายที่สำคัญ โดยหลายแห่งมีสภาพทรุดโทรม จึงมีโครงการปรับปรุง และสร้างใหม่หลายแห่ง ในงบประมาณปีนี้และปีถัดไป ให้อยู่ในสภาพที่พร้อม
“ถึงเวลาที่ต้องลงทุนครั้งใหญ่กับระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ ที่ผ่านมา กทม.ลงทุนกับระบบต่าง ๆ มากมาย ทั้งป้องกันน้ำท่วม ระบบคมนาคมขนส่ง แต่ระบบที่มีผลต่อความเหลื่อมล้ำคุณภาพชีวิตคือระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ โดยให้นโยบายเตรียมปรับปรุงทั้งหมดรวมถึงศูนย์ย่อยด้วย”
ชัชชาติ กล่าว
สำนักอนามัยถือเป็นสำนักที่สำคัญทำให้ระบบการแพทย์ปฐมภูมิสู่ชุมชน โดยดูแลศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ศูนย์ย่อย 71 แห่ง ปัญหาคือยังมีอัตราที่บรรจุไม่ครบ ทั้งข้าราชการ ลูกจ้าง แต่ติดกรอบเรื่องค่าใช้จ่ายบุคคลากรที่ต้องไม่เกิน 40% ของงบประมาณประจำปี ทำให้ต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยกำกับดูแลให้มากขึ้น หลายครั้งประชาชนไม่สามารถเดินทางมาที่ศูนย์สาธารณสุขได้ ก็ให้นำระบบTelemedicine มาใช้เพื่อเชื่อมโยงผู้ป่วยกับแพทย์ที่ประจำอยู่ที่ศูนย์สาธารสุข หรือโรงพยาบาลได้ ซึ่งมีผู้ใช้งานแล้วกว่า 40,000 ครั้ง
ส่วนการดูแลผู้สูงอายุ จะจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุให้มากขึ้น ให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมร่วมกัน ไม่ให้ติดบ้านติดเตียง ให้มาติดเพื่อนแทน เพราะกรุงเทพฯ ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มที่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีแล้ว 222 แห่ง ต้องเพิ่มจำนวนชมรม และเพิ่มสมาชิกเข้าไป เพื่อให้ กทม.ดูแลผู้สูงอายุในเชิง Active มากขึ้น พร้อมกับขยายเตียงไปยังชุมชนให้มากขึ้น โดยให้ผู้ป่วยติดเตียงอยู่บ้าน เป็นส่วนหนึ่งของระบบสาธารณสุข โดยมีโครงการโรงพยาบาลหมื่นเตียง ซึ่งมีอยู่ในระบบกว่า 13,000 เตียง จึงต้องเพิ่มผู้ดูแล หรือ Caregiver โดยให้สำนักอนามัยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฝึกอาชีพการเป็นผู้ดูแลให้มากขึ้น
ชัชชาติ กล่าวอีกว่า ปัญหาที่ได้รับแจ้งจากทราฟฟี่ฟองดูว์ที่เกี่ยวข้องกับสำนักอนามัยมากที่สุด คือเรื่อง สุนัขแมวจรจัด การให้อาหารนกพิราบ จึงเร่งดำเนินการทำหมันสุนัขและแมวจรจัด โดยปีนี้ตั้งเป้าทำหมัน 20,000 ตัว โดยมีเครือข่ายภาคเอกชนมาร่วมด้วย อีกทั้งยังได้ปรับปรุงศูนย์เก็บสุนัขจรจัดเขตประเวศ ส่วนโรคพิษสุนัขบ้านั้นปลอดโรคมาแล้ว 7 ปี
“สำนักอนามัยเป็นหน่วยงานหลักที่จะเห็นการนำงบประมาณมาลงให้เพิ่มมากขึ้นเพราะคือหัวใจที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยมีโรงพยาบาล ของสำนักการแพทย์เป็นยานแม่”
ชัชชาติ กล่าว
สปสช. หารือ ผู้ว่าฯ กทม. สร้างเสริมสุขภาพแนวทางเดียวกับ สธ.
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ในช่วงระหว่างรอความชัดเจนในข้อกฎหมายตามมาตรา 5, 9 และ 10 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในการเข้ารับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของประชาชนผู้ที่ไม่ใช่สิทธิบัตรทองนั้น เบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะจัดบริการให้ครอบคลุมทุกคนในส่วนที่ สธ. รับผิดชอบ และ สปสช. จะดำเนินการประสานกับหน่วยบริการสังกัดอื่นนอก สธ. เพื่อให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคครอบคลุมทุกคนในส่วนที่หน่วยบริการรับชอบเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในการดูแลคนไทยให้เข้าถึงบริการ
เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ล่าสุดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนและผู้บริหารสปสช. ได้นำประเด็นนี้เข้าหารือกับ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อดูแลคน กทม. ที่ไม่ใช่สิทธิบัตรทองให้ได้รับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง โดย ผู้ว่า กทม. ได้เห็นชอบให้โรงพยาบาลและหน่วยบริการในสังกัดกรุงเทพมหานคร ดำเนินการแนวทางเดียวกับ สธ. ที่ให้โรงพยาบาลจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคครอบคลุมทุกคนในส่วนที่หน่วยบริการรับผิดชอบเช่นกัน
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า การดำเนินการนี้เป็นไปตามมติที่ประชุมบอร์ด สปสช. โดยเห็นชอบประกาศหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนฯปีงบประมาณ 2566 ที่ให้ชะลอการจัดสรรงบประมาณค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ค่าบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เฉพาะส่วนประชาชนนอกสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วงเงิน5,146.05 ล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะจัดบริการให้ครอบคลุมทุกคนในส่วนที่กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบ และ สปสช. จะดำเนินการให้หน่วยบริการอื่นนอกกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเช่นเดียวกัน โดยไม่ให้มีช่องว่าง ซึ่งเป็นการดูแลประชาชนในการรับบริการต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนมั่นใจ